โรคที่เกิดกับต้นและรากของถั่ว

โรคต้นเน่าที่เกิดจากเชื้อ Sclerotinia (Sclerotinia rot)

โรคต้นเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Sclerotinia sclerotiorum จัดว่าเป็นโรคที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับพืชผักต่างๆ หลายชนิด โดยเฉพาะกับถั่ว อาการจะเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นที่อยู่เหนือดิน โดยจะก่อให้เกิดอาการช้ำแล้วตามมาด้วยอาการเน่า บริเวณโคนต้นที่ติดกับดินจะพบว่าเป็นมาก และอาจรุนแรงถึงกับทำให้ต้นถั่วตายทั้งต้นได้ ขณะเกิดโรคหากอากาศชื้น ตามบริเวณแผล จะเกิดเส้นใยสีขาวของเชื้อราเจริญขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ต่อมาจะสร้างเม็ดสเคลอโรเทียขึ้น โดยระยะแรกจะปรากฏเป็นเม็ดกลมเล็กๆ สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำเมื่อแก่

โรคเน่าที่เกิดจากเชื้อราสเครอโรติเนียนี้นอกจากจะเกิดกับต้นถั่วที่กำลังเจริญเติบโตในแปลงปลูกแล้วอาจเกิดกับฝักถั่วที่เก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะก่อให้เกิดอาการเน่าแล้วติดตามด้วยการเกิดเส้นใยสีขาว พร้อมกับเม็ดสเคลอโรเทียและกลุ่มของเส้นใยที่รวมกันเป็นแผ่นที่เรียกว่าสโตรมา (stroma)

แผ่นสโตรมาที่เกิดขึ้นนี้เมื่อตกอยู่ตามดินจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี แตถ้าสิ่งแวดล้อมเหมาะก็จะงอกได้ทันทีแล้วสร้างเป็น fruiting body รูปถ้วยที่เรียกว่า apothecium เพื่อผลิตสปอร์ใช้ในการแพร่ระบาดต่อไป

การป้องกันกำจัด

1. งดการปลูกพืชลงในดินที่เคยมีโรคเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น พวกธัญพืชซึ่งไม่ได้รับอันตราย เชื้อนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปี

2. หากเห็นโรคเกิดขึ้นกับถั่วต้นใดต้นหนึ่งในแปลงปลูกให้รีบถอนทำลายเสีย แล้วฉีดพ่นต้นถั่วและดินบริเวณใกล้เคียงด้วยสารเคมีไดคลอแรน (dichloran) ทันที

3. จุ่มหรือแช่ฝักถั่วที่เก็บเกี่ยวแล้วด้วยสารเคมี ไดคลอแรน แล้วล้างด้วยนํ้า ผึ่งให้แห้ง แล้วจึงบรรจุลงในภาชนะที่สะอาดเพื่อขนส่งและจำหน่ายต่อไป

โรครากและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium foot and root rot)

โรครากและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium จัดว่าเป็นโรคสำคัญอีกชนิดหนึ่งของถั่วโดยเฉพาะ

อาการโรค

เนื่องจาก Fusarium เป็นราที่มีกำเนิดและอาศัยอยู่ในดิน (soil borne fungus) การเข้าทำลายพืชส่วนใหญ่ จึงเกิดขึ้นที่รากและบริเวณโคนต้นที่อยู่ติดกับดิน โดยเชื้อจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อตรงส่วนดังกล่าวให้เน่าเสียหมด ทำให้รากขาดกุด บริเวณโคนจะเห็นเปลือกแตกร่อนลอกหลุดออกจากต้น เป็นแผลสีนํ้าตาลคล้ำอาการอย่างอื่นที่อาจสังเกตเห็นได้ภายนอกคือ ต้นชะงักหยุดการเจริญเติบโต แคระ แกร็นเหลืองซีด และเหี่ยวในตอนกลางวันที่อากาศร้อนและกลับสดดังเดิมในตอนกลางคืน หากเป็นรุนแรงต้นถั่วอาจตายทั้งต้นในที่สุดในกรณีที่เป็นกับต้นกล้าหรือถั่วที่ยังอ่อนอาการจะคล้ายโรคโคนเน่าคอดินที่เกิดจาก Pythium หรือ Phytophthora ต้นที่แสดงอาการหรือตาย หากถอนขึ้นดูตรง บริเวณแผลจะพบว่ามีเส้นใยและโคนีเดียของเชื้อเป็นเส้น และผงสีชมพูอ่อนๆ อยู่ทั่วไป

สาเหตุโรค: Fusarium solani sp. phaseoli

เป็นเชื้อที่เหมือน Fusarium ทั่วๆ ไปคือมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดิน นอกจากขึ้นเกาะกินพืชที่มีชีวิตได้แล้วเมื่อพืชตายก็อาศัยกินซากอินทรีย์วัตถุในดินได้ต่อไปอีกหลายปี ตราบเท่าที่ยังมีเศษซากเหล่านั้นอยู่ สามารถระบาดโดยติดไปกับดิน เศษซากพืชที่เป็นโรคทั้งในรูปของเส้นใยและโคนีเดีย อุณหภูมิที่เชื้อนี้เจริญได้ดีพบว่าอยู่ระหว่าง 13-35°ซ ส่วนอุณหภูมิที่จะก่อให้เกิดโรคกับพืชและสร้างความเสียหายรุนแรงจะอยู่ในช่วง 22.2°ซ- 30°ซ

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงหรืองดการปลูกพืชลงในดินที่เคยมีโรคเกิดหรือระบาด หากจะใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนก็ให้ใช้พืชพวกธัญพืชเช่นข้าวโพด ข้าวฟ่าง มาปลูกสลับอย่างน้อย 6 ปี

2. เก็บถอนต้นพืชที่เป็นโรคทันทีที่เห็นหรือแสดงอาการไปทำลายโดยวิธีเผาไฟ ตลอดจนไม่ปล่อยเศษซากพืช ที่เคยเป็นโรคไว้ในแปลงหรือดินปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้ว

3. ปลูกถั่วในดินปลูกที่สะอาดที่มีการระบายน้ำดี หมั่นดูแลเอาใจใส่ให้น้ำให้ปุ๋ยเร่งให้พืชเจริญเติบโตดีและสมบูรณ์อยู่เสมอหากเกิดการติดโรคขึ้นก็จะลดความเสียหายลง

4. การเตรียมดินปลูกที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะดินเพาะกล้าอาจทำได้โดยการอบหรือรมดินด้วยความร้อนจากไอน้ำ หรือสารเคมีเช่น เฟอร์แบม ไธแรม เทอราคลอร์ และฟอร์มาลดีไฮด์

5. ใช้วิธีปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงปลูกเป็นระยะเวลานานๆ 1- 2 เดือนอาจจะทำลายเชื้อให้หมดไปจากดินได้

โรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย (nematode root knot)

เป็นโรคที่เกิดจากการเข้าทำลายส่วนราก โดยตัวอ่อนของไส้เดือนฝอย Meloidogyne sp. ทำให้ระบบรากเสียหายเกิดอาการรากบวมพองโตเป็นปุ่มปมหรือ knot ขึ้น รากพวกนี้จะไม่สามารถดูดลำเลียงนํ้า อาหารขึ้นไปเลี้ยงต้นได้เป็นปกติผลที่เกิดขึ้นตามมาคือพืชจะแสดงอาการชะงักงัน หยุดการเจริญเติบโต เหลืองซีด และเหี่ยวเฉา และอาจถึงตายในที่สุด ส่วนอาการรากปมนั้นจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อถอนต้นจากดินขึ้นมาดู

สาเหตุโรค : Meloidogyne incognita

ไส้เดือนฝอยรากปมในถั่วที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพวกเข้าทำลายส่วนรากของพืช พวกนี้จะเจริญเติบโต และมีชีวิตอยู่ได้ดีในดินโดยเฉพาะดินร่วนซุย (light sandy soil) ความชื้นปานกลางระดับ 40% ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะพบว่าในช่วง 24-30°ซ. ทั้งในการเจริญเติบโตและเข้าทำลายพืช

การแพร่ระบาด

ส่วนใหญ่โดยการติดไปกับนํ้า ดิน การเคลื่อนย้ายดิน เครื่องมือกสิกรรม เช่น จอบ เสียม เครื่องไถพรวน ยางหรือ ล้อรถแทรคเตอร์

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชซํ้าลงในดินเก่าที่เคยมีไส้เดือนฝอยระบาดทำความเสียหายมาก่อน

2. ฆ่าทำลายเชื้อในดินโดยเฉพาะดินแปลงเพาะกล้า โดยการอบรมด้วยไอนํ้าร้อนหรือสารเคมี เช่น คาร์โบฟูราน (carbofuran) เอทธีลีนไดโบรไมด์ (ethylene dibromide) เมทธิลโบรไมด์ (methyl bromide) และคลอโรพิคริน (chloropicrin)

3. เลือกปลูกถั่วโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอย