โรคพืชคืออะไร

โรคพืชวิทยาตรงกับภาษาอังกฤษว่า plant pathology เป็นคำมาจากภาษากรีก 2 คำ คือ pathos หมายถึง suffering การทนทุกข์ทรมาน ความเจ็บป่วย หรือความเสียหาย และ logos หมายถึง speech การกล่าวถึง ดังนั้นโรคพืชวิทยาจึงหมายถึงการกล่าวถึงความเสียหายของพืช เพราะพืชไม่ใช้คำว่าเจ็บป่วย เราใช้เฉพาะในคนและสัตว์ ทั้งนี้อาจเนื่องจากไม่สามารถแสดงอาการของการเจ็บปวดให้เห็นได้ สำหรับพืชที่มีอาการได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้น เราเรียกว่าโรคพืช (plant disease)
พืชปกติ คืออะไร (What is healthy or normal plants)
พืชปกติคือพืชที่มีสรีระวิทยาต่างๆ ทำหน้าที่ปกติได้ดีที่สุดตามความสามารถของสายพันธุ์ หน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ การแบ่งเซล การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซล โดยแบ่งเซลไปเป็นเซลอนุพันธ์ต่างๆ (derivativecell) และไปเป็นเซลที่เริ่มต้นใหม่ต่อไป (initial cell) การเจริญของเซล การดูดซึมแร่ธาตุอาหารพืช น้ำจากดินและการเคลื่อนย้ายแร่ธาตุ นํ้าต่างๆ ในต้นพืช การสังเคราะห์แสง การเคลื่อนย้ายผลิตผลต่างๆ ที่ได้จากการสังเคราะห์แสงไปยังส่วนต่างๆ ที่ต้องการใช้ ไปยังเนื้อเยื่อที่สะสมอาหาร นำไปใช้ในการ metabolism เพื่อการสังเคราะห์สารต่างๆ ให้แก่พืช การขยายพันธุ์ และการสะสมอาหารในการอยู่ข้ามฤดูดำรงพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปตามปกติ
โรคพืช คืออะไร (What is plant diseases)
ตามความหมายในพจนานุกรมธรรมดาได้อธิบายไว้ 2 ทาง คือ
1. โรคพืชจะแสดงลักษณะอาการ (symptoms) ออกมาให้เห็นในอาการของพืชที่ได้รับความเสียหาย (malady) การผิดไปจากปกติของพืช (disorder)
2. การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ผิดไปจากพืชปกติ เช่นการเปลี่ยนแปลงทางการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของพืช โดยแสดงอาการออกมาให้เห็นทางด้านคุณภาพและ/หรือคุณค่าทางเศรษฐกิจตํ่าลง


ภาพแสดงหน้าที่ ส่วนประกอบหลักของพืชปกติ และอาการของพืชที่เป็นโรค(ที่มา : Agrios, 1978)
จากคำจำกัดความของโรคพืชนี้ จะมีความหมายคลุมไปถึงพืชที่เก็บเกี่ยวแล้ว เช่นเมล็ด หัว ผล ผักต่างๆ และไม้ ดังนั้นวิชาโรคพืชจึงไม่เพียงแต่มีขอบเขตถึงการผิดปกติของพืชที่มีชีวิตอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ได้คลุมไปถึงผลผลิตของพืชที่อยู่ระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษา และการใช้ประโยชน์อีกด้วย ดังนั้น พืชอาจเป็นโรค โดยเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งที่กำลังเจริญเติบโตตามปกติหรืออยู่ในระยะฟักตัวก็ได้
คำจำกัดความของพืชที่เป็นโรคนี้ นักโรคพืช (plant pathologist) แต่ละท่านได้ให้แนวความคิดไว้แตกต่างกันไป คือ
Julius Kuhn (1858) โรคพืช หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขบวนการทางสรีระวิทยาที่ผิดไปจากพืชปกติ ทำให้กระทบกระเทือนต่อกิจกรรมปกติในส่วนต่างๆ ของพืช
H. Warshall Ward (1896) โรคพืช หมายถึงสภาพที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช หรือทั้งต้นมีการดำรงชีวิตไม่ถูกต้องตามหน้าที่ หรือมีสรีระวิทยาผิดปกติ
Robert Hartig (1900) โรคพืช หมายถึงสภาพที่ผิดปกติ ทำให้พืชตายเป็นบางส่วน
H. Morstalt (1923) โรคพืช เป็นผลรวมในขบวนการดำรงชีวิตที่ผิดปกติของพืชทั้งหมด
H. Whetzel (1935) โรคพืช เป็นกิจกรรมทางสรีระที่ทำให้พืชเสียหาย เนื่องจากมีสาเหตุเกิดระคายเคือง ทำให้กิจกรรมของเซลผิดปกติ สภาพของลักษณะดังกล่าวจะแสดงเป็นอาการโรคให้เห็นได้
J.G. Horsfall and A.E. Diamond (1959) โรคพืชเป็นขบวนการทางหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองติดต่อกัน โรคพืชไม่ใช่สภาพ ไม่ใช่เชื้อ และไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้น
G.C. Kent (1973) โรคพืช เป็นการสูญเสียความสามารกที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานในต้น เนื่องจากการระคายเคืองเพราะเชื้อโรคเป็นสาเหตุติดต่อกันไป
จากการรวบรวมความคิดเห็นของนักโรคพืชต่างๆ โดยถือแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันและทางด้านปฏิบัติรวมกันแล้ว พอจะสรุปให้มีความหมายอย่างสมบูรณ์ และเข้าใจง่ายได้ว่า “โรคพืชเป็นการเปลี่ยนแปลงขบวนการใช้พลังงานระบบการดำรงชีวิตของพืชไปจากปกติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตํ่าลง เนื่องจากการระคายเคืองเพราะเชื้อโรคเป็นสาเหตุหรือปัจจัยอื่นๆ ติดต่อกันไป (pathogens or irritants) สาเหตุดังกล่าวอาจมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงขบวนการ พลังงานดังกล่าวนั้น ทำให้สรีระวิทยาผิดไปจากสภาพปกติ โดยพืชอาจแสดงอาการ (symptoms) ให้เห็นได้ทางสัณฐาน (morphology) สภาพของเนื้อเยื่อ (histological conditions) และโครงสร้างของเซล
สาเหตุโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต (biotic pathogens) ทำให้พืชเป็นโรคได้ดังนี้ คือ
1) ไปใช้ส่วนประกอบต่างๆ ของเซลพืช
2) ไปทำลายหรือรบกวนกลไกการ metabolism ของเซล โดยสาเหตุที่มีชีวิตนั้น สร้างเอนไซม์ (enzymes) สารพิษ (toxins) และสารควบคุมการเจริญเติบโตต่างๆ(growth-regulating substances) 3) ไปแย่งอาหารโดยการดูดซึมจากเซลพืช ทำให้พืชอ่อนแอ ไม่เจริญเติบโตตามปกติ และ
4) ไปทำให้การเคลื่อนย้ายอาหาร แร่ธาตุอาหารพืช และน้ำ ในพืชหยุดชงัก โดยเนื้อเยื่อของท่อลำเลียงของพืช ทำลายเกิดการอุดตันขึ้น
ส่วนสาเหตุของโรคที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต (abiotic pathogens) ได้แก่สภาพแวดล้อมต่างๆ (environmental factors) ไม่เหมาะสม จะไปทำความเสียหายทางด้านสภาพต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตตลอดอายุของพืช เช่น สภาพของแสง อุณหภูมิที่พืชได้รับ ตลอดจนปริมาณของแร่ธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการ
โรคพืชเป็นขบวนการ (process) กว่าโรคจะปรากฏให้เห็นได้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้นการเกิดโรคจะต้องมีสาเหตุที่พร้อมจะทำให้กิจกรรมปกติของพืชเปลี่ยนแปลงไปได้
ข้อน่าสังเกตที่เกิดกับพืช
การที่พืชผิดปกติไปนั้น อาจพบเป็นการชั่วคราวไม่ถาวร เช่นในกรณีที่เหี่ยวเพราะดินแห้งในวันที่มีอากาศร้อนจัด แล้วพืชกลับฟื้นเป็นปกติเมื่อได้รับน้ำหรืออากาศเย็นลง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากเปรียบเทียบอย่างคร่าวๆ กับคนเราก็เหมือนกับการปวดศีรษะซึ่งเป็นอาการที่เป็นอยู่ชั่วคราวไม่ถาวร ฉะนั้นการวินิจฉัยว่าพืชเป็นโรคหรือไม่นั้น ระยะเวลาในการฟื้นตัวของพืชไปสู่ภาวะปกติใช้เป็นหลักช่วยประกอบในการวินิจฉัยที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
การฟื้นคืนสู่ภาวะปกติของพืชอาจพบเกิดขึ้นกับต้นที่เป็นโรค เช่น ในข้าวโพดบางพันธุ์ ข้าวโพดสามารถออกรากใหม่ได้เร็ว เมื่อบางส่วนของรากเดิมเน่า (rot) ถูกเชื้อรา (fungi) ทำลาย แต่ต้นข้าวโพดก็ยังเจริญเติบโตให้เมล็ดได้ตามปกติ โดยข้าวโพดนั้นเป็นพันธุ์ที่สามารถออกรากใหม่ได้รวดเร็วชดเชยรากที่ถูกทำลายไป
ความสัมพันธ์ของโรคพืชวิทยากับสาขาวิชาอื่น
การศึกษาทางโรคพืชวิทยา ต้องอาศัยพื้นฐานวิชาการของสาขาวิชาอื่นประกอบและสนับสนุน เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทางวิชาการนี้บรรลุเป้าหมายในการป้องกันการเกิดโรค การระบาดของโรค จนกว่าพืชจะถึงกำหนดเก็บเกี่ยว ลดความสูญเสียจากโรค เช่น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสังคมศึกษา
โรคพืชทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจได้อย่างไร
โรคพืชทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจได้ 2 ทาง
1. โรคพืชทำความเสียหายแก่การเพาะปลูกพืช โดยทำให้ปริมาณผลผลิตน้อยลง
ก. โรคเป็นปัจจัยที่ทำลายแหล่งเพาะปลูกพืช เพราะพืชถูกโรคทำลาย (annihilate) ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่เพาะปลูกหรือปลูกพืชอื่นทดแทน เช่นโรคราสนิมของกาแฟ (coffee rust) ซึ่งเกิดจาก
เชื้อรา Hemileia vastatrix เป็นสาเหตุของโรคที่ระบาดทำความเสียหายให้แก่ประเทศลังกาก่อนปี ค.ศ 1880 และในปี ค.ศ. 1881 ก็ยังไม่สามารถแก้ไขควบคุมโรคนี้ได้ จึงต้องหันไปปลูกยางพาราและชาแทน ทำให้การเพาะปลูกกาแฟเป็นการค้าแหล่งใหญ่ของโลก ในประเทศตะวันออกไกลต้องเปลี่ยนไปอยู่ในประเทศแถบตะวันตกแทนตราบเท่าปัจจุบันนี้
โรคตายพรายของกล้วย (Panama disease) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Fusariurn oxysporum f. cubense เป็นสาเหตุ นับว่าเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดอีกโรคหนึ่ง ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตลดน้อยลง เชื้อราที่เป็นสาเหตุจะมีชีวิตอยู่ในดินได้หลายๆ ปี พืชจะแสดงอาการของโรคให้เห็นในระยะออกปลีและออกผล โดยเชื้อจะเจริญอยู่ในท่ออาหารของพืชและพืชจะเหี่ยวตายไปในที่สุด โดยไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีอื่นใดได้ นอกจากใช้พันธุ์ต้านทานโรคปลูกและวิธีการปฏิบัติต่างๆ ทางการเพาะปลูกที่เหมาะสมเสริมอีกทางหนึ่ง ส่วนการแก้ไขที่ได้ผลวิธีอื่นนั้น อาจสามารถทำได้โดยวิธีทางฟิสิกส์ โดยปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่เป็นเวลาหลายๆ ปีติดต่อกัน หรือฆ่าเชื้อในดินด้วยสารเคมีที่ต้องลงทุนสูง ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นไปได้ยาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนชั่วคราว
ข. โรคเป็นปัจจัยที่จำกัดพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ต้องหันไปปลูกพืชที่มีคุณค่าตํ่ากว่าแทนพืชที่มีคุณค่ากำไรสูงกว่าในท้องถิ่นนั้น ยังผลให้พื้นที่เพาะปลูกมีราคาตกตํ่าลง กระทบกระเทือนการลงทุนทาง
อุตสาหกรรมสร้างเครื่องมือเพาะปลูกทางการเกษตรต่างๆ เช่น โรคของต้นผักกาดหวาน ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Aphanomyces cochlioides ซึ่งอยู่ในดินระบาดทำความเสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกา และโรค bunchytop ที่เกิดจากวิสา ระบาดทำความเสียหายให้แก่กล้วยในประเทศออสเตรเลีย
2. โรคพืชทำความเสียหายแก่พืชในด้านที่ทำให้พืชมีคุณค่าหรือราคาน้อยลง เช่น ผลไม้ เป็นจุด เป็นสะเก็ด เนื่องจากโรค canker, scab, powdery scab ผลไม้มีผิวดำเพราะมีราชั้นต่ำติดอยู่ (sooty molds) ทำให้ผลิตผลจำหน่ายไม่ได้ราคา โรคบางชนิดอาจทำอันตรายถึงชีวิตแก่มนุษย์และสัตว์ได้ เช่น โรค ergot ของข้าวไรน์ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Claviceps purpurea โดยเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคสร้างสารพิษออกมาทำให้คนที่รับประทานขนมปังที่ทำจากข้าวไรน์ที่เป็นโรคนี้ได้รับอันตรายถึงชีวิตมาแล้วนับพันคน สารพิษนี้ยังพบในพืชตระกูลหญ้าที่เป็นโรคนี้หลายชนิด ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงที่กินเข้าไปโดยตรงอีกด้วย
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช