โรคชนิดใหม่ของมะม่วง

สุชาติ  วิจิตรานนท์

กลุ่มงานวิจัยโรคไม้ผล  กองโรคพืชและจุลชีววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา การออกดอกติดผลของมะม่วงเริ่มเป็นปัญหาต่อเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น บางปีออกดอกมากแต่ติดผลน้อย บางปีออกดอกน้อย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือ อุณหภูมิและความชื้น ที่อาจจะมีผลต่อความไม่สม่ำเสมอของการออกดอกติดผลของมะม่วงในแต่ละปี นอกจากนั้นมะม่วงที่ติดผลแล้วก็อาจประสบกับความเสียหายจากโรคและแมลง ทำให้เกิดอาหารผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตโดยตรง

นอกเหนือจากโรคแอนแทรกโนส และโรคราแป้ง ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมอยู่แล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงโรคหรือลักษณะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผลมะม่วงที่เริ่มพบมากขึ้น และอาจจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตได้ หากไม่ได้รับความสนใจและศึกษาถึงสาเหตุและวิธีการที่จะป้องกัน

โรคราเสี้ยน หรือโรคปลายผลเน่า

โรคนี้เรียกขชื่อตามเกษตรกรแถบ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพบลักษณะอาการของโรคเกิดกับมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งปีแรกๆจะพบเพียงไม่กี่ผล และพบอาการของโรคในปริมาณมากในฤดูมะม่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีที่มะม่วงติดผลดีมากโดยเฉพาะมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย แต่ในปีต่อๆมา พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒ เป็นปีที่มะม่วงมีการติดผลน้อยจึงไม่ค่อยพบอาการของโรคนี้มากนัก

ลักษณะอาการ

อาการเริ่มแรกจะเห็นได้ตั้งแต่ผลมะม่วงยังมีขนาดเล็กประมาณ ๓-๔ ซม. จนกระทั่งผลใหญ่ประมาณ ๑๐ ซม.ขึ้นไป ปลายผลจะมีลักษณะสีผิวค่อนข้างเหลืองด้านๆ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเป็นแถบๆและอาจจะดำในที่สุด แผลสีน้ำตาลหรือดำจะจำกัดอย่เพียงบริเวณปลายผล ในช่วง ๔-๕ ซม. และเมื่อผลโตขึ้นส่วนปลายที่แสดงอาการก็จะไม่ขยายใหญ่ตามแต่จะค่อยๆ แห้งดำและลีบลง

ผลที่แสดงอาการจะอยู่ได้จนกระทั่งสุก โดยที่จะเสียเพียงส่วนล่างที่มีลักษณะลีบดำ และจะไม่ลุกลามต่อไปยังส่วนที่มีสภาพดีอยู่ ขอบของแผลจะชัดเจนระหว่างบริเวณเป็นโรคซึ่งมีสีดำตัดกับสีผิวปกติซึ่งเป็นสีเขียว

เมื่อผ่าผลดูในช่วงที่แสดงอาการก้นเหลืองเริ่มแรก ภายในบริเวณปลายผลใกล้ส่วนของเมล็ดจะเป็นจุดช้ำสีน้ำตาลหรือดำ และจะค่อยๆ ลุกลามไปจนทั่วบริเวณปลายผลเป็นแผลเน่าสีน้ำตาลเข้มหรือดำ เมล็ดอ่อนจะเริ่มเสียและมีสีดำ

ลักษณะอาการดังกล่าว่พบเป็นกับพันธุ์เขียวเสวยในแหล่งปลูกของ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพียงแหล่งเดียว และอาการนี้จะพบมากในปีที่มะม่วงมีการติดผลมากและติดผลเป็นกระจุก หรือเป็นพวง สำหรับแหล่งปลูกอื่นเช่นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียบเหนือ ยังไม่พบอาการของโรคนี้

สาเหตุ

จากการแยกเชื้อสาเหตุจากตัวอย่างมะม่วงที่เป็นโรค ทั้งจากผิวภายนอกและอาการเน่าภายในผล ไม่พบเชื้อชนิดใดเลย และจากข้อมูลต่างๆในการปฏิบัติรักษาสวนมะม่วงขอเกษตรกรจำนวนหลายรายที่ประสบปัญหาโรคดังกล่าวที่รวบรวมได้ พอจะให้แนวความคิดในเรื่องของสาเหตุของลักษณะอาการดังกล่าวว่า น่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากเชื้อโรค

ลักษณะอาการดังกล่าวนั้น จะคล้ายคลึงกับการขาดธาตุแคลเซียมซึ่งพบเป็นกับมะเขือเทศ โดยจะมีลักษณะอาการก้นเน่าเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาการขาดธาตุแคลเซียมในมะม่วงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการศึกษาโดยละเอียดต่อไป

สภาพสวนและการปฏิบัติรักษามะม่วงของเกษตรกรที่พบโรคนี้ ที่คล้ายๆกัน คือ

๑.  ดินที่ปลูกเป็นดินเหนียว ซึ่งมีธาตุโปแตสเซียมสูง

๒.  มีการพ่นปุ๋ยเคมี สูตร ๐-๕๒-๓๔ ในช่วงปลายฝน ประมาณ ๒-๓ ครั้ง

๓.  มีการใช้สารโปแตสเซียมไนเตรท (๖-๐-๓๔) ฉีดพ่นกระตุ้นให้มีการออกดอก

๔.  มะม่วงเขียวเสวยในแต่ละช่อติดผลมาก ซึ่งแสดงถึงการแก่งแย่งธาตุอาหารกัน

จากข้อมุลต่างๆ นั้นจะเห็นว่า มะม่วงในสวนแถบบางคล้านั้น ได้รับปริมาณโปแตสเซียมสูงกว่ามะม่วงที่ปลูกในแหล่งอื่น ซึ่งอาจทำให้การนำธาตุแคลเซียมไปใช้ในโครงสร้างของผลเป็นไปได้น้อยและไม่พอเพียง ในขณะที่ผลมะม่วงในแต่ละช่อมีปริมาณมาก โดยที่แคลเซียมเป็นธาตุอาหารที่ทำให้เซลล์ของพืชแข็งแรงและอยู่ในระเบียบ การขาดธาตุดังกล่าวจึงอาจจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณก้นผลซึ่งอยู่ไกลที่สุดไม่สามารถจะเจริญได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการเหลืองและเน่าดำในที่สุด

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากโรคนี้มักจะเกิดเมื่อมะม่วงติดผลมาก การแก้ไขที่พอจะทำได้คือการทยอยเก็บผลที่เริ่มมีอาการปลายผลออกสีเหลืองๆ ไปขายเสียก่อนเพื่อลดการแก่งแย่งธาตุอาหาร ผลที่เหลือมักจะไม่ค่อยพบอาการ

การฉีดพ่นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเสริมพวกแคลเซียมอาจจะช่วยลดการเกิดอาการปลายผลเน่าได้ แต่ยังไม่มีการทดสอบในเรื่องนี้

โรคผลแก้วหรือผลกระเทย

มะม่วงที่กำลังติดผลไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ใด มีโอกาสที่จะพบมะม่วงผลเล็กๆ ที่มีลักษณะผิดปกติมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ชนิดพันธุ์ และมักจะพบบริเวณปลาย ๆช่อเป็นส่วนใหญ่

ผลที่มีลักษณะผิดปกตินี้อาจจะกลม หรืองอคล้ายเมล็ดถั่ว หรือเป็นรูปไต หรืออาจจะมีรูปร่างใกล้เคียงกับผลปกติของพันธุ์นั้นๆ แต่ผลมักจะไม่โตมากนัก บางครั้งอาจจะเหลืองร่วงตั้งแต่ยังเล็ก หรือถ้าโตขึ้นมาได้ขนาดก็จะไม่เกินครึ่งของผลปกติ และมักจะแตกง่าย ผลเหล่านี้จะมีลักษณะเหมือนกันคือไม่มีเมล็ด ซึ่งมักเรียกกันว่า “ผลแก้ว” หรือ “ผลกระเทย”

“ผลแก้ว” หรือ “ผลกระเทย” นี้ในไม้ผลชนิดอื่นๆก็พบได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเงาะ ซึ่งเคยเป็นปัญหาต่อเกษตรกรผู้ปลูกในระยะเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ ผลกระเทยของเงาะจะเรียกว่า “เงาะขี้ครอก” หรือ “เงาหูช้าง” ซึ่งผลจะเล็กกว่าปกติ และไม่มีเมล็ด แต่สามารถสุกและมีสีสันสวยเช่นเดียวกับเงาะปกติ

ในลิ้นจี่ก็เช่นเดียวกัน เคยมีรายงานการเกิดอาการผลกระเทยของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ในสวนเกษตรกรแถบ อ.บางคนที สมุทรสงคราม และพบเสมอๆ กับลิ้นจี่พันธุ์เดียวกันนี้ที่นำไปปลูกในแหล่งปลูกอื่น เช่น นคตพนม และศรีสะเกษ

การเกิดอาการผลแก้วหรืผลกระเทยนี้ เชื่อกันว่าเกิดจากการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ เกสรตัวผู้ที่เข้าไปผสมกับเกสรตัวเมีย ไม่แข็งแรง หรือไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่  ทำให้ไข่ไม่ได้รับการผสมที่สมบูรณ์ จึงไม่เกิดเมล็ด แต่รังไข่ยังสามารถที่จะเจริญเป็นผลได้ การเจริญของรังไข่จะเป็นไปอย่างช้าๆ และสามารถที่จะอยู่ได้จนแก่ หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ขนาดของผลจะโตเพียง ๑/๔ หรือ ๑/๓ ของผลที่สมบูรณ์เท่านั้น

ผลกระเทยในมะม่วงนั้น โดยปกติก็จะพบบ้างบริเวณปลายๆช่อดอก และมักจะร่วงหล่นไปก่อนในช่วงแรกๆ พันธุ์มะม่วงที่มักพบกระเทยเสมอๆ ได้แก่พันธุ์หนังกลางวัน ซึ่งผลมักจะไม่ร่วงง่าย พันธุ์อื่นๆ ก็มีผลกระเทยเช่นเดียวกัน เช่น พันธุ์แรด ซึ่งก็พบว่าสามารถติดผลจนแก่ได้ พันธุ์เขียวเสวย ทองดำ น้ำดอกไม้ ฯลฯ ผลกระเทยมักจะร่วงง่าย และไม่ค่อยพบเห็นว่าอยู่จนกระทั่งแก่

ในปัจจุบันพบว่า การเกิดผลกระเทยในมะม่วง เริ่มจะมีมากขึ้นทุกปี โดยในปีที่ผ่านมานี้พบมะม่วงผลกระเทยค่อนข้างมากที่สวนเกษตรกร จ.เพชรบุรี เป็นกับมะม่วงพันธุ์หนังกลางวัน ที่ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๑ สำหรับมะม่วงทางภาคเหนือ เช่น จ.น่าน พบมะม่วงผลกระเทยเป็นกับช่อดอกมะม่วงรุ่นที่บานเดือนกุมภาพันธ์ แต่ปริมาณที่พบไม่มากนัก ส่วนมะม่วงรุ่นแรกพบผลกระเทยน้อยมาก

สาเหตุการเกิดผลกระเทยในมะม่วง

ข้อมูลที่น่าจะนำไปพิจารณาหาสาเหตุการเกิดผลกระเทยนั้น ได้แก่

๑.  ปริมาณของดอกกระเทย (ดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน) มีมากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากสภาวะแวดล้อม(อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ) ที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกกระเทย หรืออาจจะเกิดจากการใช้สารเคมีบางอย่างในช่วงมะม่วงแทงช่อดอกที่กระตุ้นให้มีการสร้างดอกกระเทยมากขึ้นก็ได้ ทำให้มีการผสมระหว่างเกสรตัวผู้ของดอกกระเทยที่มีประสิทธิภาพไม่ดีกับเกสรตัวเมียมากขึ้น จึงมีผลต่อการเกิดผลกระเทยมากขึ้น

๒.  ในช่วงดอกบานไม่พบแมลงชนิดที่บินได้ เช่น ผึ้ง แมลงวัน ฯลฯ ในแปลงปลูกเลยแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งอาจจะเกิดจากในช่วงนั้นไม่มีแมลงระบาดเลย หรือมีการใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดีมาก หรือมีกลิ่นเหม็นติดอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ในช่วงดอกบานไม่มีแมลงผ่านเข้ามาในส่วนเลย จึงทำให้มีการผสมระหว่างเกสรตัวผู้จากดอกตัวผู้และเกสรตัวเมียของดอกกระเทยน้อยกว่าปกติ

๓.  การให้น้ำให้อาหารแก่ต้นมะม่วงในช่วงออกดอกติดผลและการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้มีการติดของผลกระเทยได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้เห็นผลกระเทยติดอยู่กับต้นจนกระทั่งแก่ได้

ปัญหาผลกระเทยดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่น่าจะจับตามอง เนื่องจากปริมาณการเกิดผลกระเทย พบว่ามีเพิ่มมากขึ้นทุกที การศึกษาในรายละเอียดและสาเหตุที่แท้จริงของอาการผลกระเทยควรที่จะได้รับการสนใจจากนักวิชาการในสายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี