โรคใบไหม้ของผักตระกูลกะหล่ำ

(blight or black rot)

เป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับผักต่างๆ ในตระกูล Cruciferae เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำปม กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว (brussel sprout) บร็อคโคลี่ ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดหัว ผักกาดหอม และแรดิช ฯลฯ พบโรคระบาดทั่วไปตามแหล่งที่มีการปลูกผักดังกล่าวโดยเฉพาะในฤดูฝนหรือฤดูที่มีความชื้นสูง อาจเป็นรุนแรงทำความเสียหายได้ถึง 50% ชาวสวนชาวไร่บางแห่งรู้จักกันดีในนามของโรคใบทอง โดยเรียกตามลักษณะอาการที่พืชแสดงออกเมื่อเป็นมากจะเห็นพืชทั้งแปลงมีใบแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือเหลืองคล้ายสีทอง

อาการโรค

เชื้อเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะกล้าหรือต้นอ่อนพืชมักจะตายทันทีโดยจะพบว่าที่ขอบใบหรือใบเลี้ยง มีอาการไหม้แห้ง เส้นใบเน่าเป็นสีดำ ใบที่แสดงอาการจะบางกว่าปกติ ต่อมาจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลและหลุดออกจากต้น หากไม่ตายในระยะนี้ก็จะเกิดอาการแกร็นชะงักหรือหยุดการเจริญเติบโต ใบที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นจะหลุดร่วงไป ส่วนที่เหลืออยู่จะมีสีเหลืองและเส้นใบมีสีดำ ในต้นที่โตจะพบอาการบนใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างๆ ของต้น โดยอาการจะเริ่มเหลืองและแห้งตายบริเวณขอบใบขึ้นก่อนแล้วค่อยลามลึกเข้ามาในเนื้อใบตามแนวเส้นใบที่อยู่ระดับเดียวกัน จนจรดแกนกลางของใบ ทำให้เกิดอาการเหลืองหรือแห้งเป็นสีน้ำตาลรูปตัววี (V-shaped) ขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะอาการพิเศษเฉพาะของโรคนี้ ในรายที่เป็นรุนแรงเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ที่ก้านใบ เมื่อนำเอาใบเหล่านี้มาตัดหรือผ่าออกตามขวางจะเห็นส่วนที่เป็นท่อน้ำเน่าเป็นสีดำ ในต้นที่มีอายุมากอาการเน่าดำของ vascular bundle จะลามลงไปถึงต้นและต่อลงไปยังราก พวกนี้มักจะเกิดอาการเหี่ยวและอาจเหลืองทั้งต้น ในกรณีดังกล่าวเชื้อจะถูกส่งแพร่กระจายไปทั่วต้นพืช ถ้าเป็นต้นแก่ให้เมล็ดหรือฝักแล้วเชื้อก็จะไปเคลือบอยู่ที่ผิวหรือเปลือกของเมล็ด ทำให้เกิดเป็น seed-borne ทำให้โรคติดต่อไปยังต้นที่เกิดใหม่ได้ อย่างไรก็ดี อาการบนใบผักบางชนิดอาจจะแตกต่างออกไปคือแทนที่จะเกิดอาการเหลืองหรือเเห้งจากขอบใบเข้ามาจะเกิดอาการใบจุดแทน โดยจะเกิดเป็นจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลหรือม่วงขึ้นที่เนื้อใบโดยเฉพาะในระยะที่ความชื้นสูงหรือฝนตกชุก ใบพวกนี้ในที่สุดจะเหลืองทั้งใบ เหี่ยวเฉาและหลุดจากต้น

สาเหตุโรค : Xanthomonas campestris pv. campestris

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดเป็น type species คือ ยังมี strain ต่างๆ แยกออกไปอีกหลาย strains ตามชนิดของพืชที่มันเข้าทำลายเจริญเติบโตได้ดีในอาหาร เช่น meat infusion agar YDC PDA และ Wakimoto agar โดยจะให้เคโลนีเป็นเมือกเยิ้มสีเหลืองหรือสีนํ้าผึ้ง สิ่งแวดล้อมที่ช่วยทำให้เกิดโรคดี คือ อุณหภูมิระหว่าง 27 – 30° ซ. ความชื้นสูงในฤดูฝน หรือฤดูที่มีหมอกหรือน้ำค้างจัดจะทำให้เกิดโรคได้ง่ายยและรุนแรง สำหรับการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อที่สำคัญคือติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะของ seed-borne และอาศัยเกาะกินอยู่บนเศษซากหรือต้นตอของพืชที่เหลือจากการ เก็บเกี่ยว หรืออาศัยอยู่บนต้นที่งอกขึ้นมาเองจากเมล็ดที่ร่วงหล่น อยู่ตามดิน (volunteer-seedling)

การระบาดและการเข้าทำลายพืช

การระบาดของโรคที่นับว่าสำคัญและไปได้ไกลที่สุด คือระบาดโดยเมล็ดที่มีเชื้อเคลือบเกาะติดอยู่ โดยที่เชื้อนี้จะเข้าไปในต้นพืชทันทีที่งอกจากใบเลี้ยง ไปยังใบอ่อน โดยผ่านทางช่องปากใบ (stomata) แล้วกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ทั่วต้น ทางท่อส่งน้ำภายในต้น ส่วนการติดโรคในแปลงปลูกส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อที่อาศัยอยู่ในดิน หรือที่เกาะกินอยู่กับเศษซากพืช หรือ volunteer seedling ดังกล่าวแล้ว เชื้อเหล่านั้นจะถูกน้ำที่ใช้รดหรือนํ้าฝนชะให้กระเด็นขึ้นมาหรือพัดพาไปยังต้นพืชที่ปลูกแล้วเข้าไปภายในต้น โดยผ่านทางช่องคายน้ำ (hydratode) บริเวณขอบใบ หรือทางแผลที่เกิดจากการกัดทำลายของแมลง ต่อมาก็จะถูกส่งไปอยู่ส่วนอื่นๆ ของต้นโดยผ่านทาง vascular system ก่อให้เกิดอาการ ดังกล่าวขึ้นในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจก็ให้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดเสียก่อนโดยการจุ่มแช่ในสารเคมี agrimycin 1,000 ppm. 30 นาที ปล่อยให้แห้งแล้วจึงค่อยนำไปปลูกหรืออาจใช้วิธีจุ่มแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 49 – 50°ซ. นาน 30 นาทีก็ได้

2. งดปลูกพืชลงในดินที่เคยมีโรคเกิดระบาดมาก่อนหรือไม่ก็ใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี

3. เก็บทำลายเศษซากพืซที่แสดงอาการของโรค ให้หมดโดยการฝังดินลึกๆ หรือเผาไฟ ไม่ปล่อยให้มีวัชพืช หรือพืชอาศัยที่อยู่ในตระกูลเดียวกับผักดังกล่าวหลงเหลืออยู่ในบริเวณหรือใกล้เคียงแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อ

4. ระวังเรื่องการใช้ปุ๋ยพืชสดหรือปุ๋ยหมักให้แน่ใจว่าปุ๋ยดังกล่าวไม่ได้มาจากผักพวกเดียวกัน เพราะอาจเป็นโรคและมีเชื้อปนอยู่

5. ใช้สารเคมีฉีดฆ่าป้องกันแมลงซึ่งอาจเป็นตัวนำเชื้อหรือมากัดทำลายพืชให้เชื้อเข้าไปสู่ภายในพืชได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในระยะที่มีโรคระบาด

6. ในแปลงปลูกหากมีโรคเกิดขึ้นกับพืชต้นใดต้นหนึ่งให้รีบป้องกันต้นอื่นๆ ที่เหลือโดยการฉีดพ่นตัวสารเคมี เช่น สเตรปโตมายซินหรือแอกริมายซิน 400 – 800 ppm. หรือพวกที่มีธาตุทองแดง เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ 8 : 8 : 100 คูปราวิท 40 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุกๆ 5-7 วันต่อครั้ง