โรคของมะเขือเทศที่เกิดจากไส้เดือนฝอย

(diseases caused by nematodes)

จากรายงานการประชุมสัมมนามะเขือเทศเมืองร้อนระหว่างประเทศ ณ ศูนย์พัฒนาพืชผักแห่งเอเชียที่ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2522 พบว่ามีไส้เดือนฝอยถึง 18 ชนิด (genera) มากกว่า 160 spp. ทำลายมะเขือเทศในประเทศแถบร้อนทั่วโลกสร้างความเสียหายผลผลิตราว 10-15% การทำลายของไส้เดือนฝอยส่วนใหญ่จะเกิดที่รากทำให้เกิดอาการเป็นปุ่มปมเป็นแผล เน่า รากขาดกุด ฯลฯ พืชใช้รากไม่เต็มที่ผลที่เกิดติดตามมาคือ พืชเหลือง แคระแกรน ผลิตผลต่ำ เหี่ยวและตายในที่สุด อย่างไรก็ดีในบรรดาโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยทั้งหมดนั้นปรากฏว่าโรครากปมที่เกิดจาก Meloidogyne spp. จะพบบ่อยและทำความเสียหายให้กับ มะเขือเทศมากที่สุด

ไส้เดือนฝอยรากปม (root knot nematodes)

เกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอยใน genus Meloidogyne ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลาย species เช่น M. hapla M. arenaria M. javanica และ M. incognita สำหรับในประเทศไทยจากรายงานการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก M. incognita รองลงมาก็ได้แก่ M. javanica ซึ่งพบบ้างแต่ไม่แพร่หลายนักจะมีระบาดทำความเสียหายเฉพาะในบางท้องถิ่นเท่านั้น

ความรุนแรงของโรค

ในประเทศไทยจะพบได้ในเกือบทุกแห่งที่มีการปลูกมะเขือเทศโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานซึ่งมีดินปลูกลักษณะเป็นดินร่วนและดินปนทราย สำหรับภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวก็พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ดีความรุนแรงจะมากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับส่วนประกอบต่างๆ เช่น พันธุ์ อายุของพืชหากเป็นในระยะกล้าจะรุนแรงกว่าต้นที่โตแล้ว ปริมาณและจำนวนไส้เดือนฝอยที่มีอยู่ในดิน และลักษณะภูมิประเทศหรือสภาพแวดล้อมเช่นชนิดลักษณะดิน อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง ธาตุอาหารและเกลือแร่ที่มีอยู่ในดินนั้น ใต้นอ่อนหรือต้นกล้าหากถูกเชื้อเข้าทำลายและสิ่งแวดล้อมเหมาะสมความเสียหายอาจสูงถึง 85% แต่ถ้าเป็นในระยะที่พืชโตเต็มที่เมื่อเริ่มออกดอกจะเสียหายราว 40-45%

ลักษณะของ Meloidogyne sp.

ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักจากไข่ทั้งเพศผู้และเมียจะมีลักษณะเหมือนกันคือเป็นตัวยาวๆ คล้ายเส้นด้าย พวกนี้จะเคลื่อนตัวไปตามดินเมื่อพบรากพืชก็จะเจาะไชฝังตัวเข้าไปภายในรากปกติแล้วจะเกิดตรงส่วนปลายรากแล้วดูดกินอาหาร จากเซลล์บริเวณดังกล่าวขณะเดียวกันก็จะปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมาจากตัวโดยผ่านทาง stylet ออกมายังเซลล์ข้างเคียงมีผลทำให้เกิดการทวีจำนวนและขยายตัวของเซลล์สร้างเป็นปม ปมโตขึ้น ตัวอ่อนทั้งเพศผู้และเมียของไส้เดือนฝอยจะอาศัยเกาะกินอยู่ภายในรากพืชราว 2-3 สัปดาห์ ตัวผู้ซึ่งขณะนี้ โตเต็มที่กลายเป็นตัวแก่แล้วก็จะเจาะรากออกมาภายนอก ส่วนตัวเมียซึ่งก็โตเป็นตัวเต็มวัยจะยังคงอาศัยเกาะกินอยู่ภายในรากพืชต่อไป ขณะเดียวกันก็จะเปลี่ยนรูปจากตัวซึ่งเดิมยาวเป็นเส้นกลายเป็นอ้วนกลมคล้ายลูกฝรั่งหรือลูกแพร ตัวเมียจะแก่เต็มที่และออกไข่ได้ภายใน 20-30 วัน หลังจากที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรากพืชโดยอากาศยิ่งอุ่นเวลาก็จะยิ่งสั้นลง ในการวางไข่นี้ตัวเมียจะยื่นส่วนท้าย (posterior end) ออกมาภายนอกราก ไข่จะเกาะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มภายในสาร เหนียวๆ คล้ายเยลลาติน และเมื่อถูกอากาศภายนอกก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วดำในที่สุดจากนั้นก็จะหลุดออกจากผิวราก เมื่อได้รับความชื้นออกซิเจนและอุณหภูมิพอเหมาะก็จะฟักออกเป็นตัวอ่อนเข้าทำลายรากพืชได้อีกหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป ในทางตรงกันข้ามหากอุณหภูมิต่ำ ความชื้นน้อยจะมีผลทำให้เปลือกไข่แห้งพวกนี้ก็จะไม่ฟักเป็นตัวอาจพักอยู่เฉยๆ หรือฝ่อตายในที่สุด

การแพร่ระบาด

เกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่เป็นไข่ตัวอ่อนและตัวแก่เต็มวัยโดยติดปะปนไปกับดินส่วนของพืช เช่น หัว หน่อ ราก เหง้า การเคลื่อนย้ายกล้าที่ติดโรคแล้วไปปลูกในแปลง

อาการโรค

โดยปกติแล้วอาการที่แท้จริงคือการเกิดปมขึ้นที่ราก ซึ่งอยู่ใต้ดินไม่สามารถมองเห็นได้แต่ในบางครั้งส่วนของลำต้นที่อยู่ใต้ดินหรือระดับดินอาจถูกตัวอ่อนเกาะกินทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นได้เหมือนกัน สำหรับการบวมโตขึ้นของรากนั้นเป็นไปทั้งในลักษณะที่มีการสร้างเซลล์คอร์ติคอลเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าเดิมที่เรียกว่า proliferation หรือ hyperplasia และการที่เซลล์ขยายมีขนาดโตขึ้น (hyperthrophy) ปกติแล้วปมที่เกิดที่รากใหญ่หรือรากหลัก (main root) จะมีขนาดโตกว่าที่รากฝอยหรือรากแขนง ส่วนของปมที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ หากนำมาตรวจแยกดูจะพบเซลล์ทั้งสองลักษณะนี้ นอกจากนั้นจะพบตัวไส้เดือนฝอยในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ทั้งตัวผู้ตัวเมียและไข่ ต้นที่เกิดปมมากๆ จะเหลือรากที่ใช้ดูดอาหารได้น้อย ผลที่ตามมาซึ่งจะแสดงให้เห็นบนต้นที่อยู่เหนือดินคือ ต้นใบเหลือง ชะงักงันหยุดการเจริญเติบโต และเหี่ยวเฉาโดยเฉพาะในตอนกลางวันที่อากาศร้อนและแห้ง ซึ่งความจริงแล้วอาการทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากตัวไส้เดือนฝอย แต่เกิดจากการที่ระบบรากถูกจำกัดไปทำให้ดูดนํ้าอาหารไปเลี้ยงต้นไม่พอ

อย่างไรก็ดีมะเขือเทศที่ถูกไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลายนี้หากเป็นระยะที่ต้นโตเต็มที่แล้วและได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ปุ๋ยอาหารและความชื้นพอเพียงก็อาจจะเจริญเติบโตต่อมาได้และให้ผลผลิตเหมือหรือเท่ากับพืชปกติ

การป้องกันกำจัด

1. ไม่ปลูกมะเขือเทศซํ้าลงในดินที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนโดยเฉพาะกล้าหากจำเป็นต้องปลูกซํ้าอีกก็ให้ยกดินขึ้นเป็นร่อง แล้วอบฆ่าเชื้อในดินเสียก่อนด้วยสารเคมีที่ระเหยเป็นไอพวกfumigants ต่างๆ เช่น เมทธิลโบรไมด์ (methyl bromide) เอซีลีนไดโบรไมด์ (ethylenedibro mide) ไดโบรโมคลอโรโพรเพท (dibromochloropropane) คาร์โบฟูแรน (carbofuran) อัลดิคาร์บ (aldicarb) และอ๊อกซามิล (oxamyl)

2. หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้ทำการไถพลิกดินทันที แล้วทำการไถกลับซํ้าโดยเว้นระยะห่างกัน 2 สัปดาห์อีก 2 ครั้ง ในการไถกลับพลิกดินทุกครั้งให้ทำจากตื้นไปหาลึก โดยเริ่มทำจากหน้าดินแล้วค่อยลึกลงไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต แล้วปล่อยทิ้งดินไว้ตลอดฤดูแล้งระหว่างนั้นไม่ควรปลูกพืชใดๆ ลงไป เคยพบว่าไส้เดือนฝอยพวกนี้สามารถอาศัยอยู่ในดินได้ลึกถึง 5 ฟุต

3. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี โดยใช้พืชพวกถั่วต่างๆ ธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่างสลับ

4. การปล่อยให้น้ำท่วมแปลงหรือดินปลูกก็เป็นวีธีที่จะขจัดทำลายไส้เดือนฝอยพวกนี้ได้แต่ต้องใช้เวลานานราว 2 ปี จากการศึกษาพบว่าตัวอ่อน (larva) สามารถอยู่ได้นานถึง 4 เดือน ส่วนกลุ่มของไข่ซึ่งเกาะติดอยู่ (egg-masses จะอยู่ได้นานถึง 20 เดือน

5. การปลูกพืชดัก (catch crop หรือ trap crop) โดยการหว่านเมล็ดพืชที่ง่ายต่อการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย เช่น มะเขือเทศ แตงกวา มันฝรั่ง สปิแนซ มะเขือ ลงในดินที่มีเชื้ออาศัยอยู่มากๆ โดยใช้เมล็ดเป็นจำนวนมากๆ หว่านให้แน่น เมื่องอกเป็นต้นแล้วประมาณ 20-27 วัน จึงถอนต้นทั้งหมดขึ้นจากดินโดยระวังอย่าให้รากขาด ไส้เดือนฝอยจะถูกดักจับติดขึ้นมากับราก ถ้าจะให้ได้ผลเพื่อให้ไส้เดือนฝอยถูกจับออกมามากที่สุดควรทำซํ้าอีก 2-3 ครั้ง สิ่งที่ควรระวังคือ ในการถอนต้นพืซที่ไช้ดักจับไส้เดือนฝอยขึ้นมาจากดินต้องแน่ใจว่ารากส่วนใหญ่ถูกนำขึ้นมาหมด มิฉะนั้นแล้วกลับจะเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อให้มีมากขึ้นไปอีก