โรคที่เกิดกับต้นอ่อนหรือกล้าผัก

โรคของต้นอ่อนหรือกล้าผักต่างๆ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดแต่ที่ทราบและรู้จักกันดีที่สุด ได้แก่ โรคโคนเน่าคอดิน (damping-off) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วๆ ไปว่าโรคกล้าตายพราย  ซึ่งจัดว่าเป็นโรคระบาดสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับผักมากมายหลายชนิด หลายตระกูลในเกือบทุกสภาพของดินและภูมิอากาศตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโต

เชื้อสาเหตุและอาการของโรค

โรคโคนเน่าคอดินมีสาเหตุมาจากเชื้อราหลายชนิด แต่ที่สำคัญและพบเสมอเกิดจากรา 2 genera ในตระกูล Phythiaceae คือ Pythium และ Phytophtbgxa ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน (soil inhabitant) โดยที่รานี้จะเข้าทำลายพืชในช่วงแรกของการเจริญเติบโตได้ทุกระยะเริ่มตั้งแต่เมล็ดที่หว่านเพาะลงในดินทำให้เมล็ดเสีย เกิดอาการเน่าฝ่อหมดไม่สามารถงอกออกมาเป็นต้นได้ ระยะนี้เรียกว่า seed rot ส่วนเมล็ดที่รอดพ้นจากการทำลายระยะแรกสามารถงอกขึ้นเป็นต้น เชื้อก็จะเข้าทำลายต่อทำให้ต้นที่เพิ่งเริ่มงอกตายเสียตั้งแต่ยังอยู่ในดินนั่นเอง การทำลายต้นอ่อนตั้งแต่อยู่ในดินนี้เรียกว่า pre-emergence damping-off การที่หว่านเมล็ดลงในดินแล้วไม่มีต้นกล้างอกขึ้นมาให้เห็น หากไม่เป็นเพราะเมล็ดเก่าเก็บ คุณภาพเสื่อมแล้ว ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการทำลายของเชื้อทั้งสองระยะดังกล่าว ในกรณีที่เมล็ดไม่ถูกทำลายไม่มี pre-emergence damping-off หรืออาจมีแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งหมด กล้าบางต้นอาจงอกขึ้นมาเหนือผิวดินให้เห็นได้ พวกนี้ก็อาจถูกเชื้อเข้าทำลายให้ตายต่อไปได้อีก คือจะสังเกตเห็นหลังจากที่ต้นกล้าอ่อนงอกขึ้นมาระยะหนึ่งจะเกิดมีแผลที่บริเวณโคนต้น กล้าจะหักล้มพับลงเป็นหย่อมๆ ใบจะแห้งตายซึ่งคล้ายกับถูกนํ้าร้อนลวก อาการในต้นกล้าแต่ละต้นจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็ว การทำลายของเชื้อกับต้นกล้าอ่อนที่งอกพ้นพื้นดินขึ้นมาแล้วนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า post-emergence damping-off จุดที่เชื้อเข้าทำลายไม่ว่าจะเป็นระยะก่อนหรือหลังจากงอกขึ้นมาเหนือดินแล้วจะเกิดตรงบริเวณลำต้น (hypocotyl) ระหว่างใบเลี้ยง (cotyledon) และรากแก้ว (tap root) ปกติแล้วต้นอ่อน ของผักที่เพิ่งงอกจากเมล็ดจะมีผนังเซลล์หรือ membrane บางทำให้ส่วนของเซลล์ที่ประกอบกันเป็นเนื้อเยื่ออ่อนแอ ง่ายต่อการที่เชื้อจะเข้าทำลาย ทำให้เกิดโรค นอกจากนั้นเมื่อเข้าไปสู่ภายในได้แล้ว เซลล์พวกนี้ก็จะถูกทำลายให้ตาย สลายตัวลงอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นแผลแผ่กระจายออกไปโดยรอบอย่างกว้างขวาง ทำให้ส่วนนั้นของต้นกล้าหักพับลงในที่สุด

นอกจากอาการทำลายต้นกล้าทั้งสามระยะดังกล่าวแล้ว เมื่อต้นพืชเจริญเติบโตต่อมาพ้นระยะกล้า เชื้อราพวกเดียวกันนี้ยังสามารถเข้าทำลายส่วนต่างๆ ของพืชที่อยู่บริเวณผิวหรือใต้ดินลงไปให้เกิดอาการและความเสียหายในรูปต่างๆ ต่อไปได้อีก เช่น เข้าทำลายส่วนของรากก่อให้เกิดอาการรากเน่า (root rot) ทำลายส่วนลำต้นหรือโคนต้นให้เน่าเสีย เรียกว่าต้นเน่าหรือโคนเน่า (stem rot, foot rot หรือ wire stem) ซึ่งทั้งหมดนี้อาจมีผลทำให้ต้นพืชชะงักงันหยุดการเจริญเติบโตแคระแกร็นหรือไม่ก็เหี่ยวเฉาจนอาจถึงตายได้ในที่สุด หากเชื้อเข้าทำลายส่วนของลำต้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตรงบริเวณโคนที่อยู่ติดกับผิวดิน และเนื่องจากเป็นระยะที่พืชเจริญเติบโตขึ้นกว่าตอนแรกเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ หนาแข็งแรงขึ้น เชื้อจึงเพียงแต่จะทำให้เกิดเป็นรอยแผลขึ้นที่ผิวหรือเปลือกของลำต้นเท่านั้น ความรุนแรงและเสียหายจึงไม่สู้มากนักหากเทียบกับระยะแรก อาจทำให้เกิดเพียงอาการแคระแกร็น การเจริญเติบโตลดลง หรือไม่ก็อ่อนแอเป็นช่อง ทางให้เชื้อหรือโรคชนิดอื่นเข้าทำลายได้ง่ายและเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นรุนแรงหากแผลซึ่งเกิดที่ผิวหรือเปลือกของต้นดังกล่าวแผ่ขยายลุกลามไปจนรอบต้นก็อาจมีผลทำให้ถึงตายได้เช่นกัน หรือไม่ก็อาจหยุดการเจริญเติบโตอยู่แค่นั้น ทั้งนี้เนื่องจากส่วนที่เป็น cambium และ vascular lie จะถูกทำลายหมด พืชไม่สามารถลำเลียงนํ้าหรืออาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นได้เป็นปกติ แผลซึ่งเกิดที่ต้นนี้สังเกตเห็นได้โดยมีลักษณะแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือสีเทายุบตัวลงทำให้มองเห็นลำต้นตรงส่วนนั้นคอดเข้าไป ในรายที่เป็นมากแผลดังกล่าวอาจลุกลามไปยังก้านใบและใบที่อยู่เหนือขึ้นไปได้

ความจริงปรากฏว่ามีเชื้อราอยู่หลายชนิดด้วยกันที่ทำให้เกิดโรคในลักษณะอาการเดียวกันนี้ได้ แต่ในกรณีของกล้าผักต่างๆ นั้นเชื้อ Pythium sp. นับว่าสำคัญและพบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในระยะ pre และ post emergence เช่น Pythium ultium P. debaryanum p. arrhenomanes และ p. aphanidermatum เป็นต้น

เชื้อ Pythium จัดเป็นราชั้นต่ำใน Class Phyeomycetesเส้นใยมีลักษณะเป็นท่อยาวไม่มีผนังกั้นไม่มีสีแตกกิ่งก้านสาขาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีอาหารและสิ่งแวดล้อม เหมาะสมเมื่อโตเต็มที่ก็จะขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ทั้งวิธีที่ใช้ เพศ (sexual reproduction) และไม่ใช้เพศ (asexual repro­duction) การขยายพันธุ์แบบใช้เพศเกิดขึ้นโดยการผสมกันของ oogonium ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพศเมีย และ antheridium ทำหน้าที่เป็นเพศผู้ และผลจากการผสมกันก็จะเกิดเป็นสปอร์กลมที่มีเปลือกหรือผนังห่อหุ้มหนาที่เรียกว่า oospore ที่ทนทานต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติได้ดีและนาน การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้มักจะเกิดขึ้นในตอนปลายฤดูปลูกหรือเมื่อไม่มีพืชจะให้เกาะกินต่อไป ส่วนการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศนั้น คือ การเกิดเป็นสปอร์ที่มีหาง (flagella) สองเส้นเคลื่อนไหวได้ ที่เรียกว่า zoospores หรือ swarm cells ภายใน sporangium ซึ่งงอกจากเส้นใยโดยตรง เป็นการขยายพันธุ์แบบปกติที่เกิด และซํ้าได้หลายครั้ง ในขณะขึ้นทำลายหรือเกาะกินอยู่บนพืช ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณและแพร่ระบาดออกไปตลอดฤดูที่มีการปลูกพืช การเข้าทำลายพืชของเชื้อนี้ จะเกิดขึ้นในขณะที่เป็นเส้นใยหลังจากงอกจากสปอร์แล้ว ทั้งวิธีเจาะไชทะลุผ่านผิวพืชเข้าไปโดยตรง (direct penetration) และทางแผล หลังจากนั้นก็จะไปอาศัยเจริญอยู่ระหว่างเซลล์ cortex หรือ parenchyma และ vascular bundle โรคจะเกิดและระบาดได้ดีในดินที่ชื้นแฉะที่มีการระบายน้ำไม่ดี

นอกจากจะทำลายพืชในระยะกล้าแล้วยังพบว่าเชื้อ Pythium sp. บางตัวสามารถก่อให้เกิดโรคเน่ากับบรรดาผลิตผลและผักสดต่างๆ อีกหลายชนิดทั้งขณะยังอยู่ในแปลงปลูกและหลังเก็บเกี่ยวแล้วไม่ว่าจะเป็นขณะขนส่งหรือวางขายอยู่ตามตลาดทำให้เกิดความเสียหายต่อมาได้อีก