โรคผัก:การป้องกันและจำกัด

โดยทั่วไปโรคสำหรับผักทำความเสียหายให้กับผักน้อยกว่าการทำลายของแมลงศัตรูพืช การป้องกันกำจัดโรคสามารถทำได้โดยง่ายหากรู้จักชนิดและสาเหตุ ของโรคเพื่อจะได้ป้องกัน-รักษาได้ถูกวิธี แต่ความเข้าใจของชาวสวนส่วนใหญ่ยังผิดอยู่ที่คิดว่าโรคและแมลงศัตรูเป็นชนิดเดียวกัน และใช้สารเคมีป้องก้นกำจัดชนิดเดียวกันได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สับสน การใช้สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชมาใช้กับโรคนั้นไม่สามารถกำจัดโรคที่ระบาดได้ ทำให้สิ้นเปลืองสารเคมีและยังจะหยุดยั้งการระบาดของโรคไม่ได้ทันท่วงที ชาวสวนควรจะรู้จักว่าโรคต่าง ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไรและจะต้องป้องกันกำจัดวิธีไหนจึงจะถูกต้อง เมื่อพบอาการของโรคในระยะเริ่มแรกจะได้รีบป้องกันได้ทันท่วงที

โรคบางโรคเกิดเฉพาะฤดูกาล เช่น เมื่อย่างเข้าฤดูหนาวมักจะมีโรครานํ้าค้าง โรคราสนิม โรคราแป้ง ในฤดูฝนจะมีโรคแอนเทรคโนสหรือใบจุด ใบเน่า ผลเน่า รากเน่า ฯลฯ เมื่อเรารู้ว่าในฤดูใดหรือเมื่อสภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร จะเกิดโรคอะไรเราก็อาจจะฉีดพ่นยาป้องกันไว้ก่อน เวลาหรือฤดูกาลที่โรคระบาดก็จะช่วยป้องกันโรคได้ทันท่วงที เรียกว่าการป้องกันโดยการทำนายล่วงหน้า

การฉีดพ่นสารเคมี ควรจะดูระดับของการระบาดว่ามากพอที่จะต้องฉีดพ่นยากันหรือยัง และมีสภาพแวดล้อมที่ช่วยเพิ่มการระบาดหรือเปล่า ถ้าเป็นเพียง เล็กน้อยในสภาพอากาศที่เหมาะกับโรคให้รอสังเกตดู ถ้าสภาพดินฟ้าอากาศขึ้นโรค ก็จะหายไปเองโดยไม่ต้องฉีดพ่นยาให้สิ้นเปลือง แต่ถ้าพบว่าโรคระบาดทำความเสียหายมากก็อย่านิ่งนอนใจรีบป้องกันกำจัดเสีย โรคบางโรคเมื่อเป็นแล้วจะเป็นติดต่อไป ในฤดูปลูกอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น

โรคแอนแทรคโนส

ถ้าไม่มีฝนตกก็อาจจะไม่มีโรคนี้หรือมี เพียงประปราย ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยา แต่ถ้ามีฝนตกติดต่อกันหลายวันหรือเป็น สัปดาห์ และโรคนี้ระบาดรวดเร็ว และร้ายแรงเวลาฝนตกหนัก เราควรฉีดพ่นยาป้องกันไว้ก่อน 1 หรือ 2 ครั้ง แล้วสังเกตอาการต่อไปว่าจะต้องฉีดพ่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ บางทีฝนหยุดตกโรคก็จะหายไปเองไม่ต้องฉีดยาก็ได้

การป้องกันโรคที่ดีโดยไม่ต้องใช้สารเคมีก็คือเราต้องเอาใจใส่เรื่องวิธีเพาะ การดูแลดิน การปฎิบัติบำรุงรักษา การระบายนํ้าในแปลงปลูกอย่าให้ขังแฉะ การ ใส่ปุ๋ยคอกให้มาก ให้ผักแข็งแรงมีความต้านทานโรค การรักษาความสะอาดแปลงผักโดยเก็บใบและถอนต้นทิ้งอย่าให้เป็นที่เพาะของโรคได้ การจัดระยะปลูกให้เหมาะสมไม่เบียดแน่นเกินไป มีการปลูกพืชสลับหมุนเวียนในแปลงปลูกโดยเลือก พืชที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลเดียวกันหรือชนิดที่เป็นโรคติดต่อกันได้ เป็นต้น

โรคเน่าเละ

ชาวสวนเรียกว่าโรคเน่า, โรคหัวเน่า เกิดกับพืชผักตระกูลกะหลํ่า เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกาดขาวปลี ผักกาดหัว จะเป็นโรคนี้มาก กะหลํ่าดอก คะน้า บร๊อคโคลี เป็นน้อย ผักกวางตุ้งและชุนฉ่าย ไม่ค่อยเป็น และผักกาดหอม แตง มะเขือ ข้าวโพด ฯลฯ

ลักษณะอาการของโรค คือ เกิดแผลฉํ่าน้ำแล้วจะเน่าอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ทำให้ยุบไปทั้งต้นหรือทั้งหัว กลิ่นเหม็นมาก

การป้องกันกำจัด

1 . เลือกใช้พันธุ์ที่ต้านทาน

2.  ใช้ยาปฏิชีวนะ (สเตรปโตมัยซิน) เช่น เอกรีมัยซิน ฉีดพ่น ทั่ว ๆ แปลงปลูก

โรคใบจุดและใบไหม้

เกษตรกรเรียกว่าโรคใบจุดแดง, โรคใบจุด, โรคใบจุดสีนํ้าตาล, โรคใบแห้ง เป็นมากกับผักตระกูลกะหล่ำทุกชนิด ผักที่เป็นโรคนี้จะเกิดจุดกลมสีนํ้าตาลเหลือง

และขยายใหญ่เป็นวงกลมซ้อนกันบนใบ แผลเก่าจะเป็นสีนํ้าตาล เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผล เป็นสีเหลืองแยกกันชัดเจน โรคนี้ไม่ทำให้ต้นตายแต่จะทำให้ผลผลิตตกตํ่าเพราะมีใบเหลืองเสียมาก

การป้องกันกำจัด

  1. ทำความสะอาดก่อนปลูกโดยแช่ในนํ้าอุ่น 50 °C นาน 20 นาที
  2. ฉีดพ่นด้วยยาโซเนป มาเนป มาโคเซป ทุกอาทิตย์ตั้งแต่ระยะต้นกล้า จนถึงระยะโตเต็มวัย

การฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราอยู่เสมอ ๆ ช่วยป้องกันเชื้อรานี้และเชื้อราอื่น ๆ อีกด้วย ยาทุกชนิดได้ผลดี ยกเว้น ยาเบนโบมิล หรือเบนเลทและกำมะถันที่ไม่ให้ผลแต่อย่างใด

โรคไส้ดำ

หรือที่ชาวสวนเรียกว่า โรคโอกึน เป็นกับผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น กะหลํ่าปลี กะหลํ่าดอก ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ไส้ของผักที่เป็นโรคจะช้ำน้ำ จะแตกแยกออก ทำให้ไส้กลวง เกิดเพราะขาดธาตุโบรอน เชื้อแบคทีเรียโรคเน่าเละ จะเข้าไปช่วยทำให้ผักเน่าอย่างรวดเร็วและเน่าตายในที่สุด บร๊อคโคลี่และกะหล่ำดอก จะแสดงอาการช่อดอกเน่าดำ ผักกาดเขียวที่เป็นโรคนี้เมื่อเอาไปดองแล้วสีจะไม่สวย

โรคเน่าคอดิน

หรือโรคกล้าเน่าตาย, โรคโคนเน่า เกิดกับแปลงเพาะกล้าของผักตระกูล ผักกาดและกะหลํ่าต่าง ๆ พริก มะเขือ มะเขือเทศ หรือเรียกได้ว่าผักทุกชนิดเป็น โรคนี้ ผักจะเริ่มเน่าที่โคนต้นเหนือระดับดินขึ้นมาเป็นแผลสีนํ้าตาล ทำให้ต้นกล้าหัก พับและเหี่ยวแห้งตายในที่สุด มักเกิดกับแปลงปลูกกล้าที่แน่นทึบเกินไปและมีความชื้นสูง

การป้องกันกำจัด

1.  อย่าหว่านเมล็ดผักให้แน่นเกินไป

2.  คลุกเมล็ดด้วยแคปแทน หรือ ไธรัม ก่อนหว่าน

3.  ใช้ยาเทอราคลอ ซึ่งเป็นยากำจัดเชื้อราที่ได้ผลดี ละลายนํ้าในอัตรา ความเข้มข้นน้อย ๆ รดแปลงกล้า 1-2 ครั้งหลังหว่านเมล็ด หรือโดยทั่วไปก็ใช้ยา ไซเนป มาเนปละลายน้ำรดก็ได้ผลบ้าง

โรคเน่าดำ

เกิดกับผักกะหลํ่าปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักที่เป็นโรค ขอบใบแห้งไปตามเส้นใบเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อเยื่อส่วนหนึ่งแห้งจะเห็นเส้นใบเป็นสีดำ ทำให้ใบเหลืองและแห้งลุกลามเข้าไปยังเส้นกลางใบ ก้านใบ จนทั่วต้นและแห้งตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1.  ทำความสะอาดเมล็ดก่อนปลูกโดยการแช่ในน้ำอุ่น 50°C. นาน 20 นาที

2.  ไม่ปลูกพืชตระกูลผักกาดและกะหล่ำซ้ำที่อย่างน้อย 2 ปี

3.  ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนไปทำลายทันที

โรครานํ้าค้าง

ชาวสวนเรียกว่าโรคใบกรอบ โรคใบลาย พบในผักกาดหอม ผักกาดขาว คะน้า ผักกาดหัว ผักกวางตุ้ง แตงกวา แตงโม บวบ มะระ ฟักทอง ฟักเขียว ที่ใบจะเกิดแผลสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลประปรายทำให้ใบแห้ง ด้านใต้ใบบริเวณแผลจะพบขุยสีขาว ซึ่งเป็นสปอร์ของเชื้อรา

การป้องกันกำจัด

ใช้ยา แมนเซท ดี หรือ ไดเธน เอม-45 ฉีด 4-7 วันก่อนออกดอก หรือใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราอื่น ๆ

โรคแอนแทรคโนส

ผักที่เป็นโรคนี้มาก คือผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว พริก (เรียกโรคกุ้งแห้ง) หอม กระเทียม แตงโม แตงกวา แตงแคนตาลูป มะระ เกิดเป็นแผลวงกลมสีนํ้าตาล หรือดำ เกิดอาการเน่า แผลบุ๋มลึกลงไปใบหักพับ เกิดทั้งที่ดอก ใบ และผล

การป้องกัน

1.  คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ปลอดจากโรคนี้ ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยยา ป้องกันเชื้อรา

2.  ฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไซเนป มาเนป ฯลฯ สัก 1 -2 ครั้ง

ต่อฤดูปลูก

โรคราแป้งขาว

เกิดกับแตงกวา แตงโม มะเขือเทศ ถั่วต่าง ๆ พริก และพืชผักต่าง ๆ จะเห็นเป็นกลุ่มราสีขาวหรือเทาบนใบ แต่พริกพบที่ใต้ใบ จะดูดนํ้าเลี้ยงจากใบทำให้ใบหงิกงอ ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและน้ำตาลระบาดง่ายในช่วงอากาศแห้งหรือหนาว

การป้องกันกำจัด

1.  ตัดใบหรือถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง

2.  ใช้กำมะถันผงละลายน้ำฉีดพ่นในอัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นในเวลาเย็น สัปดาห์ละครั้ง

3.  ถ้าเป็นรุนแรงใช้การป้องกันกำจัด เช่น เบนเลท ฟันดาโซล-50 แคราเทน พาราเทน ฯลฯ

แมลงศัตรูพืช

เป็นที่รู้ซึ้งกันดีในบรรดาผู้ที่ประกอบอาชีพปลูกผักขายว่าปัญหาที่ใหญ่ ที่สุดคือ ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เมื่อมีการระบาดอย่างหนักชาวสวนก็จำเป็นต้องฉีดพ่นยาหนักตามไปด้วย การปลูกก็ต้องลงทุนสูงขึ้น แถมบางช่วงผักราคาถูกเลยยิ่งได้กำไรน้อยหรือขาดทุนไปเลย แล้วก็มีปัญหาสารพิษตกค้างในผักที่จำหน่าย ในท้องตลาดมากเกินขีดปลอดภัย การแก้ไขปัญหาเรื่องแมลงศัตรูผักด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต, ลดอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และเมื่อผู้บริโภคเชื่อใจในความปลอดภัยผักก็จะขายได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ปลูก ผู้ขายและผู้กิน

การดำเนินการแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยวิธีการ ผสมผสานกันที่เหมาะสม ดังนี้

1.  วิธีเขตกรรม โดยเราจะต้องทำความรู้จักกับศัตรูของผักแต่ละชนิด แต่ละพี้นที่และฤดูที่พบระบาด พืชบางชนิดอาจจะเป็นที่ชื่นชอบของแมลงบางชนิดเป็นพิเศษ ก็หลีกเลี่ยงด้วยการงดปลูกผักชนิดนั้นไปสักระยะหนึ่งและปลูกพืชที่แมลงตัวดังกล่าวไม่ชอบแทนก็จะทำให้แมลงชนิดนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว แมลงศัตรูแต่ละประเภทมีความต้านทานยาต่างกัน การเลือกใช้ยากำจัดต้องเลือกให้ถูกจึงจะกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการขจัดใบผักเก่า ๆ ในแปลงให้สะอาด ขจัดหญ้าที่รก ๆ รอบแปลงอย่าให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงได้

2.  ใช้กับดักแสงไฟ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมากกับพวกผีเสื้อกลางคืนที่เป็น ศัตรูผัก จะลดปริมาณตัวแก่หรือผีเสื้อที่จะมาวางไข่ได้มาก เหมาะที่จะใช้ในแปลงที่มีไฟฟ้าเข้าถึง จะทำให้ลดการใช้สารเคมีฆ่าแมลงลงได้มาก วิธีการก็คือ ใช้หลอดไฟแบลคไลท์หรือหลอดไฟนีออนหรือตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้ในที่โล่งมองเห็นได้ชัด โดยเปิดไฟในช่วงหัวคํ่าประมาณ 1-5 ทุ่ม แขวนสูงจากพื้นประมาณ 4 เมตร หรือสูงกว่านี้เพื่อล่อให้แมลงที่อยู่ใกล้เข้ามาใกล้ แล้วค่อยลดระดับหลอดไฟลงมาต่ำ ๆ เพื่อให้แมลงตกลงไปในน้ำหรือในอ่างนํ้าผสมผงซักฟอกเพื่อลดแรงตึงผิวแมลงก็จะตกลงมาแล้วก็จมนํ้าตาย หรือถ้าล่อให้แมลงตกลงไปในบ่อที่เลี้ยงปลาแมลงก็จะกลายเป็นอาหารปลาได้อีกทางหนึ่ง

3.  ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่

– ตัวหํ้า ซึ่งกินพวกเพลี้ยอ่อนต่าง ๆ

– ตัวเบียน ได้แก่แตนเบียนที่ทำลายหนอนใบผักและหนอนคืบกะหลํ่า

-เชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อบัคเตรี บาซิลลัส ธูรินเจนซีส ที่ทำลายหนอนได้หลายชนิด และไม่มีหนอนชนิดใดต้านทานเชื้อนี้ได้ หรือเชื้อไวรัสกำจัดหนอนกระทู้หอม