โรคของหอม-กระเทียม

(diseases of Allium spp.)

หอมกระเทียมเป็นผักที่อยู่ใน Family Amarylliaceae Genus Allium มีอยู่หลายชนิดที่นิยมปลูก และใช้บริโภคได้ เช่น หอมต้นหรือหอมแบ่ง (shallot-Allium ascalonicum) หอมหัวใหญ่ (onion-Allium cepa) หอมแดงหรือหอมหัว (multiplier onion-Allium cepa var. aggregatum) กระเทียมหัว (garlic-Allium sativum)กระเทียมใบ (leek- Allium porrum) และกุ๊ยฉ่าย (chives-Allium schoenoprasum) ผักในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แม้จะเป็นผักที่ใช้ประกอบและปรุงแต่งรสอาหารเช่นเดียวกับคึ่นฉ่ายและพริก แต่ก็มีปริมาณการใช้ที่ค่อนข้างมากและมีราคาสูงเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น จึงมีผู้นิยมปลูกและผลิตเป็น

จำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะหอมแบ่งและหอมแดง เป็นผักที่จัดอยู่ในประเภทพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งของคนไทย ซึ่งบริโภคกันเกือบจะทุกครัวเรือนส่วนกระเทียมนั้นยิ่งในปัจจุบันพบว่าเป็นสมุนไพรมีคุณค่าทั้งทางอาหารและทางยาสูงจึงยิ่งทำใหัมีผู้นิยมบริโภคมากขึ้น แม้จะมีการปลูกกันเป็นจำนวนมากแล้วยังไม่พอต่อความต้องการ ทำให้ต้องมีการนำและสั่งเข้าจากต่าง ประเทศอีกเป็นจำนวนมากเสมอในแต่ละปี อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกันผักชนิดอื่นพวกนี้ก็มีโรคและศัตรูที่สำคัญหลายชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นจำนวนมากเสมอ ดังจะได้กล่าวต่อไป

โรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรียของหอมหัวใหญ่ (bacterial soft rot of onion)

โรคเน่าเละส่วนใหญ่จะพบและก่อให้เกิดความเสียหายเฉพาะในหอมหัวใหญ่ ทั้งขณะที่ยังปลูกอยู่ในแปลงและหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เป็นโรคที่บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมและไม่ได้รับการป้องกันกำจัดที่ดีพอ

อาการโรค

ขณะที่ยังอยู่ในแปลงปลูก การเกิดโรคมักจะเริ่มขึ้นในระยะที่พืซลงหัวโตเต็มที่ใกล้เก็บเกี่ยวได้แล้ว การเข้าทำลายของเชื้อมักจะเริ่มตรงส่วนคอหรือโคนต้น โดยผ่านทางแผลที่ใบแก่ที่เหี่ยวหรือหักพับ จากนั้นเชื้อก็จะเจริญเติบโตเคลื่อนลงมายังกาบ (scale) ของหัวที่ต่อเชื่อมกับใบหรือลึกเข้าไปภายในต้นก่อให้เกิดอาการแผลเน่าขยายลุกลามกว้างขวางออกไป มองดูภายนอกแผลจะมีลักษณะช้ำ เป็นสีน้ำตาลหรือเทาอ่อนๆ เมื่อเอามือจับหรือกดดูจะรู้สึกอ่อนนิ่ม พร้อมกับจะมีน้ำเหลวๆ ซึมออกมาจากแผลดังกล่าว เชื้ออาจจะเข้าทำลายโดยตรงที่ส่วนของหัวหอมขณะเก็บเกี่ยว โดยผ่านทางแผลรอยช้ำ และหากนำไปเก็บไว้ในที่อับชื้นอุณหภูมิสูงก็จะก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นกับกาบของหัวหอมชั้นนอกๆ ที่ถูกเชื้อเข้าไปในตอนแรก และถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ในที่สุดอาจจะเน่าเสียหมดทั้งหัว อาการเน่าเละของหอมที่เกิดจากเชื้อ E. carotovora ปกติจะมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัวเช่นเดียวกับเน่าเละในผักชนิดอื่นๆ แต่บางครั้งอาจมีกลิ่นฉุนคล้ายกำมะถันหรือกลิ่นเปรี้ยว คล้ายกรดนํ้าส้มเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้เนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นเข้าไปช่วยทำลายต่อทำให้กาบที่เรียงซ้อนเป็นชั้นๆ ของหัวหอมที่เน่าจะล่อนลื่นหลุดออกมาได้โดยง่าย เมื่อไปจับต้องหรือสัมผัสเข้า

เชื้อสาเหตุโรค

ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเชื้อ Erwinia carotovora ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดเดียวกันกับที่ก่อโรคเน่าเละในผักอื่นๆ นอกจากนั้นยังพบว่ามีPseudomonas alliicola และ Pseudomonas cepacia อีกสองชนิดที่ก่อให้เกิดอาการเน่าในลักษณะคล้ายๆ กัน หรือร่วมเข้าทำลายอยู่ด้วย โดยทำให้เกิดกลิ่นคล้ายกำมะถัน และกลิ่นเปรี้ยวคล้ายกรดน้ำส้ม หรือก่อให้เกิดอาการกลีบเปลือกอ่อนหลุดออกโดยง่าย (slippery skin) ขึ้นกับหัวหอม

การอยู่ข้ามฤดูและการแพร่ระบาด

หลังจากเข้าทำลายพืชแล้วหากขณะยังอยู่ในแปลงปลูก เมื่อพืชตายเชื้อก็จะเจริญเติบโตในดินดังกล่าว โดยอาศัยเกาะกินเศษซากพืชได้ต่อไปจนถึงฤดูปลูกใหม่ก็จะกลับขึ้นมาทำลายพืชอีก โดยผ่านทางแผลหรือเนื้อเยื่อของใบที่แก่เต็มที่ เมื่อเกิดโรคแสดงอาการขึ้นกับต้นพืชต้นใดต้นหนึ่งแล้ว จากนั้นก็อาจจะแพร่ระบาดต่อไปยังต้นอื่นๆ โดยหนอนแมลงวัน (maggot fly) น้ำที่สาดกระเซ็น การจับต้องสัมผัส สำหรับการติดโรคกับหัวหอมหลังเก็บเกี่ยวแล้ว มักจะเกิดโดยผ่านทางแผลที่เกิดจากการกดกระแทกหรือการบรรจุที่เบียดอันแน่นเกินไป

การป้องกันกำจัด

1. ควรเก็บเกี่ยวหัวหอมเมื่อแก่เต็มที่และปล่อยไว้ในแปลงจนกระทั่งเปลือกชั้นนอกสุกและใบที่มีอยู่แห้งดีแล้ว

2. วิธีการบรรจุหัวหอมลงภาชนะหีบห่อตลอดจน การขนส่งควรทำด้วยความระมัดระวัง ภาชนะที่ใช้บรรจุควรโปร่งเพื่อให้มีอาการถ่ายเทได้ และไม่เบียดอัดแน่นจนเกินไป อาจทำให้เกิดรอยช้ำหรือแผลที่หัวหอมทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

3. เมื่อพบว่ามีหัวหอมใดแสดงอาการเน่าให้รีบแยกออกทำลายเสียทันที

โรคเน่าแห้งหรือราสีขาว (dry rot หรือ white rot)

เป็นโรคเน่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบทั้งในหอมใหญ่ หอมแบ่ง หรือหอมแดง กระเทียมหัวและกระเทียมต้น เป็นโรคที่จะพบได้ทั่วๆ ไปในแหล่งที่มีการปลูกพืชพวกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในแปลงปลูก แต่ก็อาจจะพบบ้างในระยะหลังเก็บเกี่ยวหรือรอการจำหน่าย

อาการโรค

การทำลายมักจะเกิดขึ้นกับหัวหอมหรือกระเทียมที่อยู่ระดับดินหรือต่ำกว่าเล็กน้อย โดยจะเกิดแผลเน่าช้ำ ใบที่มีอยู่จะเหี่ยวเหลืองแห้งและอาจหักพับลงโดยเฉพาะใบแก่ ต้นที่แสดงอาการโรคนี้หากมองเข้าไปในแปลงจะสังเกตเห็นความแตกต่างจากต้นอื่นได้ง่าย คือ ต้นจะแคระแกรนเล็กกว่าเพื่อน แเห้งเหี่ยวหรือเหลืองและอาจถึงตายในที่สุด พวกนี้เมื่อถอนขึ้นมาดูจะพบว่าที่ส่วนรากเกิดอาการเน่าขึ้นด้วย ซึ่งความจริงแล้วรากเป็นจุดที่เชื้อเข้าทำลายก่อน จากนั้นจึงเจริญเติบโตลามขึ้นมายังฐานของหัวเริ่มจากกาบชั้นนอกสุดเข้าไป ทำให้เกิดการเน่า ในที่สุดก็จะเหี่ยวยุบตัวลง แล้วแห้งฝ่อไป พร้อมกับมีเส้นใยสีขาวของเชื้อราขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันเมื่อเจริญเติบโตจนเต็มที่แล้ว เชื้อราก็จะสร้างเม็ด สเครอโรเทียขนาดเท่าเมล็ดผักกาดหรือหัวเข็มหมุด เมื่อเริ่มเกิดจะเป็นสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ขึ้นที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก พวกนี้บางส่วนจะล่วงหลุดจากแผลตกลงมาอยู่ตามดินบริเวณโคต้น ซึ่งจะทำให้เกิดโรคกับพืชใหม่ในฤดูปลูกต่อไปได้อีก บางครั้งหัวหอมอาจได้รับเชื้อแล้วตั้งแต่อยู่ในแปลงปลูก แต่ไม่ทันแสดงอาการให้เห็นก็ถูกเก็บเกี่ยวเสียก่อน ในกรณีนี้ การเน่าอาจมาเกิดขึ้นภายหลังขณะขนส่ง หรือรอการจำหน่ายได้

สาเหตุโรค : Sclerotium cepivorum

เป็นราที่ขยายพันธุ์ได้โดยเส้นใยและเม็ดสเครอโรเทียเท่านั้นไม่มีการสร้างสปอร์หรือสิ่งที่ใช้ขยายพันธุ์อย่างอื่น เม็ดสเครอโรเทียที่สร้างขึ้นในตอนเริ่มแรกจะมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ บางส่วนจะติดอยู่กับพืชและก็มีจำนวนมากที่จะล่วงหล่นอยู่ตามดิน พวกนี้ถ้ามีปริมาณมากจะมีชีวิตอยู่ในดินได้นานราว 8-10 ปี โดยจะอยู่ในลักษณะพักตัว (dormant) หากไม่มีการปลูกพืชลงในดินนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ถ้ามีพืชให้ขึ้นเกาะกินมีความชื้นพอเพียงก็จะงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ภายใน 2-3 วันหลังจากนั้น พวกนี้จะเข้าทำลายหอม-กระเทียมได้ทุกระยะการเจริญเติบโต และสามารถสร้างเม็ดสเครอโรเทียซํ้าได้อีกภายใน 6-7 วัน เนื่องจากไม่มีการสร้างสปอร์ หรือโคนิเดียจึงไม่สามารถปลิวแพร่ระบาดได้โดยลมการอยู่ข้ามฤดูส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะ สเครอโรเทียโดยติดปะปนอยู่ตามดินหรือเศษซากพืชเป็นโรค การระบาดที่สำคัญก็โดยติดไปกับดินดังกล่าว ในกรณีของหอมหัวใหญ่ที่ขยายพันธุ์โดยเมล็ด เม็ดสครอโรเทียอาจติดปะปนอยู่กับเมล็ดดังกล่าวได้ เนื่องจากมีรูปร่างและขนาดคล้ายๆ กัน

เชื้อ S. cepivorum ค่อนข้างชอบอากาศเย็นจะเจริญเติบโตและเข้าทำลายพืชได้ระหว่างอุณหภูมิตั้งแต่ 7 – 24 °ซ จะดีที่สุดในช่วง 15 – 18° ซ. ส่วนความชื้นในดินก็ไม่จำเป็นต้องมากนักเพียงเท่าที่พืชต้องการก็เป็นการเพียงพอที่จะงอก และเข้าทำลายพืชได้

การป้องกันกำจัด

1. งดปลูกหอมกระเทียมลงในดินที่เคยมีโรคมาก่อนอย่างน้อย 8-10 ปี

2. ดินปลูกควรยกเป็นร่องและมีการระบายน้ำที่ดี

3. ขจัดทำลายวัชพืชหรือพวกหอมกระเทียมป่าให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก

4. ดินปลูกที่มีปริมาณไม่มากโดยเฉพาะแปลงเพาะกล้าควรฆ่าทำลายเชื้อที่อาจมีอยู่เสียก่อนโดยการรมด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ วาแปม คลอโรพิคครินหรืออบด้วยไอน้ำเดือด

5. เมล็ดหอมใหญ่ก่อนนำไปปลูกควรคลุกด้วยสารเคมีคาโลเมล (calomel=HgCl) ในอัตราส่วน 1 :1 โดยน้ำหนักและเมื่อนำไปเพาะแล้วก็ใช้คาโลเมลฉีดพ่นลงในดินปลูกต่อไปอีก โดยใช้สารเคมี 1 กิโลกรัมต่อแถวปลูกยาว 30 เมตร

โรคเน่าและเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium wilt)

โรคเน่าและเหี่ยวที่เกิดจากฟิวซาเรี่ยมส่วนใหญ่จะพบในหอมใหญ่ และหอมแบ่งหรือหอมแดง เป็นโรคที่เกิดขึ้นทั้งในแปลงปลูกและหลังเก็บเกี่ยวแล้ว ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมบางครั้งก็ทำความเสียหายให้รุนแรงได้

อาการโรค

โดยปกติเชื้อฟิวซาเรี่ยมจะเข้าทำลายหอมได้โดยผ่านทางแผลที่รากหรือบริเวณโคนใบที่ติดกับหัวหรือแผลรอยตัดของใบที่เกิดจากการเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันเชื้อก็อาจจะเข้าไปในหัวหอมได้โดยตรงทางเปลือกหรือกาบชั้นนอกสุดที่ไม่จำเป็นต้องมีหรือเกิดแผลมาก่อน อาการโรคที่จะสังเกตเห็นได้ขณะที่ยังปลูกอยู่ในแปลง คือ ใบจะเหลืองหรือเหี่ยว ชะงักการเจริญเติบโต โคนต้นจะเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ความรุนแรงของโรคจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของต้นถูกเชื้อเข้าทำลาย ถ้าเป็นที่รากส่วนใหญ่จะเหี่ยว แคระแกร็น แต่ถ้าราเข้าทำลายที่หัวโดยตรงส่วนมากใบจะเหลืองโดยเฉพาะใบที่เกิดจากกาบที่เชื้อเข้าไปอาศัยอยู่ อย่างไรก็ดี หัวหอมที่ถูกเชื้อทำลาย บางครั้งจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ให้เห็นภายนอก แต่อาจรู้สึกได้โดยเมื่อใช้มือจับหรือกดดูตรงด้านบนของหัวที่ต่อเชื่อมกับโคนใบจะรู้สึกอ่อนนิ่มพวกนี้ถ้าผ่าออกดูจะเห็นกาบที่อยู่ข้างใน 1-2 กาบ มีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ซึ่งถ้าทิ้งไว้ต่อมาจะเน่าและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีคลํ้า และในขณะที่อากาศโดยรอบชื้นมากๆ จะมีเส้นใยของราสีขาวเกิดขึ้นเป็นปุยระหว่างชั้นของกาบที่แสดงอาการ แต่ถ้าอากาศเย็นและแห้งแผลก็จะค่อยๆ แห้งลงในที่สุดเหี่ยวและหดย่น ทำให้เกิดอาการหัวลีบขึ้น อย่างไรก็ดี แผลเน่าที่เกิดจากเชื้อฟิวซาเรี่ยมอาจถูกพวกแซ๊ฟ โปรไฟท์อื่นๆ เข้าไปช่วยทำลายซํ้า ทำให้เสียหายเพิ่มขึ้นและเกิดอาการเน่าเสียทั้งหัว

การทำลายส่วนรากอาจจะติดมาจากหัวที่ถูกเชื้อเข้าเกาะกินมาก่อน หรืออาจเกิดจากเชื้อเข้าทำลายส่วนรากโดยตรงในตอนแรกจะเกิดแผลจุดสีดำเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายโตขึ้น เกิดเป็นแผลลุกลามจนทำลายรากทั้งหมด

สาเหตุโรค : Fusarium oxysporum f.sp. cepae

เป็นเชื้อราในกลุ่ม F.oxysporum อีกชนิดหนึ่ง แต่มี f.sp cepae แยกออกมาต่างหาก ซึ่งเป็นเฉพาะในพืชพวกหอมเท่านั้น หรืออาจมีชื่อเรียกออกไปเป็นอย่างอื่นได้อีก คือ F. zonatum ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันและมีทุกอย่างเหมือนกัน โดยเฉพาะการสร้างสปอร์ภายในเส้นใยที่เรียกว่า คลามายโดสปอร์ (chlamydospores) ซึ่งเป็นสปอร์ที่มีผนังหนาทนทานต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติได้ดี ใช้ในการพักตัวเหมือนกับ F. oxysporum f.sp.cepae ส่วนในสภาวะปกติจะมีการสร้างสปอร์ที่ใช้ในการแพร่ระบาดหรือขยายพันธุ์สองชนิด คือ ไมโครสปอร์ (microspores) ลักษณะเป็นแท่งตรงเซลล์เดียวผนังบาง และมาโครสปอร์(macrospores)ที่มีลักษณะโค้งเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวขนาดค่อนข้างโต ปกติจะมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยๆ อีก 3-4 เซลล์ สปอร์ดังกล่าวเมื่อเกิดก็จะติดอยู่กับพืชหรือเศษซากพืชตกปะปนอยู่กับดิน

การอยู่ข้ามฤดูและการแพร่ระบาด

เนื่องจากธรรมชาติของฟิวซาเรี่ยมเป็นราที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในดิน (soil-borne) ด้วยเหตุนี้เมื่อทำลายพืชจนตายแล้วก็จะอาศัยเกาะกินเศษซากพืชหรืออินทรีย์วัตถุในดินต่อไปได้ โดยไม่มีกำหนดตราบเท่าที่ยังมีอาหารให้กิน การระบาดก็โดยสปอร์ที่มีอยู่ในดินถูกนำหรือพาให้เคลื่อนที่ไป โดยน้ำที่ไหลผ่าน การเคลื่อนย้ายดิน ล้อเลื่อนของยานพาหนะ จอบเสียมมีเพียงส่วนน้อยที่อาจติดใปกับแมลงหรือปลิวไปตามลม ที่สำคัญที่สุดก็คือติดไปกับชิ้นส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ พืช พวกหัว หน่อ หรือเหง้า

ปกติเชื้อฟิวซาเรี่ยมสามารถแทงทะลุผ่านผิวพืชเข้าไปก่อให้เกิดโรคโดยตรงได้ แต่จะเป็นไปได้รวดเร็วและดีขึ้นถ้าพืช มีแผลหรือรอยช้ำอยู่ก่อน การเกิดอาการ ปกติจะค่อยเป็นค่อยไปจนบางครั้งอาการจะไปแสดงออกหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เป็นเวลาหลายวันหรือขณะวางขายอยู่ตามตลาด

ฟิวซาเรี่ยมเป็นราที่ไม่ต้องการความชื้นมากนัก โดยเฉพาะความชื้นในดินมีเพียงเท่าที่พืชต้องการก็เจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ดี หลังจากเข้าทำลายพืชแล้วความรุนแรงและความเสียหายจะมีมากขึ้นหากความชื้นในอากาศสูง สำหรับอุณหภูมิ F.oxysporum f.sp. cepae จะเจริญเติบโตและเข้าทำลายพืชได้ในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 14°- 33°ซ แต่จะดีที่สุดที่ระหว่าง 26° – 28° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกหอมซํ้าลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือปลูกพืชหมุนเวียนโดยการนำเอาพืชที่เชื้อฟิวซาเรี่ยมไม่สามารถเข้าทำลาย หรือไม่สร้างความเสียหาย เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือถั่วเหลือง ถั่วเขียวมาปลูกแทน แต่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 5-6 ปี

2. ควรเก็บเกี่ยวหอมโดยการปล่อยไว้ในแปลงจนเปลือกนอกค่อนข้างแห้ง เพื่อว่าเมื่อตัดใบออกไปแล้วจะไม่เกิดแผลให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย และควรระวังอย่าให้เกิดรอยแผลช้ำโดยไม่จำเป็น

โรคแผลสีม่วง (purple blotch)

แผลสีม่วงจัดเป็นโรคสำคัญที่ระบาดแพร่กระจายและสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพืชพวกหอม กระะเทียมมากที่สุดโรคหนึ่งปัจจุบันจะพบได้ทั่วๆ ไปในทุกภาค หรือทุกท้องถิ่นที่มีการปลูกพืชพวกนี้ แผลจะขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มตรงกลางซีดจางกว่าเล็กน้อย ส่วนรอบนอกจะมีแถบเซลล์ตายสีขาวหรือส้มล้อมรอบ แผลเหล่านี้เมื่อขยายโตจนรอบใบก็จะมีผลให้ใบดังกล่าวเหลืองเหี่ยวแห้งทั้งใบ เมื่ออากาศชื้นบริเวณแผลจะมีสปอร์สีน้ำตาล หรือดำ ซึ่งเกิดบนก้านสั้นๆ เป็นจำนวนมาก ต้นหอมหรือ กระเทียมที่เป็นโรคนี้จะโทรมหรือแห้งตายทั้งต้นภายใน 3-4 สัปดาห์ เชื้อจะเจริญจากใบลามลงมายังหัว ทำให้เกิดอาการเน่าช้ำมีนํ้าเยิ้มในระยะแรกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สุดท้ายจะมีสีนํ้าตาลเข้มหรือดำ อาการที่หัวอาจจะเกิดเพียงหนึ่งหรือสองกาบที่ต่อเชื่อมกับใบที่แสดงอาการหรืออาจจะเน่าเสียหมดทั้งหัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

สาเหตุโรค : Alternaria porri

เป็นราพวก imperfect ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ temaria spp.ทั่วๆ ไป เมื่อขึ้นทำลายพืชเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีการสร้างสปอร์หรือโคนิเดียที่มีรูปร่างคล้ายพินโบว์ลิ่ง (muriform) ที่มีท้ายโตมนป้าน ปลายเรียวคอดคล้ายคอขวด ภายในมีผนังแบ่งกั้นออกทั้งตามขวางและตามยาวเป็นเซลล์ย่อยๆ อีกหลายเซลล์ สปอร์พวกนี้จะเกิดที่ปลายก้านที่ชูตั้งตรงขึ้นมาจากเส้นใยโดยจะเกิดอยู่ภายนอกบริเวณแผลของพืช เมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวแพร่ระบาดไปตามลม นํ้าที่สาดกระเซ็น แมลง เครื่องมือกสิกรรมและสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนพืชสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกเส้นใยแทงทะลุผ่านผิวพืชเข้าไปภายในได้ ทั้งโดยตรง และทางช่องปากใบ อาการจะเกิดขึ้นภายใน 1-4 วัน จากนั้นอีกเพียงวันเดียวก็จะสร้างสปอร์ พร้อมที่จะระบาด ต่อไปได้อีก สำหรับสปอร์ที่ล่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน หรือติดปะปนอยู่กับเศษซากพืช จะมีชีวิตอยู่ได้ราว 1 ปี หรือกว่าเล็กน้อย การอยู่ข้ามฤดูนอกจากในลักษณะของสปอร์ดังกล่าวแล้วอาจจะอยู่ในรูปของเส้นใย โดยอาศัยเกาะกินอยู่บนวัชพืช พวก Allium sp. ด้วยกันหรือไม่ก็บนต้นหอมที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว ส่วนเส้นใยที่เกาะติดอยู่กับเมล็ดจะอยู่ได้นานราว 2-3 เดือน

A. porri เป็นราที่ต้องการความชื้นสูงระบาดได้ดีและสร้างความเสียหายรุนแรงในฤดูฝนหรือช่วงที่มีหมอกน้ำค้างจัด สำหรับอุณหภูมิสามารถเจริญเติบโตได้ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ต่ำสุดระหว่าง 6°ซ ไปจนสูงถึง 39°ซ แต่จะดีที่สุดระหว่าง 25° – 28° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคทั้งใบและหัว โดยการนำไปเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ

2. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างต่ำ 2 ปี

3. หากเกิดโรคขึ้นให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันรา เช่น ซีเน็บ หรือมาเน็บ อย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราส่วน 50-60 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ ทุกๆ 5-7 วัน หรือ 3-5 วัน ในกรณีที่เป็นรุนแรง นอกจากสารเคมีทั้งสามชนิดที่กล่าวแล้ว การพ่นด้วย แมนโคเซ็บ หรือไดเทนแซด 78 (Dithane Z 78) ในลักษณะเป็นฝุ่นผง (dusting) ก็สามารถป้องกันกำจัดและลดความเสียหายโรคได้ดี

โรคแอนแทรคโนส (anthracnose)

แอนแทรคโนสของหอมกระเทียมมีชื่อเรียกอีกอย่างคือโรค smudge รายงานการพบโรคนี้ครั้งแรก เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ. 1851 โดย Berkeley ปัจจุบันจะพบโรคนี้ระบาดและเกิดขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะกับหอมหัวใหญ่พันธุ์เปลือกขาว ซึ่งจะเป็นรุนแรงและเสียหายมากที่สุด ส่วนในหอมต้นหอมแบ่งและกระเทียมใบก็ปรากฏว่าเกิดโรคได้ แต่ไม่รุนแรง

อาการโรค

บนใบแผลระยะแรกจะมีลักษณะเป็นจุดช้ำฉ่ำนํ้าสีเขียวหม่น ต่อมาจะขยายวงกว้างออกเป็นวงกลมหรือกลมรี เนื้อเยื่อจะยุบต่ำลงกว่าระดับเดิมเล็กน้อย เมื่อแผลเริ่มแห้งจะมีการสร้าง fruiting body สีครีมหรือชมพูอ่อนซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดียเป็นจำนวนมาก ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มแข็งและสีคลํ้าลง fruiting body ที่เกิดขึ้นนี้จะเรียงเป็นวงกลมซ้อนกันเป็นชั้นๆ เมื่อแผลขยายรอบใบ ใบจะหักพับลง แล้วแห้งตาย ต้นที่มีแผลมากๆ จะโทรมแห้งตายทั้งต้น ส่วนหัวหอมเชื้อก็อาจเข้าทำลายได้ โดยที่กาบชั้นนอกสุดใต้ชั้น ของเซลล์ผิวจะเกิดจุดแผลสีเขียวเข้มขึ้นก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ แผลจะมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลมโดยภายในแผลจะมีการสร้าง fruiting body สีดำเป็นจุดๆ เรียงซ้อนเป็นวงเช่นกัน แต่ในสภาพอากาศที่ชื้นสปอร์ที่เกิดอยู่ใน fruiting body เมื่อรวมกลุ่มกันอยู่มากๆ จะมีสีครีมหรือชมพูอ่อนๆ เช่นเดียวกับที่ใบ นอกจากที่เปลือกชั้นนอกสุดแล้ว กาบที่อยู่ชั้นในถัดเข้าไปอาจจะเกิดแผลจุดคล้ายๆ กันขึ้น แต่จะมีขอบเป็นสีเหลืองล้อมอยู่โดยรอบ บนหัวหนึ่งๆ อาจจะเกิดแผลขึ้นเป็นจำนวนมากเต็มตลอดทั้งหัว และบางแผลอาจจะมาชนต่อกันทำให้แผลมีขนาดใหญ่ขึ้น หัวหอมที่มีแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่น่าดู ไม่สามารถจำหน่ายได้ หรือราคาตก

สาเหตุโรค : Colletotrichum circinans

มีลักษณะเช่นเดียวกับเชื้อแอนแทรคโนสทั่วไป เส้นใยแตกกิ่งก้านสาขามีผนังแบ่งกั้นภายในเมื่อเริ่มเกิดจะมีสีขาวใส แต่เมื่อมีอายุมากผนังจะหนาและมีสีเข้ม พร้อมกับ cytoplasm จะเหนียวข้นขึ้นและในที่สุดก็จะกลายเป็นคลามายโดสปอร์ไป เส้นใยเหล่านี้จะมาอัดรวมตัวกันกลายเป็นชั้นหรือแผ่น stroma สีเขียวเข้มเป็นจุดเล็กๆ ขนาดราว 1 มิลลิเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า stroma ที่สร้างขึ้นใต้ชั้นของ cuticle จะเป็นที่เกิดของ fruiting body ลักษณะเป็นรูปถ้วยคว่ำ ซึ่งเมื่อมีการสร้างสปอร์หรือโคนีเดียขึ้นก็จะ ดันผิว cuticle ให้เปิดแตกออกเพื่อปล่อยให้สปอร์หลุดออกมาข้างนอก ระหว่างก้านสปอร์และสปอร์จะมีขนหรือเส้นใยที่มีลักษณะเป็นหนามแข็งสีดำ (setae) ขึ้นแซมอยู่ทั่วไปหนามแข็งสีดำนี้ปกติจะมีผนังแบ่งกั้น 3 อัน ตั้งตรงขึ้นมาจาก Stroma มีความยาวตั้งแต่ 80-315 ไมครอน สปอร์หรือโคนิเดียจะเกิดเดี่ยวๆ ที่ปลายก้าน conidiophore สั้นๆ ลักษณะปลายเรียวแหลม ตรงกลางป่อง (spindle-shaped) ไม่มีผนังแบ่งกั้นภายใน บางครั้งอาจโค้งเล็กน้อย ปกติไม่มีสี แต่บางครั้งอาจเป็นสีเหลืองอ่อนๆ เมื่อรวมกันอยู่มากๆ จะทำให้มองเห็นเป็นสีครีม ขนาดโดยเฉลี่ยของสปอร์ประมาณ 3 – 4 X 18 – 28 ไมครอน สปอร์พวกนี้เมื่อหลุดออกจากก้านปลิวไปตกลงบนพืช มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกเป็นเส้นใยได้ 2-3 เส้น แต่ละเส้นต่อมาจะสร้างอวัยวะที่เรียกว่า appressorium ลักษณะหนาแข็ง สีเข้ม แต่ละอันจะมีขนาดตั้งแต่ 4 – 5.5 X 6.5 – 8 ไมครอน เพื่อใช้ยึดเกาะติดผิวใบพืช ภายใต้ appressorium จะมีการสร้างหนามแหลมแข็งที่เรียกว่า infection peg เพื่อใช้แทงทะลุผิวพืชเข้าไปภายในโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านทางแผลหรือช่องเปิดธรรมชาติของพืช

การอยู่ข้ามฤดู

เมื่อทำลายพืชจนตายเส้นใยก็จะติดอยู่กับเศษซากพืชในลักษณะแผ่นหรือชั้นของ stroma หรือไม่ก็ในลักษณะของแซ๊ฟโปรไฟท์ เกาะกินเศษซากพืชหรืออินทรีย์วัตถุในดินต่อไปได้อีกหลายปี แม้จะไม่มีพืชอาศัยให้กลับขึ้นมาทำลายต่อ ส่วนสปอร์หรือโคนิเดียพวกนี้ไม่สู้จะมีความคงทนต่อความเย็นและความแห้งนัก แต่จะอยู่ได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและจะงอกได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 13-25°ซ. ดีที่สุด คือ 20 °ซ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในอาหารที่เตรียมขึ้นในห้องทดลองจะงอกได้ดีที่สุดที่ 26°ซ ส่วนการเข้าทำลายพืชจะเกิดขึ้นได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 10 – 32 °ซ และดีที่สุดที่ 26 °ซ เช่นกัน การสร้างสปอร์ต้องอาศัยความชื้น โดยจะเกิดได้ดีและเป็นจำนวนมากในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง

การแพร่ระบาดเกิดได้ดี โดย ลม นํ้าที่สาดกระเซ็น แมลง และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด

การป้องกันกำจัด

1. เลือกปลูกหอมใหญ่พันธุ์หรือชนิดที่มีเปลือกสีเข้มหรือนํ้าตาล ซึ่งมีความต้านทานต่อโรคดีกว่าพันธุ์สีขาว

2. การเก็บเกี่ยวหัวหอมควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะรีบทำใหักาบเปลือกนอกสุดแห้งโดยเร็ว โดยการตากแดดหรือรมด้วยไออากาศอุ่น 48 °ซ

3. ในกรณีที่เป็นกับต้นหรือใบหอมขณะปลูกอยู่ในเแปลงให้รีบขจัดทำลายต้นที่แสดงอาการทันทีแล้วฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น ไซเน็บ มาเน็บ หรือเบนเลท อย่างใดอย่างหนึ่งทุกๆ 3-5 วัน โดยเฉพาะเมื่อฝนตกชุกหรืออากาศชื้น และถ้าจะให้ได้ผลสมบูรณ์ ควรผสมสารเสริมประสิทธิภาพลงไปด้วยเพื่อให้สารเคมีที่ใช้จับใบหอมได้ดีและนานขึ้น

โรครานํ้าค้าง (downy mildew)

แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยืนยันหรือมีรายงานความเสียหายเกี่ยวกับโรคนี้เป็นทางการในประเทศไทย แต่จากการสำรวจแหล่งที่มีการปลูกหอมกระเทียมในบางจังหวัด เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี ลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่ พบว่าในบรรดาโรคต่างๆ ที่เป็นกับพืชกลุ่มนี้มีอยู่บางโรคที่มีลักบณะอาการคล้ายหรือใกล้เคียงโรครานํ้าค้าง ดังได้ระบุในเอกสารต่างๆ ตามที่ได้มีผู้ศึกษาและรายงานไว้ เนื่องจากเป็นโรคที่จัดว่าสำคัญและสร้างความเสียหายรุนแรงโรคหนึ่งหากเกิดการระบาดขึ้น จึงควรที่จะได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อสาเหตุการเกิดและการระบาดตลอดจนลักษณะอาการของโรคไว้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดในโอกาสต่อไป

อาการโรค

การเกิดโรคอาจเป็นไปในลักษณะที่เชื้อเข้าไปอาศัยอยุ่ภายในต้น (systemic) จากการที่เป็นโรคอยู่ก่อนหรือจากหัวพันธุ์ที่มีเชื้อเกาะติดอาศัยอยู่ หรืออาจจะเกิดจากการเข้าทำลายของสปอร์ที่ปลิวปะปนอยู่ในอากาศในช่วงที่มีการระบาดของโรค ต้นหอมกระเทียมที่มีเชื้ออาศัยอยู่ภายในลักษณะ systemic มักจะแคระแกรนใบหดเหี่ยว ซีดจาง ถ้าอากาศชื้นจะมีการสร้างสปอร์แรงเจียออกมาที่ผิวนอกของใบลักษณะเป็นกลุ่มผงสีม่วงๆ อยู่ทั่วไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าแห้งจะเกิดเป็นเพียงจุดแผลสีขาวๆ เท่านั้น ส่วนอาการแผลที่เกิด จากการเข้าทำลายของสปอร์ซึ่งจะเกิดขึ้นในลักษณะเฉพาะแห่ง (local lesion) จะมีรูปร่างกลมรี หรือเป็นแผลยาวๆ ไปตามรูปของใบและจะมีสีซีดจางหรือเหลือง โดยมีบางส่วนที่เป็นจุดสีเขียวเล็กๆ แซมอยู่ภายในทั่วไป และถ้าความชื้นสูงก็จะมีการสร้างสปอร์เกิดขึ้นให้เห็นเช่นเดียวกับราน้ำค้างทั่วๆ ไป แผลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ส่วนบนของใบ ตั้งแต่กลางใบขึ้นไปถึงปลายใบพวกนี้ในที่สุดจะหักพับลงตรงบริเวณที่มีแผล และแห้งตาย ถ้าเป็นในช่วงที่หอมกำลังเจริญเติบโตก็จะมีการสร้างใบใหม่ขึ้นมาแทนใบเก่าที่ตายไป สำหรับความรุนแรงของโรคจะมากหรือน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเช่นหมอก นํ้าค้างจัดหรืออากาศชื้นมากๆ อุณหภูมิระหว่าง 13° – 19° ซ

สาเหตุโรค : Peronospora destructor

เชื้อนี้เมื่อแก่จะสร้างสปอร์แรงเจียลักษณะรูปไข่หรือมะนาวฝรั่ง (lemon-shaped) ที่ปลายของก้านสปอร์แรงจิโอฟอร์ที่ไม่มีผนังกั้น และมีโคนที่โป่งพองออกเล็กน้อย มีความยาววัดได้ตั้งแต่ 122 – 820 ไมครอน ส่วนสปอร์จะมีขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 18 – 29 X 40 – 72 ไมครอน ผนังบางสีขาวใสที่ปลายด้านหนึ่งจะมีปุ่มเล็กๆ

เป็นจงอยยื่นออกมา ในการงอกของสปอร์จะงอกออกมาเป็นเส้นใยได้หนึ่งหรือสองเส้นต่อสปอร์หนึ่งอัน พวกนี้ไม่พบว่ามีการสร้างสปอร์ที่เคลื่อนไหวได้ (zoospores) เส้นใยที่เกิดจะมีลักษณะเป็นท่อยาวโดยตลอดไม่มีผนังแบ่งกั้น เมื่อเข้าไปในพืชจะไปอาศัยอยู่ระหว่างเซลล์ส่งเฉพาะส่วนที่เรียกว่าฮอสทอเรีย (haustoria) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ รากพืชเข้าไปดูดกินอาหารภายในเซลล์เมื่อทำลายจนพืชใกล้ตายหรืออาหารหมดก็จะมีการสร้างโอโอสปอร์ (oospores) ที่มีผนังหนาทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติได้ดี เพื่อใช้ในการอยู่ข้ามฤดูหรือเข้าทำลายพืชในฤดูปลูกต่อไป โดยที่โอโอสปอร์เหล่านี้จะติดอยู่กับเศษซากพืชหรือร่วงหล่นอยู่ตามดิน

การป้องกันกำจัด

1. ขจัดทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคหรือต้นที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวให้หมด เพื่อกันมิให้เป็นต้นตอการระบาดของโรคต่อไป

2. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี

3. หากเกิดโรคระบาดขึ้นในแปลงปลูกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อราเช่นซีเน็บแมนโคเซ็บหรือมาเน็บ ในอัตราส่วน 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุก 5-7 วัน หรือจะใช้วิธีพ่นเป็นฝุ่นผงด้วยสารเคมีไดเทน แซด 78 สัปดาห์ละครั้ง ก็จะช่วยลดความเสียหายจากโรคลงได้บ้าง

4. เลือกปลูกหอมกระเทียมโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค

โรคราสนิม (rust)

โรคราสนิมของพืชในตระกูล Allium เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับกุ๊ยฉ่ายมากกว่าพวกหอมกระเทียมหรือหอมใหญ่ โดยจะระบาดในระยะปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว

อาการโรค

เช่นเดียวกับโรคราสนิมในพืชทั่วๆ ไป อาการส่วนใหญ่จะปรากฏที่ใบ แผลจะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ขนาดหัวเข็มหมุด สีเหลืองส้ม ต่อมาจะเปิดแตกออกปล่อยให้สปอร์ซึ่งมีสีเหลืองหรือแสดฟุ้งกระจายออกมาข้างนอก ทำให้มองดูมีลักษณะเป็นขุย แผลเหล่านี้จะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป บางครั้งอาจเต็มทั้งใบ ใบจะเหลืองและแห้งตายในที่สุด แม้จะมีการสร้างใบใหม่ขึ้นมาแทนต้นก็มักจะโทรมขาดความสมบูรณ์ ถ้าเป็นในขณะที่ต้นยังเล็กอาจจะตายทั้งต้น ในกรณีของหอม กระเทียมหรือหอมใหญ่ ถ้าเกิดโรคขึ้นจะไม่มีการสร้างหัว หรือไม่ก็อาจจะทำให้หัวที่ได้มีขนาดเล็กลง มี ลักษณะไม่สมบูรณ์

สาเหตุโรค: Pucciทin porri

เชื้อรานี้อาจมีชื่อเรียกแตกต่างออกไปอีกหลายชื่อ เช่น Puccinia aim, Uromyces ambiguus ตามความเห็นซึ่งแตกต่างกันออกไปของนักโรคพืชแต่ละท่าน ในด้านของพืชที่เชื้อเข้าทำลายความแตกต่างของสถานที่ที่พบจำนวนเส้นใย (germ tube) ที่งอกจาก uredospore แต่ละอันหรือจำนวนเซลล์ที่มีอยู่ใน teliospore

ที่พบในประเทศแถบเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีแค่ 2 stages คือ uredial และ telial stages โดย uredial stage จะเกิดในช่วงแรกที่เป็นตุ่มแผลสีแสดหรือเหลืองส้ม ซึ่งเป็นสีของ uredospores ส่วน telial stage จะเกิดตอนปลายฤดูตรงที่แห่งเดียวกับที่เกิด uredospores แต่จะมีสีดำ สปอร์ทั้งสองชนิดนี้จะถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากและระบาดแพร่กระจายไปได้ดีเป็นระยะทางไกลนับร้อยๆ กิโลเมตร โดยการพัดพาของลม ราสนิมพวกนี้ไม่ต้องการความชื้นสูงมากนักในการเจริญเติบโตและการเข้าทำลายพืช แต่ก็ค่อนข้างระบาดได้ดี ในช่วงที่หมอกหรือนํ้าค้างจัด อุณหภูมิไม่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป ระหว่าง 20° – 30° ซ

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูปลูก ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่กับพืชที่มีชีวิต พวกหอมกระเทียมด้วยกัน

การป้องกันกำจัด

1. ขจัดทำลายพวกพืชอาศัยที่มีชีวิตให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก โดยเฉพาะหลังจากที่มีโรคระบาด

2. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 2-3 ปี

3. เมื่อเกิดโรคขึ้นให้ใช้สารเคมีฆ่าเชื้อรา เช่นซีเน็บ มาเน็บ หรือคาราเทน ฉีดพ่นให้กับต้นพืชทุกๆ 5-7 วัน หรือ 3-5 วัน ในกรณีที่เป็นรุนแรง และควรผสมสารเคลือบใบ (sticker) เข้าไปด้วยเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โรคปลายใบไหม้แห้งของหอม (tip blight)

อาการที่มักจะพบบ่อยอย่างหนึ่งของหอม โดยเฉพาะในหอมต้น หอมแดง หรือหอมแบ่ง คือ อาการปลายใบแห้งเหลือง แล้วค่อยๆ ลามลงมายังโคน ต่อมาอาจจะแห้งทั้งต้นแล้วตาย หากเป็นต้นอ่อน ส่วนในต้นโต ถ้าไม่ตายก็จะอ่อนแอแคระแกรน ไม่มีการลงหัว หรือไม่ก็หัวลีบ ความจริงแล้วอาการดังกล่าวไม่ใช่โรค แต่เกิดจากสาเหตุที่พอจะแยกออกได้เป็นสองสาเหตุใหญ่ๆ คือ

ก. ความผิดปกติทางสรีรวิทยาของพืชเนื่องจากความแห้งแล้ง

เนื่องจากหอมเป็นพืชที่ใบมีลักษณะกลมเป็นปลอกเนื้อใบ มีพื้นที่จำกัด พวกนี้ช่องปากใบ (stomata) ที่มีอยู่จะเปิดอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถปิดได้ดังเช่นพืชที่มีใบคลี่เป็นแผ่นทั่วๆ ไปหอมจึงเป็นพืชที่มีการระเหยนํ้า (transpiratios) สูงเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ และจะเกิดติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เมื่อใดที่เกิดการขาดน้ำ เช่น ให้น้ำไม่พอดินปลูกมีลักษณะเป็นดินเหนียวจัด หรือดินที่มีผิวหน้าแน่นจับยึดติดกันเป็นแผ่นหลังฝนตกหนัก พวกนี้จะมีอัตราการระเหยน้ำออกไปในอากาศเร็วและสูงทำให้พืชที่ปลูกอยู่ขาดน้ำ ยิ่งถ้าอากาศแห้ง พืชก็จะยิ่งระบายน้ำออกมาก เมื่อนํ้าในดินมีน้อยไม่สมดุลกัน น้ำที่มีอยู่ในเซลล์ก็จะถูกดึงออกไประเหยด้วย โดยเฉพาะที่มีน้ำมาก เช่น เซลล์อ่อนที่เพิ่งเกิดใหม่ตอนปลายๆ ใบ ในที่สุดก็จะเกิดอาการแห้งและไหม้ขึ้นกับเนื้อเยื่อของใบที่ประกอบด้วยเซลล์ดังกล่าว อาการใบแห้งลักษณะนี้มักจะพบบ่อยในระยะใกล้จะหมดฤดูฝนต่อฤดูหนาวที่อากาศเริ่มเย็นและแห้ง ยิ่งอากาศแห้งมากขึ้นเท่าใดอาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

ข. เกิดจากแมลงเพลี้ยไฟ (thrips)

เพลี้ยไฟจัดเป็นแมลงปากดูดที่สำคัญชนิดหนึ่งในปัจจุบันเป็นแมลงที่ทำลายก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชอย่างกว้างขวางมากมายหลายชนิดทั้งไม้ยืนต้นไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่ และพืชผักต่างๆ และมีอยู่ด้วยกันหลาย species ที่พบในหอมส่วนใหญ่จะเป็น Thrips tabaci ซึ่งจะพบได้ทั่วๆ ไปในแหล่งที่มีการปลูกพืชและตลอดปี แต่จะชุกและทำความเสียหายให้กับพืชมากในช่วงฤดูแล้งหรือฤดูหนาวที่อากาศแห้งจนถึงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึง พฤษภาคม หรือมิถุนายน และจะน้อยหรือลดความรุนแรงลง ในฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักหรือชุกระยะมรสุม เพลี้ยไฟหอมจะเกาะดูดนํ้าเลี้ยงจากเซลล์อ่อนของใบพืชที่อยู่ ตอนปลายๆ ในตอนเช้าที่แสงแดดยังอ่อนอาจจะสังเกตเห็นตัวได้ หากพิจารณาให้ใกล้ชิดหรือใช้แว่นขยายส่องดู ส่วนในตอนสายหรือตอนกลางวันที่อากาศร้อนก็จะลงไปหลบซ่อนตัวอยู่ตามกาบหรือซอกใบ ลักษณะอาการปลายใบแห้งที่เกิดจากการดูดกินของเพลี้ยไฟ หากมองดูอย่างผิวเผินก็จะคล้ายกับอาการที่เกิดจากการขาดน้ำ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการแห้งจะมีลักษณะไหม้มีสีเข้มกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ดี นอกจากหอมแล้วบางครั้งหอมใหญ่กระเทียมและกุ๊ยฉ่าย อาจจะถูกเพลี้ยไฟตัวเดียวกันนี้เข้าทำลายได้เช่นกัน การป้องกันกำจัด

ในกรณีที่อาการปลายใบแห้งเกิดจากการระเหยนํ้ามากเกินไป ก็อาจแก้ได้โดย

1. ปลูกหอมในดินที่ร่วนซุยผิวหน้าดินไม่จับเกาะติดกันเป็นแผ่นโดยเฉพาะหลังฝนตกหนัก อาจจะใช้หญ้าแห้ง หรือฟางคลุมดินไว้ให้หนาพอสมควร เพื่อกันไม่ให้ดินแห้ง หรือระเหยนํ้ามากเกินไป

2. ในช่วงที่อากาศแห้งหรือแล้งจัดควรรีบให้นํ้าให้พอเพียงและต่อเนื่อง

3. ระวังเรื่องการใช้สารเคมีที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ เพราะจะช่วยเร่งให้การระเหยนํ้าจากต้นพืชมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอากาศแห้ง

สำหรับในกรณีที่ตรวจพบเพลี้ยไฟการป้องกันกำจัดก็อาจจะทำได้โดยให้ทำการฉีดพ่นต้นหอมด้วยสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม (systemic insecticide) เช่น ไดเมโธเอท ฟูลาดาน ซูมิไซดิน หรือจะใช้สารประเภทถูกตัวตาย ฉาบติดผิวใบเช่น ดีลดริน และมาลาไธออน ก็ได้ ทั้งนี้ควรจะผสมสารเคลือบใบพวก sticker หรือ spreader ลงไปด้วย เพื่อให้สารมีประสิทธิภาพในการฆ่าทำลายแมลงได้ดีและนานขึ้น