โรคของหอม กระเทียม และการป้องกันกำจัด

โรคของหอม กระเทียม และการป้องกันกำจัด

โดย  ดร.นุชนารถ  จงเลขา

โรคใบไหม้หรือโรคราสีม่วง (leaf blight or purple blotch)

อาการใบไหม้ของหอมและกระเทียมอาจจะมีผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อนจัด ดินขาดความชื้นเมื่อพืชคายน้ำสูง  ในขณะที่แดดร้อนพืชจะหายใจเร็ว และคายน้ำสูง  ถ้าน้ำในดินมีพอ  รากปกติสามารถดูดน้ำส่งไปเลี้ยงลำต้นได้พอ  ปัญหาการเกิดใบไหม้จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าดินขาดน้ำหรือรากไม่ปกติ รากน้อย ดินแน่นแข็ง การระบายน้ำอาหารส่งเลี้ยงลำต้นได้ไม่พอเพียง อาการใบไหม้จะเกิดขึ้น อาการใบไหม้แบบนี้ จะปรากฎอาการที่ปลายใบเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนที่ไม้จะแห้งผิวเรียบ ไม่ปรากฎร่องรอยของแผล และไม่ปรากฎสปอร์บนส่วนที่ไหม้แห้ง  แต่ถ้าอากาศชื้นหมอกลงเสมอในตอนเช้า กลางคืนน้ำค้างลงจัดอาจพบส่วนที่ไหม้มีเขม่าของสปอร์ของราเกาะอยู่  ราเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรค เป็นราที่ขึ้นกินเนื้อเยื่อของใบที่ตายแล้วเท่านั้น หรือเรียกราพวกนี้ว่า แซฟโพรไฟ้ท์ (saprophyte)

อาการไหม้ที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขด้วย การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ คลุมผิวดินด้วยฟางข้าวต้องหนาพอที่จะรักษาความชื้นของดินได้ดี  การพ่นน้ำเป็นฝอยโดยใช้ระบบพ่นฝอย จะช่วยแก้ไขปัญหาได้แต่ต้องดูความพร้อม และต้นทุนที่จะลงไป  การป้องกันควรจะทำตั้งแต่เตรียมดิน การปลูกหอมกระเทียมควรเตรียมดินให้โปร่ง  ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพลงไปดินจะดี ผู้เขียนได้พบเห็นเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยดังกล่าวรองพื้นโดยจะใส่ปูนขาว ปูนมาล หรือปูนโดโลไมท์ลงไปด้วย  รวมทั้งใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 ลงไปเพื่อเป็นปุ๋ยรองพื้น  และเพิ่มการใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าวอีก 1-2 ครั้ง หอม กระเทียมเจริญเติบโตดีมาก ให้ผลผลิตสูง และไม่มีปัญหาจากอาการใบไหม้ดังกล่าว

อาการใบไหม้ที่เริ่มจากแผลที่เป็นโรค จะเป็นจุดสีเทาและเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นรูปรี ขอบแผลเป็นสีม่วง กลางแผลเป็นสีน้ำตาล รอบแผลมีสีฟางข้าวล้อมรอบ และปรากฎมีสปอร์เป็นผงสีดำเกาะอยู่ ในหอมหัวใหญ่หอมแดงอาการดังกล่าวจะชัดเจนมาก แต่ในกระเทียมอาจจะมีสีม่วงเห็นชัดเจนบ้างในบางแผล บางครั้งอาจเห็นเป็นแผลสีน้ำตาล เมื่อแผลหลายแผลขยายต่อกันทำให้เกิดอาการไหม้  โรคนี้เกิดจากเชื้อราในสกุลออลเทอนาเรีย (Alternaria) ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์ว่า ออลเทอนาเรียพอร์ไร (Alternaria porri) โรคนี้นับเป็นโรคที่สำคัญจะเกิดเป็นประจำกับหอม  ซึ่งหมายถึงหอมทุกชนิดรวมทั้งหอมญี่ปุ่น และกระเทียม  ซึ่งรวมทั้งกระเทียมต้น (leck) ด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคนี้ตอนที่เริ่มเป็น คือช่วงที่เป็นแผลสีเทา ๆ เป็นจุดกระจาย ช่วงนี้มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นราน้ำค้างซึ่งไม่ใช่ จึงอยากจะขอทำความเข้าใจว่าตั้งแต่ตรวจสอบโรคของหอมและกระเทียมที่ผ่านมาในเขตใกล้เคียง คือ แถวสันป่าตอง สันทราย ป่าซาง ไม่เคยปรากฎมีโรคราน้ำค้าง สำหรับอาการของโรคราน้ำค้างนั้น จะต่างจากโรคใบไหม้โดยสิ้นเชิง แผลที่เกิดขึ้นขั้นแรกจะคล้ายกับอาการใบไหม้ คือปรากฎเป็นแผลที่ซีดออกเหลือง  และจะมีเส้นใยและสปอร์ของราเกาะเป็นสีขาว เมื่ออากาศแห้งแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาล อย่างไรก็ดีราสาเหตุของโรคทั้งสอง มีความเหมือนกันในเรื่องของสภาวะที่เหมาะสมต่อการระบาด คือชอบอากาศเย็นชื้น ในสภาวะดังกล่าวเชื้อโรคจะสามารถเจริญได้ดี  และสร้างสปอร์ได้มาก แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องกำเนิดและลักษณะของรา ราออลเทอนาเรียเป็นราชั้นสูง  ซึ่งหมายถึงมีวิวัฒนาการสูงกว่า ส่วนราเพอโรโนสะพอร่า (Peronospora destructor) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคราน้ำค้าง เป็นราชั้นต่ำ การใช้สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดโรคทั้งสองจึงต่างกันอยู่บ้าง สารเคมีที่แนะนำให้กับโรคราสีม่วงหรือโรคใบไหม้ของหอมกระเทียม เป็นสารในกลุ่มของซิเนบ (zineb) แมนโคเซ็บ (mancozeb) คลอโรธาโลนิล (chlorothalonil) ถ้ามีการระบาดมาก ให้ใช้สารประเภทไอโปรไดโอน (iprodione) สำหรับสารที่แนะนำให้นี้  หากมีราน้ำค้างเกิดขึ้นก็จะได้ผลในการป้องกันพอสมควร

เนื่องจากโรคราสีม่วงเป็นโรคที่เกิดเป็นประจำ จึงอยากจะขอเล่าให้ฟังถึงผลงานที่เคยทดสอบมาให้กระจ่างว่า การควบคุมโรคนี้ให้ได้ผลนั้น  จะต้องขึ้นกับหลายวิธีการ สารฆ่าเชื้อโรคที่ดีอย่างเดียวไม่อาจควบคุมโรคได้ผลถึง 100 เปอร์เซ็นต์ วิธีการที่จะให้ได้ผลดีในการป้องกันกำจัดโรคมีดังนี้ 1.  การเตรียมดินให้ดี ต้นพืชจึงจะเจริญเติบโตดี 2.  อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรกรุงรัง  3.  เมื่อพืชเริ่มลงหัว หรือสังเกตุดูว่าเมื่ออากาศเริ่มหนาวเย็น น้ำค้างลง ให้พ่นสารเคมีที่แนะนำไว้ทันที ควรใช้สารจับใบด้วย เพราะใบพืชมีไขเคลือบทำให้สารเกาะติดยาก 4.  หมั่นตรวจสอบแปลงปลูก ระวังเรื่องศัตรูอื่น หากเพลี้ยไฟ และไรลงรบกวนให้พ่นสารในกลุ่มของโมโนโครโตฟอสทันที  เพราะเมื่อพืชถูกรบกวน  พืชจะอ่อนแอต่อโรค 5.  การให้ปุ๋ย  ให้น้ำ บำรุงพืชอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรงต่อต้านเชื้อโรคได้

โรคแอนแทรคโนส (anthracnose)

โรคแอนแทรคโนสพบเกิดกับหอมและกระเทียม โรคนี้ไม่เกิดประจำ อาจจะมีการระบาดนาน ๆ ครั้ง  เมื่อระบาดหนักกับหอมชาวบ้านเรียกโรคหอมเลื้อย ลักษณะอาการของโรคนี้ ให้สังเกตดูแผลที่เกิดขึ้น แผลจะมีขนาดใหญ่ลุกลามไปตามความยาวของใบ อาจจะเกิดบริเวณโคนใบที่ติดกับลำต้น  หรือเกิดส่วนใดส่วนหนึ่งของใบแผลเป็นสีน้ำตาลอ่อน บริเวณแผลจะมีราออกสีชมพูอมส้ม และมีโครงสร้างสีดำเป็นจุดปรากฎเรียงเป็นวงซ้อนกันบริเวณแผล แผลเก่าอาจจะแห้งฉีกขาด ใบพืชจะไม่ตั้งตรงจะเอนล้ม ทำให้ดูเหมือนเลื้อย  โรคนี้เกิดจากเชื้อราในสกุลคอลเลทโททริคั่ม (Colletotrichum sp.)

สำหรับการป้องกันกำจัดโรคนี้ขอให้ดูวิธีการในเรื่องของการควบคุมโรคราสีม่วง  แต่จะของเพิ่มเติมในเรื่องของสารเคมี  การใช้สารเคมีที่แนะนำไว้แล้วสามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้เช่นกัน แต่สารเคมีประเภทโปรปิเนบ (propineb) เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ให้ผลดีในการควบคุมทั้งโรคราสีม่วง ราน้ำค้าง และโรคแอนแทรคโนส สำหรับกรณีที่โรคระบาดหนักขอแนะนำสารประเภทไตรโฟรีน (triforine) ที่ควรจะได้ผลดีอีกชนิดหนึ่ง

โรคเน่าเละ (soft rot)

โรคเน่าเละพบเสมอกับแปลงปลูกหอมหัวใหญ่ และที่น่าเป็นห่วงก็คือเชื้อนี้สะสมอยู่ในดิน และสามารถทำลายพืชผักพืชไร่ได้หลายชนิด อาการที่พบคืออาการเน่าปรากฎขึ้นบริเวณหัวและราก และลุกลามขึ้นไปภายในลำต้นจนถึงยอดเมื่อภายในเน่าและเป็นเมือก อาการที่เห็นชัดภายนอกคือใบซีด และเหี่ยว เห็นบริเวณช้ำที่โคนต้น และที่บริเวณโคนของใบยอด สาเหตุของโรคคือเชื้อแบคทีเรียชื่อ เออร์วิเนีย คาโรโทโวร่า (Erwinia carotovora) เชื้อโรคนี้ทำให้หัวมันฝรั่ง พืชหัวหลายชนิดเน่า  พืชผักที่มีการเน่าเหม็นมักจะเกิดจากแบคทีเรียชนิดนี้ทั้งสิ้น  นอกจากนี้เชื้อนี้ยังสามารถเข้าร่วมทำลายพืชเมื่อมีศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายก่อน  ดังนั้นจึงพบเชื้อนี้มีสะสมอยู่ในดิน  และเข้าทำลายพืชได้ตลอดเวลา

การป้องกันและกำจัดโรคนี้  วิธีการที่ดีคือการป้องกันไว้ก่อนด้วยการเตรียมดินปลูกพืชให้มีลักษณะโปร่ง  มีการระบายอากาศดี มีอินทรีย์วัตถุสูง หรือหากจะพูดง่าย ๆ ก็คือการใส่ปุ๋ยหมักที่เตรียมจากฟางข้าวหรือหญ้าแห้งกับมูลสัตว์ลงไปมาก ๆ หากพบการระบาดของโรค ควรขุดต้นที่แสดงอาการเน่าออก อย่าให้ดินร่วงหล่นกระจายไปตามพื้น  นำออกนอกแปลงปลูก นำไปฝังลึก ๆ หรือทำลายเสีย อย่าถอนต้นแล้วทิ้งลงในร่องน้ำ หรือแหล่งน้ำเป็นอันขาด เพราะนั่นเป็นวิธีการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างดีที่สุด

สำหรับการใช้สารเคมีเพื่อระงับการระบาด  หากมีความจำเป็นสามารถทำได้โดยใช้สารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ คอปเปอร์ซัลเฟต หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์  และคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์  ราดหรือพ่นบริเวณโคนต้นและหลุมที่ขุดเอาพืชที่เน่าเละออกไป

โรคเหลืองแคระแกรนเกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม (root knot)

โรคนี้เป็นโรคที่ควรให้ความสนใจให้มาก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจตรวจดูอาการผิดปกติ ที่เกิดในส่วนที่มองไม่เห็น จึงอยากจะขอเรียนแนะนำให้เกษตรกรได้สนใจ ตรวจพืชให้ละเอียดเมื่อพืชที่ปลูกแสดงอาการใบไหม้บริเวณยอด ใบซีดเหลือง อาการเหี่ยว อาการแคระแกรน อาการเหล่านี้มักจะมีผลมาจากความผิดปกติที่เกิดกับราก ดังนั้นหากพบอาการดังกล่าวควรถอนดู แต่ก่อนถอนควรรดน้ำบริเวณนั้นให้เปียกอย่าให้รากขาด จะได้ตรวจสอบได้ง่าย แต่ถ้าดินร่วนและเปียกอยู่แล้วก็ถอนดูได้เลย

อาการรากปมเกิดกับพืชได้เกือบทุกชนิด  ในหอมและกระเทียมพบการทำลายรากโดยไส้เดือนฝอยรากปมเช่นกัน อาการที่พบคือต้นมีอาการแคระแกรน ใบเหลือง และปลายใบไหม้ เมื่อขุดดูจะพบรากมีอาการบวม ตรวจสอบเนื้อเยื่อบริเวณรากที่บวมด้วยการตัดเป็นชิ้นบาง ๆ ด้วยมีดโกน ทำการย้อมสีแล้ววางบนแผ่นแก้ว  ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบไส้เดือนฝอยตัวเมียอยู่ในเซลล์ของพืช ซึ่งเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ผิดปกติ

การกำจัดไส้เดือนฝอยขณะที่เข้าไปในพืชแล้วทำได้ยาก  แต่มีวิธีการระงับการระบาด  โดยการใช้สารออกซามิล (oxamyl) ฉีดพ่นและราดลงดิน ทั้งนี้ควรใช้ในช่วงก่อนเก็บผล 2 สัปดาห์ หากพบการระบาดใกล้เก็บเกี่ยวไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตขณะโรคนี้ระบาด และพบการระบาดในช่วงแรก ๆ หรือระยะเริ่มสร้างหัว ควรใช้สารเคมีดังกล่าว พร้อม ๆ กับการให้ปุ๋ยทางใบ เนื่องจากรากทำงานไม่ได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยทางใบช่วยอย่างสม่ำเสมอ

ที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อแนะนำอย่างย่อ ๆ ตามที่เคยพบเห็นปัญหามา ความจริงทั้งหอมและกระเทียมอาจจะมีโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า เช่น โรคที่เกิดจากไวรัส  ซึ่งจะทำให้กระเทียมเกิดอาการผิดปกติ ใบด่าง ไม่สร้างหัว หรือสร้างหัวขนาดเล็กผิดปกติ  และโรคไวรัสสามารถติดมากับหัวพันธุ์ได้ จึงควรเลือกหัวพันธุ์(เชื้อพันธุ์) จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคไวรัสระบาด สำหรับหอมหัวใหญ่ อาจจะพบอาการสมัดจ์และโรคอื่น ๆ ดังนั้นการปลูกพืชหากยึดหลักไว้ 5 ประการก็ย่อมจะช่วยให้โรคน้อยลง คือ

1.  ใช้หัวพันธุ์ดีปลอดโรค

2.  เตรียมดินให้ดี ให้ดินร่วนไม่แน่นแข็ง

3.  ไม่ปลูกพืชในที่ที่เคยมีโรคระบาด

4.  หมั่นดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย อย่าให้วัชพืชรกรุงรัง และ

5.  ฉีดพ่นสารเคมีควบคุมโรคและศัตรูเมื่อเกิดระบาด