โรคผักกับการป้องกันและควบคุมโดยไม่ใช้สารเคมี

1.  โรคราน้ำค้าง

มักพบในคะน้า ผักกาด ในทุกระยะการเจริญเติบโต ถ้าเป็นในระยะต้นกล้าจะทำให้ใบอ่อนเป็นจุดสีม่วง ถ้าเป็นกับใบแก่ ด้านบนใบจะมีสีเหลือง และใต้ใบจะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่จุดละเอียดนี้จะมีผงสีขาว จะเกิดจากใบล่าง ๆ ขึ้นไปใบที่อยู่สูงกว่าใบที่มีเชื้อรากระจายจะเหลือง ใบจะแห้งร่วงไป ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้ง แต่แผลจะแห้งเป็นสีเทาดำ

2.  โรคกุ้งแห้ง(แอนแทรกโนส)

โรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อรา สามารถเข้าทำลายทุกส่วนของพืชได้ ในพริก มะเขือและแตง เชื้อนี้แพร่ไปกับลม น้ำฝน และแฝงอยู่ในเมล็ดพันธุ์

อาการที่มองเห็นได้คือ ผล ใบของพืช จะมีแผลค่อนข้างกลม และแผลนั้นมักจะแห้งตาย

ถ้าเกิดที่กิ่งจะเห็นเป็นแผลสีน้ำตาลขยายตัวออกไปตามความยาว ใบจะร่วงโกร๋นลุกลามไปที่กิ่งจนกิ่งแห้งตาย พร้อมกับเห็นเป็นตุ่มสีดำเล็ก ๆ ที่เชื้อราสร้างขึ้นมาด้วย

ถ้าแสดงอาการที่ผล จะเห็นจุดฉ่ำน้ำเล็ก ๆ เนื้อเยื่อจะยุบตัวลง และแผลสีน้ำตาลจะขยายกว้างขึ้น ทำให้ผลพริกแห้งหงิกงอ บิดเบี้ยวและเสียรูปทรง ผลมักร่วง

การป้องกันและการควบคุม

1.  การเตรียมดินก่อนปลูก พรวนดินโดยผสมกับใบมะรุม(ใบบะค้อนก้อม) พลิกดินตากแดดจัด ๆ นาน 3-4 วัน จะฆ่าเชื้อราได้บางส่วน และยังสามารถฆ่าไข่ของแมลงและไส้เดือนฝอยในดินได้ด้วย จากนั้นผสมปุ๋ยหมัก ขี้แกลบเผา เปลือกไข่ ใบพืช กระถิน ใบถั่วมะแฮะ ใบแคฝรั่งสดลงไป คลุมด้วยใบกระถิน มะแฮะตะไคร้ หรือฟางสะอาด ทิ้งไว้ 3 วัน ก็นำกล้ามาปลูกได้

2.  แช่เมล็ดในน้ำร้อน ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที

3.  แปลงเพาะกล้า ยกให้สูงจากระดับดินประมาณ 1 ศอก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง และดินในแปลงเพาะกล้า ควรอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อนก่อน และไม่ควรเพาะกล้าหนาแน่นเกินไป เพื่อไม่ให้แปลงชื้นเกินไป และไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (พวกปุ๋ยน้ำชาหรือปุ๋ยคอก)มากเกินไป เพราะผักจะเจริญเติบโตเร็ว กล้าผักจะอวบและอิ่มน้ำ เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย

4.  วันใดที่มีฝนตกในตอนกลางคืน หรือมีหมอกจัด ต้องรดน้ำ หรือโรยขี้เถ้าบนใบพืช เพราะน้ำฝน น้ำค้าง หมอก พวกนี้มีธาตุไนโตรเจนสูง ซึ่งทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี

5.  ไม่ปลูกพืชนี้ในแปลงเดิม ให้ย้ายที่ปลูก ปลูกพืชหมุนเวียนที่ต่างชนิดต่างตระกูลกัน

6.  พบพืชแสดงอาการให้ถอนทิ้ง กำจัดหญ้า เก็บลูกที่ร่วงหล่นไปทำลาย เผา หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อกำจัดสปอร์ของเชื้อรา จากนั้นใช้น้ำปูนใสเข้มข้นฉีดพ่นในแปลงตอนเช้า พ่นในวันแดดจัดได้ยิ่งดี

3.  โรคเหี่ยว เฉาตาย โคนและรากเน่า

เมื่อมะเขือเทศจะเหี่ยวเฉาตายทั้งต้นในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อถอนต้นตรวจดูพบว่าลำต้นใกล้พื้นดินและรากเน่าเปื่อย ตัดลำต้นตามขวางเอาไปแช่น้ำ ถ้าเป็นมะเขือเทศจะมีน้ำสีขาวข้นคล้ายยางเหนียว ๆ อูนออกมาตรงรอยแผลตัด ถ้าเป็นพริกจะมีสีขาวใส ซึ่งเป็นน้ำเชื้อของบักเตรี น้ำมีกลิ่นเหม็น

การป้องกันและการควบคุม

1.  โรคนี้ชอบเกิดในดินที่เป็นด่าง ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง และดินที่ขาดธาตุไนโตรเจน เชื้อนี้จะถูกทำลายโดยกรด เพราะฉะนั้นหนทางป้องกันก็คือการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และกากพืชให้มาก) จะช่วยให้มีจุลินทรีย์ที่มาทำลายเชื้อบักเตรีนี้

2.  ถอนต้นที่เป็นโรค เผาทิ้ง ถ้าน้ำสมบูรณ์ให้ไขน้ำเข้าพื้นที่ทิ้งไว้ 2-3 วัน เชื้อก็จะหมดไป แต่ถ้าไม่มี

3.  งดเว้นการปลูกพืชตระกูล พริก มะเขือ ขิง ในพื้นที่นี้ 2-3 ปี ควรปลูกข้าวโพดหรือถั่วแทนในรุ่นต่อไป

4.  โรคเหี่ยวเหลืองตาย

ใบที่อยู่ใกล้พื้นจะเหลืองและค่อย ๆ ลุกลามขึ้นมาบนต้น ในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัด ต้นจะเหี่ยว แต่เวลากลางคืนก็กลับเป็นปกติ อาการเหี่ยวจะค่อย ๆ มากขึ้น จนในที่สุดยอดก็จะเหี่ยวตาย เมื่อถอนรากขึ้นมาดู จะพบว่ารากมีสีน้ำตาลดำโคนต้นและรากผุเปื่อย มีราเป็นผงสีขาวอมชมพูบาง ๆ ขึ้นตรงส่วนที่เป็นสีน้ำตาล

การป้องกันและการควบคุม

1.  โรคนี้เกิดจากดินที่แน่นแข็ง รดน้ำแล้วน้ำไม่ซึมลงดิน ขังอยู่ ต้องปรับปรุงดินให้ฟูขึ้น โดยใช้ปูนโดโลไมท์ เปลือกไข่เปลือกหอย หรือกระดูกสัตว์เผาป่น ผสมลงในดิน เพื่อให้ดินฟูขึ้น รากพืชแรงลงไปหาอาหารในดินได้ น้ำที่รดพืชไม่ขัง พืชก็จะไม่เป็นโรคเน่า คอดินด้วย ในดินทรายใส่ประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ ดินร่วน ใส่ 200 กิโลกรัมต่อไร่ และดินเหนียวใส่ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมปุ๋ยหมัก (ปุ๋ยคอกควรนำปหมักเสียก่อน ไม่ควรใช้สด) ปุ๋ยพืชสด ขี้เถ้า บำรุงดิน โดยนำไปคลุกเคล้ากับดินให้ทั่ว

2.  ถ้าเป็นก็ให้ถอนต้นนั้นทำลายทิ้งแล้วเอาปูนขาวไปใส่ในหลุมนั้น ถ้าดินดีอากาศไม่ชื้น ก็สามารถแก้ไขได้โดยเอาน้ำปูนใสเข้มข้น (ปูนขาว 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 3 ปี๊บ) 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 3 ส่วน ฉีดพ่นให้ทั่ว ๆ ต้นผัก

5.  โรคเรทไบท์

เป็นโรคที่เพิ่งระบาดเมื่อปี 2537 นี้ มักระบาดในมะเขือเทศ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา ซึ่งพัฒนาตัวเองให้ต้านยามาก เกิดในพื้นที่ที่ปลูกมะเขือเทศเป็นประจำและไม่ได้ปลูกพืชอื่นผสมผสานหรือหมุนเวียน มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาเคมีเป็นประจำ

มักเกิดในช่วงฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว ระบาดเร็วมาก ถ้าเกิดภายใน 3 วัน มะเขือเทศจะยุบไปเลย เกิดที่ผลและใบ โคนใบจะเป็นสีน้ำตาล มองเห็นต้นแดงไปทั้งทุ่ง แต่ใต้ใบจะเป็นสีขาว

การป้องกันและการควบคุม

1.  ปลูกพืชผสมผสานและหมุนเวียน

2.  บำรุงดินให้ดี สม่ำเสมอ โดยปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักและพืชสด) และปูนโดโลไมท์ ปูนขาว หรือเปลือกไข่ ฯลฯ

3.  เตรียมดินให้ดี

4.  เมื่อเจอให้รีบนำน้ำปูนใสไปฉีดพ่นทันที ถ้าทิ้งไว้เพียง 1-2 วัน โรคระบาดอย่างรวดเร็ว ต้องทำลายมะเขือเทศทิ้งให้หมด และงดเว้นการปลูกมะเขือเทศ พริก ไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน