โรคผัก:โรคแอนแทรคโนส

(anthracnose)

โรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum lagenarium จัดว่าเป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายร้ายแรงโรคหนึ่งสำหรับพืชตระกูลแตง จะพบระบาดแพร่หลายในเกือบทุกท้องถิ่นที่มีการปลูกแตงที่เป็นโรคนี้มากได้แก่ แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย แคนทาลูป ฟัก แฟง บวม ส่วนฟักทอง สคว๊อซก็ปรากฏว่าต้นและใบเป็นโรคได้แต่จะไม่เสียหายถึงลูกและผลที่มีอยู่มากเหมือนพวกแรก

อาการโรค

โรคแอนแทรคโนสจะเกิดเป็นได้กับทุกส่วนของต้นแตงที่อยู่เหนือพื้นดิน บนใบอาการจะเริ่มจากจุดช้ำฉ่ำนํ้าหรือจุดสีเหลืองเล็กๆ ขึ้นก่อน แล้วขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาแผลจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลหรือดำ ขนาดของแผลอาจมีต่างๆ กันตั้งแต่ 2-3 มม. จนโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซม. แผลที่เป็นนานๆ จะมีชั้นของกลุ่มสปอร์หรือโคนีเดียเป็นจุดเล็กๆ สีดำเกิดขึ้นเรียงซ้อนกันเป็นวงๆ เนื้อใบที่เป็นแผลแห้งจะบางและกรอบ บางครั้งจะขาดหลุดออกไป ทำให้เกิดเป็นแผลแหว่งหรือรูพรุนขึ้นทั้งใบ ใบพวกนี้ส่วนใหญ่จะแห้งตายทั้งใบ สำหรับกิ่งต้นหรือเถาแตงแผลที่เกิดจะคล้ายกับแผลบนใบ แต่จะมีลักษณะยาวรี ถ้าเป็นมากๆ อาจทำให้ตายทั้งต้น ส่วนบนขั้วหรือก้านของลูกหากถูกเชื้อเข้าทำลาย ในขณะที่ยังอ่อนอยู่ ลูกเหล่านี้จะหยุดการเจริญเติบโต กลายเป็นสีดำเหี่ยวย่นและตายไปขณะที่ยังเป็นผลเล็กๆ อยู่นั่นเอง บนแคนทาลูปและแตงไทย หากก้านใบถูกทำลายใบจะร่วงหลุดออกจากเถาหมด

อาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคคือ อาการที่เกิดขึ้นบนผลแตงแผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลมสีนํ้าตาลหรือดำยุบตัวลงเป็นแอ่ง บางครั้งจะมีลักษณะเป็นแผลสะเก็ด (canker) ขนาดของแผลแตกต่างกันไปตามชนิด ขนาด และอายุของผล และสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เช่น บนแตงโมหรือแคนทาลูปจะมีขนาดตั้งแต่ 0.5-4 หรือ 5 ซม. โดยแผลอาจเกิดขึ้นระดับเดียวกันกับผิวของเปลือกหรืออาจยุบตัวเป็นแอ่งลึกลงไปถึง 5-6 และในขณะที่อากาศชื้นมากๆ ตอนกลางแผลจะปรากฎมีกลุ่มของสปอร์ ลักษณะเป็นเมือกวุ้นสีชมพูเกิดขึ้นทั่วไป อย่างไรก็ตาม แผลที่เกิดขึ้นนี้จะทำลายเฉพาะส่วนเปลือกเท่านั้น โดยเฉพาะแตงโม หรือแคนทาลูป จะไม่กินลึกเข้าไปถึงเนื้อข้างใน แต่ถ้าเป็นมากๆ อาจทำให้ลูกนั้นมีรสเสียไป เช่น จืดชืด หรือขม นอกจากนั้นแผลบนลูกอาจเป็นช่องทางให้เชื้อพวกที่ก่อให้อาการเน่าเละตามเข้าไปทำลายต่อได้

สาเหตุโรค : Colletotrichum lagenarium

เป็นราพวก imperfect ใน Class Deuteromycetes ขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศโดยการเกิดสปอร์หรือโคนิเดียลักษณะ ยาวรี ไม่มีสี เซลล์เดียวบนก้าน conidiophores ที่เกิดอยู่ใน fruiting body รูปถ้วยหรือหมอน (disc orcushion-shaped) ที่เรียกว่า acervulus เชื้อ C. lagenarium สามารถอยู่ข้ามฤดูได้โดยอาศัยอยู่ในเศษซากพืชเป็นโรคที่ตกหล่นอยู่ตามดิน เกาะติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะ seed-borne และอาศัยอยู่ในวัชพืชพวกแตงที่มีอยู่ในบริเวณแปลงปลูก

สำหรับการระบาดของสปอร์หรือโคนีเดีย โดยลม น้ำ ทั้งนํ้าฝนและน้ำที่ใช้รดแปลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกหรือสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนพืชและได้รับความชื้นก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยแทงทะลุผ่านผิวพืชเข้าไปภายในได้โดยใช้เวลาประมาณ 3 วัน จากนั้นอีก 2-3 วัน ก็จะสร้างสปอร์พร้อมที่จะปลิวระบาดไปก่อให้เกิดโรคได้ใหม่อีก (สปอร์หรือโคนีเลียของพวกนี้เมื่อเกิดขึ้นและรวมกันอยู่มากๆ จะมีลักษณะเป็นวุ้นหรือขี้ผึ้งสีชมพู)

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรคปรากฏว่า C. lagenparium เป็นราที่ต้องการความชื้นสูง ทั้งในการเจริญเติบโตและการทำให้เกิดโรค โดยจะพบว่าโรคนี้ ระบาดได้ดีในฤดูฝนมากกว่าปริมาณเฉลี่ยปกติ ส่วนอุณหภูมินั้นอยู่ระหว่าง 21-27°ซ.

การรป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อหรือฆ่าทำลายเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดเช่นเดียวกันกับโรคใบจุดเหลี่ยม

2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชพวกแตงลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน โดยเว้นระยะอย่างน้อย 3-4 ปี

3. เก็บทำลายเศษซากต้นแตงที่เป็นโรคและวัชพืชพวกแตงให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก

4. เมื่อเกิดโรคขึ้นให้ฉีดพ่นต้นแตงด้วยสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

ก. เบนเลท 125-250 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร)

ข. แมนเซทหรือแมนเซทดี 50-70 กรัมต่อ นํ้า 1 ปี๊บ

ค. แอนทราโคล 20-60 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

ง. คูปราวิท หรือค๊อปปิไซด์ 20-60 กรัมต่อ นํ้า 1 ปี๊บ

จ. ซีเน็บ หรือโลนาโคล 50 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

ฉ. ไธแรม 50 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

ในกรณีที่ฉีดเพื่อป้องกันโรคให้ทำการฉีดทุกๆ  7-10 วันต่อครั้ง แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเหมาะสมและเกิดโรครุนแรงให้ลดระยะเวลาฉีดเข้ามาเป็น 3-5 วันครั้ง