โรคของแครอท

(diseases of carrot)

แม้ว่าแครอทจะเป็นพืชผักที่ยังปลูกกันอยู่ในวงแคบ เนื่องจากเป็นพืชเมืองหนาวมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่ปลูก ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกกันในแถบจังหวัดทางภาคเหนือหรือบนเขาที่มีอากาศหรืออุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็น เมื่อนำมาปลูกในที่ต่ำในภาคอื่นๆ มักจะไม่ใคร่เจริญงอกงามและไม่ให้หัวที่มีคุณภาพดี อย่างไรก็ดีแม้แครอทจะถูกนำไปปลูกในที่ที่เหมาะสมมีสิ่งแวดล้อมต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ให้ได้ผลสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคต่างๆ หลายชนิดเกิดขึ้นทำลาย ก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

โรคต้นและใบไหม้แห้งที่เกิดจากแบคทีเรีย (bacterial blight of carrot)

โรคต้นและใบไหม้แห้งของแครอทซึ่งมีแบคทีเรียเป็นสาเหตุนี้สามารถทำลายแครอทได้ทั้งต้นไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบ หัวหรือรากที่อยู่ใต้ดิน ดอกและเมล็ดจะพบได้ทั่วๆ ไปในเกือบทุกแห่งที่มีการปลูกพืชนี้

อาการโรค

บนใบอาการจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายสีเหลืองเล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาตอนกลางจุดจะแห้งกรอบ ขณะเดียวกันแผลจะขยายโตขึ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและมีรูปร่างไม่แน่นอน ที่สำคัญคือ เนื้อใบรอบแผลจะซีดจางเป็นวง (halo) ล้อมรอบอยู่ และหากอากาศชื้นจะปรากฏเมือกของแบคทีเรียสาเหุตโรคสีเหลืองซึมออกมาเกาะติดเป็นหยดหรือฉาบเคลือบแผลไว้ และเมือกนี้เมื่อถูกนํ้าฝนนํ้าค้างหรือนํ้าที่ใช้รดสาดหรือชะถูกก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่กระเด็นหรือไหลตามไปยังส่วนอื่นๆ หรือต้นข้างเคียง ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายออกไปบนกิ่งก้าน หรือก้านใบแผลที่เกิดก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่จะมีสีเข้มกว่าเป็นสีนํ้าตาลคลํ้า จากกิ่งก้าน โรคจะลามต่อสูงขึ้นไปยังช่อดอก ทำให้เกิดการไหม้แห้งขึ้นทั้งช่อ แต่ถ้าเป็นดอกที่ผสมติดฝักมีเมล็ดแล้ว ฝักก็จะถูกทำลายไปด้วย ขณะเดียวกันเชื้อก็จะไปอาศัยอยู่ที่เมล็ดโดยเคลือบหุ้มอยู่ที่เปลือก กลายเป็น seed-borne อยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดไปยังที่ต่างๆ ได้ สำหรับเชื้อแบคทีเรียที่ถูกนํ้าชะเมื่อซึมลงไปในดินก็จะเข้าทำลายส่วนรากหรือหัวแครอทที่อยู่ใต้ดินดังกล่าว ทำให้เกิด เป็นแผลสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดงขึ้นที่เปลือกรอบๆ หัว แผลอาจมีลักษณะยกนูนสูงหรือไม่ก็เป็นแอ่งจมลงไปจากผิดปกติเล็กน้อย บางครั้งแผลก็จะแยกออกเป็นรอยลึกลงไปในเนื้อแผลเหล่านี้หากเกิดเป็นขึ้นมากๆ ขอบแผลจะต่อเชื่อมกันกลายเป็นแผลใหญ่กระจายไปจนเต็มหัว และก็เช่นเดียวกับที่ต้นและใบ แผลที่หัวก็จะมีเมือกของแบคทีเรียซึมออกมา เคลือบฉาบเกาะติดอยู่ให้เห็นได้เช่นกัน

สาเหตุโรค: Xanthomonascampestris pv. carotae

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเช่นเดียวกับเชื้อ Xanthomonas ทั่วๆ ไปแต่ตัวนี้จะทำลายเฉพาะแครรอท (Daucus carota var. sativa) เท่านั้น และก็เช่นเดียวกันกับ แบคทีเรียตัวอื่นๆ คือต้องการความชื้นสูงทั้งในการเจริญ

เติบโตและการเข้าทำลายพืชจะระบาดและก่อให้เกิดโรคได้ดีในฤดูฝนที่มีอากาศชื้นหรือในฤดูที่มีหมอกน้ำค้างจัด อุณหภูมิระหว่าง 27-32°ซ.

การแพร่ระบาดและอยู่ข้ามฤดู

การระบาดที่นับว่าสำคัญคือติดไปกับเมล็ดในรูปของ seed-borne นอกจากนั้นก็จากพวกที่เกาะติดอยู่กับเศษซากพืชที่เคยเป็นโรคที่ล่วงหล่นหรือถูกปล่อยทิ้งไว้ตามดินแปลงปลูก เมื่อมีการปลูกพืชซํ้าลงไปใหม่เชื้อพวกนี้ก็จะกลับขึ้นมาก่อให้เกิดโรคได้อีก หลังจากนั้นก็จะกระจายออกไปยังต้นข้างเคียงหรืออื่นๆ โดยน้ำที่สาดกระเซ็น แมลง สัตว์ และมนุษย์ จากการสัมผัสจับต้องเมือกของแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามบริเวณแผลจากต้นที่เป็นโรค

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์แครอทที่สะอาดปราศจากโรค

2. หลีกเลี่ยงหรืองดปลูกแครอทลงในดินหรือหรือแปลงที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนหรือหากจะปลูกพืชอื่นสลับ ควรใช้เวลาหมุนเวียน 3-4 ปี เป็นอย่างต่ำ

3. หากไม่แนใจว่าเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาปลูกมีเชื้อติดมาหรือไม่ ควรแช่ในน้ำอุ่น 52-53° ซ.นาน 11-12 นาที หรือ 49-50°ซ. นาน 20-25 นาทีเสียก่อนแล้วจึงค่อยนำไปปลูก

โรคต้นและใบไหม้แห้งที่เกิดจากเชื้อรา (fungal blight of carrot)

เชื้อราที่ก่อให้เกิดอาการต้นใบไหม้กับแครรอท ตามรายงานมีอยู่ด้วยกันหลายตัวทั้ง Cercosi Alternaria Phomopsis และ Scptoria โดยแต่ละชนิดจะเข้าทำลายและก่อให้เกิดอาการส่วนใหญ่โดยทั่วไปคล้ายๆ กันจะมีผิดกันก็เพียงข้อปลีกย่อยที่แตกต่างออกไปเท่านั้น

โรคต้นใบไหม้แห้งที่เกิดจาก Cercospora (Cercospora blight)

Cercospora ที่เป็นสาเหตุโรคต้นใบไหม้แห้งของแครอทคือ Cercospora carotae เชื้อนี้จะเข้าทำลายและก่อให้เกิดอาการกับต้นแครอทได้ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็น ต้น กิ่ง ใบ ก้านใบ และดอก บนใบ แผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม สีนํ้าตาลเทา หรือดำ เมื่อเป็นมากๆ เนื้อใบจะถูกทำลายทำให้เกิดอาการเหี่ยวแห้งกลายเป็นสีดำทั้งใบ บนกิ่งก้านและก้านใบแผลจะมีลักษณะยาวรี ขอบสีเข้ม ตอนกลางซีดจาง สำหรับดอกหากถูกเชื้อเข้าทำลายในระยะที่ดอกยังอ่อนจะแห้งตายทั้งดอก ถ้าเป็นดอกที่ผสมติดฝักแล้ว เชื้อราก็จะเข้าทำลายฝักต่อไปแต่จะไม่ทำอันตรายเมล็ดที่มี ภายในฝักนั้นแต่อย่างไร เพียงแต่เส้นใยจะไปอาศัยเกาะพักตัวอยู่ตามเปลือกและผิวของเมล็ดดังกล่าวเพื่อข้ามฤดู และใช้เมล็ดนั้นเป็น seed-borne ต่อไป

การแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดที่จัดว่าสำคัญและดีที่สุดของโรคนี้ เกิดจากเชื้อที่ติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะของ seed-borne ดังกล่าวแล้ว ส่วนราพวกที่เกาะกินอยู่บนต้นพืชเมื่อพืชตายก็จะติดอยู่กับเศษซากที่เป็นโรคและถูกปล่อยทิ้งอยู่ตามดินแปลงปลูก พวกนี้ต่อมาจะรวมตัวกันสร้าง stroma เกิดเป็นจุดสีดำเล็กๆ ขึ้นตามบริเวณแผลที่เป็นอยู่เดิม บน stroma นี้ ก็จะเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนีเดียอีกทีหนึ่ง สปอร์พวกนี้ทำหน้าที่แพร่ระบาดก่อให้เกิดโรคกับพืชในฤดูปลูกต่อไป โดยปลิวไปตามลม นํ้า หรือติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ต่างๆ ที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนพืช และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เช่น ได้รับความชื้นพอเพียงอากาศอบอุ่น (19- 28∘ซ.) ก็จะงอกเจริญเติบโตเป็นเส้นใยจากนั้นก็จะเข้าไปใน โดยผ่านทางช่อง stomata ก่อให้เกิดโรคและสร้างสปอร์ เพื่อใช้ในการแพร่ระบาดต่อไปได้อีกภายใน 2-3 วัน ใบอ่อนของแครอทจะถูกเชื้อทำลายและเสียหายได้ง่ายกว่าใบแก่

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกแครอทซํ้าลงในดินหรือแปลงที่เคยเกิดโรคมาก่อนหรือปลูกพืชอย่างอื่นสลับเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

2. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจควรนำเมล็ดมาแช่ในน้ำอุ่น 50°ซ. นาน 15-20 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเคมี เช่น ไฟกอน สเปอร์กอน แคปแตน ไธแรม หรือมาเน็บ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในปริมาณ 0.5% ของน้ำหนักเมล็ด หากจะชั่งเป็นน้ำหนักก็ประมาณ 5-8 กรัม เมล็ด 1 กก. แล้วจึงค่อยนำไปปลูก

3. เมื่อเกิดโรคขึ้นกับแครอทในแปลงปลูกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อรา เช่น มาเน็บ หรือซีเน็บ ในอัตราส่วน 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 7-10 วันแต่ถ้าระบาดรุนแรงและสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเกิดและระบาดของโรคให้ย่นระยะเวลาใช้ยาให้สั้นลงเป็น 3-5 วันต่อครั้ง ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีนี้กับแครอท คือ ไม่ควรใช้กับต้นอ่อนที่มีอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ เพราะอาจเป็นอันตรายกับต้นได้

โรคต้นและใบไหม้ที่เกิดจาก Alternaria (Alternaria blight)

Alternaria เป็นราอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคต้นและใบไหม้แห้งกับพืชผักต่างๆ ได้แพร่หลาย เช่น เดียวกับเชื้อ Cercospora ชนิดที่ทำลายแครอทนั้น ได้แก่ Alternaria dauci

อาการเริ่มแรกเมื่อแครอทถูกเชื้อนี้ขึ้นเกาะกินคือเกิดเป็นจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบเหลือง โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นบริเวณริมขอบใบ อากาศที่ชื้นมากๆ จะยิ่งช่วยส่งเสริมความรุนแรงของโรคให้ทวียิ่งขึ้น โรคจะระบาดกระจายอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดโรคขึ้นกับต้นพืชทั่วทั้งแปลง นอกจากที่ใบแล้วหากเชื้อเข้าทำลายส่วนก้านใบก็จะเกิดแผลเซลล์ตายเป็นจุดสีนํ้าตาลเข้มหรือดำขึ้นเช่นกันโดยจะมีลักษณะเป็นแผลยาวตามส่วนของก้านนั้น แผลเหล่านี้จะมีผลทำใหใบแห้งตายทั้งใบแม้ว่าเนื้อใบจะไม่ได้ถูกเชื้อเข้าทำลายเลย หากเกิดโรคขึ้นในระยะที่เป็นต้นกล้าหรือต้นอ่อนอาการอาจรุนแรงทำให้ต้นแห้งตายทั้งต้นคล้ายกับ damping-off

การอยู่ข้ามฤดูและการระบาด

เชื้อ Alternaria dauci สามารถเกาะติดหรือเข้าไปอาศัยอยู่ที่เมล็ดพันธุ์ ทำให้อยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดไปยังที่อื่นๆ ได้เช่นเดียวกับเชื้อ Cercospora สำหรับเชื้อที่ขึ้นกินอยู่บนต้นพืชนั้นเมื่อต้นตายก็จะอาศัยเกาะกินเศษซากที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ตามดินต่อไปได้อีก เมื่อมีการปลูกแครอทซํ้าลงไปในดินเดิม ก็จะกลับขึ้นมากินพืชปลูกได้ใหม่ ส่วนการระบาดในแปลงระหว่างฤดูปลูกเกิดขึ้นได้โดยสปอร์หรือโคนีเดียซึ่งสร้างขึ้นจากต้นที่เป็นโรคอยู่เดิมถูกพัดพาให้กระจายออกไป โดยลม น้ำฝน หรือน้ำที่ใช้รดให้กับต้นพืช แมลง เครื่องมือเกษตรกรรม และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด

การเข้าทำลายพืชของเชื้อ Alternaria dauci ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับ C.carotae สปอร์ของ A.dauci เมื่อตกลงบนพืชแล้วกว่าจะงอกเป็นเส้นใยและเข้าไปภายในพืชได้จะต้องใช้เวลา 8 ถึง 10 วัน หลังจากนั้นกว่าที่พืชจะแสดงอาการและสร้างสปอร์ขึ้นได้ใหม่จะใช้เวลาทั้งสิ้นนาน 2-3 สัปดาห์ การงอกของสปอร์ของรานี้ต้องการความชื้นที่ค่อนข้างมาก การระบาดของโรคนื้จึงมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศชื้น เช่นในฤดูฝนหรือระยะที่มีหมอกน้ำค้างจัด สำหรับอุณหภูมิพบว่าช่วงที่เหมาะที่สุดอยู่ระหว่าง 28 – 30°ซ

การป้องกันกำจัดโรคต้นและใบไหม้แห้งที่เกิดจาก

Alternaria dauci ทำได้โดยวิธีเดียวกันกับโรคที่เกิดจาก Cercospora carotae

โรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรีย (bacterial soft rot)

โรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรียจัดเป็นโรคสำคัญอีกโรคหนึ่งของแครอทโดยจะทำลายและก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในแปลงปลูกและหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ทั้งนี้ แครอทเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอและไวต่อการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น ตามรายงานจากผู้ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อ E. carotovora ในผักต่างๆ กล่าวว่าทุก strain ของเชื้อนี้สามารถเข้าทำลายแครอท ก่อให้เกิดการเน่าขึ้นได้

อาการโรค

การเกิดโรค หากเป็นขณะอยู่ในแปลงปลูกมักจะเริ่มตรงส่วนต่อระหว่างต้นและรากหรือหัวแครอท (crown) ที่อยู่ในดิน เชื้อจะเข้าโดยผ่านทางแผลซึ่งเกิดจากการกัดทำลายของแมลงหรือสัตว์เล็กๆ บางชนิดเช่นจิ้งหรีด หนอน หอยทาก ไส้เดือนฝอย และแผลที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำมาปฏิบัติกับต้นพืช ขั้นแรกจะเกิดเป็นจุดช้ำฉ่ำน้ำ (water soaked) เล็กๆ ขึ้นก่อน แล้วค่อยๆ ขยายโตขึ้นเกิดเป็นแผลใหญ่ ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวยุบตัวลง มีลักษณะยุ่ยเละ มีเมือกเยิ้มปกคลุมอยู่ กลิ่นเหม็นฉุนจัด หากสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย (ความชื้น 90 – 95% อุณหภูมิระหว่าง 30 – 38 ∘ซ.) อาการจะลามลงไปทำลายหัวแครอทในดินให้เน่าหมดทั้งหัวได้ภายในเวลาเพียง 2 – 3 วัน ส่วนบนพื้นดินจะสังเกตเห็นต้น ใบมีลักษณะเหลืองเหี่ยวและตายในที่สุดหากใช้มือถอนหรือ จับต้องจะขาดหลุดออกมาได้โดยง่าย

สำหรับโรคที่เกิดเป็นกับหัวแครอทหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เชื้อ อาจจะเข้าทางแผลรอยตัดหรือแผลซึ่งเกิดขึ้นที่ผิวเปลือก ขณะเก็บเกี่ยวหรือแผลที่เกิดจากการกดอัด กระแทกขณะบรรจุลงภาชนะและขนส่ง ความเสียหายระยะนี้หากเกิดขึ้น และไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลที่ดี จะรุนแรงกว่าในแปลงปลูก เพราะจะทำให้หัวแครอทที่เอามาเก็บรวมไว้ในภาชนะเดียวกันนั้นเน่าเสียหายทั้งหมด

การป้องกันกำจัด

1. ถอนทำลายต้นแครอทที่แสดงอาการให้เห็นในแปลงปลูกทันทีที่เห็นและไม่ปล่อยให้มีเศษซากพืชที่เป็นโรคเหลือทิ้งไว้

2. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 2-3 ปี

3. การเก็บเกี่ยวควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดแผลขึ้นกับหัวแครอทโดยไม่จำเป็น ในการตัดริดใบทิ้งไม่ควรตัดให้ชิดหัวควรปล่อยให้มีก้านเหลือไว้อย่างน้อย 3 – 4 นิ้ว

4. ไม่ปล่อยให้แปลงปลูกรกรุงรังเป็นที่อาศัยของแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ที่อาจกัดทำลายต้นแครอทก่อให้เกิดแผลซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น

5. หลังเก็บเกี่ยวแล้วหากมีการล้างทำความสะอาดหัวควรผึ่งลมหรือปล่อยให้แห้งนํ้าเสียก่อนจึงค่อยบรรจุลงในภาชนะ การบรรจุลงภาชนะก็ควรให้มีจำนวนและปริมาณที่พอดีไม่เบียดอัดแน่นจนเกินไปเพื่อกันการเกิดแผลช้ำหรือรอยถลอก และเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

6. ภาชนะที่ใช้บรรจุและโรงเรือนที่เก็บควรใหม่ และสะอาด หากต้องใช้ของเก่าควรฆ่าเชื้อเสียก่อนโดยแช่หรือล้างด้วยสารละลายจุนสี (CuSO4) 1/2 กก. ในนํ้า 20 ลิตร

7. รีบแยกหัวแครอทออกจากภาชนะที่บรรจุทันทีที่เห็นแสดงอาการเพื่อกันไม่ให้ระบาดลุกลามไปยังหัวอื่นๆ ที่เหลือ