โรคคราวน์กอลล์ในผักชนิดต่างๆ

(crown-gall)

โรคคราวน์กอลล์เป็นโรคของผักชนิดต่างๆ อีกโรคหนึ่งที่มีแบคทีเรียเป็นสาเหตุ แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานยืนยันเป็นทางการเกี่ยวกับโรคนี้ ตามประวัติได้มีผู้สังเกตเห็นและรายงานเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ครั้งแรกในยุโรป โดยพบเป็นกับองุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1853 ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 E.F. Smith และ Townsend นักโรคพืชชาวอเมริกันจึงแยกเชื้อจากผักที่เป็นโรคได้สำเร็จ ปัจจุบันพบว่ามีพืชต่างๆ มากกว่า 40 ตระกูลที่เป็นโรคนี้ได้ เฉพาะพืชผักที่พบว่าเป็นโรคคราวน์กอลล์ ได้แก่ มะเขือเทศ แตงต่างๆ บีท ถั่วต่างๆ มันฝรั่ง แครอท กะหล่ำ ผักกาดหอม

อาการของโรค

คราวน์กอลล์เป็นโรคที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับโรคอื่นๆโดยทั่วไปกล่าวคือแทนที่เนื้อเยื่อหรือเซลล์จะถูกทำลายให้สลายตัวหรือตายไปเนื่องจากเชื้อเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ แต่โรคนี้กลับทำให้พืชมีการสร้างเซลล์เพิ่มทวีจำนวนขึ้นมามากกว่าปกติ (hyperplasia) จนทำให้มีลักษณะเป็นปุ่มปม หรือเป็นก้อนโป่งพองใหญ่โตขึ้นมากกว่าธรรมชาติของมันที่เป็นอยู่เดิมในลักษณะที่เรียกว่า malformation หรือ fasciation อาการผิดปกติดังกล่าวอาจพบเกิดขึ้นได้บนเกือบทุกส่วนของพืช ไม่ว่าจะเป็น ต้น กิ่ง ใบ ราก แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะผักต่าง ๆ จะพบเกิดขึ้นตรงบริเวณโคนต้นที่อยู่ติดกับพื้นดินที่เรียกว่า คราวน์ (crown หรือ collar) ในต้นหนึ่งๆ อาจมีก้อนกอลล์เกิดขึ้นเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ ขนาดก็มีตั้งแต่เป็นเม็ดเล็กๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว จนโตมีเส้นผ่าศูนย์กลางหลายนิ้วขนาดลูกเทนนิสก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ของพืช และความรุนแรงของเชื้อ ส่วนลักษณะรูปร่างของกอลล์อาจเป็นก้อนกลมหรือเป็นรูปทรงอย่างไรก็ได้ ผิวนอกมักจะขรุขระคล้ายฟองนํ้า เมื่อเริ่มแสดงอาการมักจะเป็นสีขาว หรือครีมอ่อนๆ และจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลหรือเข้มขึ้นเมื่อเป็นนาน ๆ กอลล์ที่เป็นกับผักหรือพืชล้มลุกมักจะอ่อนนิ่มไม่แข็ง และไม่มีลักษณะเป็นเนื้อไม้เหมือนในพวกไม้ยืนต้น และไม้ผลบางชนิดการเกิดกอลล์พบว่าเกิดจากสารพันธุกรรมชนิดหนึ่ง คือ gene T-DNA หรือ Ti-plasmid ซึ่งมีอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรีย มีหน้าที่ควบคุมและเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ เมื่อสารนี้ถูกถ่ายทอดไปยังโครโมโซมของเซลล์พืชก็จะทำให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการบวมโป่งพองโตกว่าปกติ เป็นปุ่มปมขึ้น

สำหรับความเสียหายนั้นเนื่องจากโรคนี้เกิดเป็นกับพืชได้ทุก ระยะการเจริญเติบโตโดยเฉพาะผัก ถ้าเป็นในระยะที่เป็นต้นอ่อนจะทำให้หยุดการเจริญเติบโตแคระแกร็นอ่อนแอเป็นช่องทางให้โรคอื่นๆ เข้าทำลายได้ง่ายขึ้นและไม่คงทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแม้แต่เพียงเล็กน้อย สำหรับในต้นโตก็จะไม่สมบูรณ์เก็บเกี่ยวผลได้น้อย หรือทำให้เกิดความไม่น่าดู ราคาตก

สาเหตุโรค : Agrobacterium tumefaciens

เป็นเชื้อแบคที่เรียกที่แยกออกมาจากพืชและตั้งชื่อให้ครั้งแรก โดย E.F. Smith และ Townsend เมื่อปี ค.ศ. 1907 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

การเข้าทำลายของเชื้อส่วนใหญ่จะเข้าโดยผ่านทางแผลที่เกิดจากการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับต้นพืช เช่น การพรวนดิน การตัดแต่ง ริดกิ่ง ใบ ตา หรืออื่นๆ ส่วนการอยู่ข้ามฤดูเชื้ออาจอยู่ได้ทั้งในดินในเศษซากพืชหรือในกอลล์บนพืชอาศัยสำหรับในดินหากไม่ปลูกพืชที่เป็นโรคซํ้าลงไปเชื้อจะตายภายใน 2 ปี อุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการทำให้เกิดโรคของเชื้อตั้งแต่ 25 – 30° ซ. ส่วน pH พบว่าโรคคราวน์กอลล์จะเป็นกับพืชที่ปลูกในดินที่เป็นด่างมากกว่าในดินที่เป็นกรด

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เป็นโรคได้ลงในดินที่เคยมีโรคเกิดระบาดมาก่อน หรือใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียน โดยนำเอาพืชพวกธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวฟาง หน่อไม้ฝรั่ง หรือหอมใหญ่มาปลูกสลับอย่างน้อย 3-4 ปี

2. หากไม่แน่ใจว่าดินปลูกมีเชื้อสาเหตุอยู่หรือไม่ เฉพาะแปลงกล้าให้ทำการฆ่าเชื้อในดินนั้นเสียก่อนโดยการอบด้วยความร้อนหรือไอน้ำ หรือสารเคมี เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์

คลอโรพคริน (chloropicrin) และสารละลายเมอร์คิวริคคลอไรด้ 1 : 1,000 เสียก่อน แล้วจึงค่อยปลูกพืชลงไป

3. หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดแผลกับส่วนของราก และบริเวณโคนต้น เพราะอาจเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าไปสู่ภายในพืชได้ง่ายขึ้น ส่วนการกำจัดแมลงหรือไส้เดือนฝอย ที่อาจมากัดทำลายรากและต้นพืชนั้นให้ใช้สารเคมีชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อ Pseudomonas solanacearum ดังได้กล่าวแล้ว

4. ปรับ pH ของดินปลูกให้เป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ