โรคพืชที่เกิดจากมายโคพลาสมา

Mycoplasmal Diseases
มายโคพลาสมา
มายโคพลาสมา เป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไปกับจุลินทรีย์พวก Mycoplasmatales ชื่อนี้ได้ถูกนำมาใช้แทน PPLO (pleuropneumonia-like organisms) เมื่อปี ค.ศ. 1929 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1956 การจำแนกและจัดหมวดหมู่ genus Mycoplasma จึงเป็นที่ยอมรับกัน โดยจัดไว้ใน order Mycoplasmataltes, class Mollicutes
Louis Pasteur เป็นนักวิทยาศาสตร์ท่านแรกที่พบมายโคพลาสมา โดยกล่าวว่า โรคที่มีอาการคล้ายนิวโมเนียของวัวและควายมีเชื้อก่อโรคเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สุด ไม่สามารถแยกเชื้อออกมาได้เนื่องจากไม่เจริญใน nutrient broth จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1898 Nocard และ Roux พบว่าเชื้อนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้บน serum-enriched media ต่อมาลักษณะของเชื้อได้ถูกบรรยายไว้ในปี ค.ศ. 1910 ว่ามีลักษณะสัณฐานไม่แน่นอน (pleomorphic) โดยใช้ชื่อ Asterococcus mycoides ตลอดจนขนาดที่สามารถผ่านเครื่องกรองบักเตรีได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ เข้าใจว่าเชื้อดังกล่าวเป็นวิสา จนกระทั่งปี ค.ศ. 1935 จึงมีผู้พบรายงาน เชื้อนี้อีกโดยพบอยู่ร่วมกับ Streptomyces moniliformis
มายโคพลาสมา เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่สามของ prokaryotic organisms ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ nucleus ไม่มีเยื่อหุ้มให้เป็นสัดส่วนแน่ชัด จัดอยู่ใน class Mollicutes ซึ่งมีอยู่อันดับเดียวคือ Mycoplasmatales โดยอันดับนี้แบ่งออกเป็น 3 families คือ
1. Mycoplasmataceae มีอยู่เพียงสกุลเดียว คือ Mycoplasma เป็นเชื้อที่ต้องการสาร sterols เพื่อการเจริญเติบโต มีปฏิกริยาต่อพิษของ digitonin ได้ดี มีสารถ่ายทอดพันธุกรรม 5×108 daltons (ประมาณครึ่งหนึ่งของ Acholeplasma)
2. Acholeplasmaceae มีเพียงสกุลเดียว คือ Acholeplasma เป็นเชื้อที่ไม่ต้องการสาร sterols 109 daltons
3. Spiroplasmataceae มีเพียงสกุลเดียว คือ Spiroplasma โดยมีสารถ่ายทอดพันธุกรรม 109 daltons
ลักษณะทั่วไปของมายโคพลาสมา
มายโคพลาสมา พบและแยกได้จากดิน น้ำโสโครก โรคเกี่ยวกับระบบหายใจของสัตว์ปีก วัวควาย คน โรคปวดบวมตามข้อของหมู ระบบอวัยวะสืบพันธุ์อักเสบของสัตว์ A.B. Sabin (1938) ได้วางกฎเกณฑ์ของเชื้อที่ถูกจัดว่าเป็นมายโคพลาสมาไว้ คุณสมบัติที่เด่นชัดต่างๆ ของมายโคพลาสมา มีรายละเอียดดังนี้
1. มายโคพลาสมาทวีจำนวนได้ในเซลที่มีชีวิต
2. มีลักษณะสัณฐานไม่แน่นอน อาจเป็นแบบกลม หรือ globules หรือเป็นสาย มีขนาดเล็ก โดยเซลระยะเริ่มแรก (elemental bodies) ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่ขยายพันธุ์ได้ มีลักษณะกลมขนาด 125-250 µ
3. ผนังเซลมีเยื่อหุ้ม 3 ชั้น (trilaminar membrane) ไม่มีผนังเซลที่แข็งคงรูป (non rigid ell wall) ไม่มี flagella และขั้นต่างๆ ของการเจริญ
4. โคโลนีของเชื้อที่เจริญในอาหารบนผิววุ้น มีโคโลนีเป็นแบบไข่ดาว (fried-egg shaped) อาจมีขนาดเล็ก 10-20µ ฝังลึกลงไปในวุ้นเฉพาะตรงกลางของโคโลนี หรือทั้งหมด
5. ส่วนมากต้องการสาร sterols หรือ โปรตีนธรรมชาติเพื่อการเจริญเติบโต ยกเว้นชนิดที่เป็น saprophyte (Mycoplasma laidlawii)
6. ทุกชนิดมีความต้านทานต่อปฏิชีวนะสารเพนนิซิลิน แต่ไวต่อเตตราไซคลิน
7. การเจริญเติบโตสามารถยับยั้งได้ด้วย antibodies
8. ไม่ได้ถือกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของบักเตรี หรือไม่ทางกลับกัน
9. มี ribosome, DNA เป็นขดยาว และ RNA เป็นเส้น
มายโคพลาสมาที่เป็นสาเหตุของโรคพืช (mycoplasmalike orgamisms or bodies, MLO or MLB)
ในปี ค.L. 1967 ได้มีรายงานพบเชื้อสาเหตุโรคพืชอีกชนิดหนึ่ง โดยนักวิจัยญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการของศาสตราจารย์ H. Asuyama แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ว่าเป็นจุลินทรีย์ คล้ายมายโคพลาสมาที่เป็นสาเหตุของโรคระบบหายใจของสัตว์ ซึ่ง Y. Doi และคณะ ได้พบจากการศึกษาภายใต้กล้องจุลทัศน์อีเล็คตรอน (electron microscope, EM) ในเซล phloem ต้นแคระแกรนของหม่อน ต้นพุ่มแจ้ของมันฝรั่งและต้นอาการเหลืองของแอสเตอร์
มายโคพลาสมาที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ นอกจากจะพบในพืชที่เป็นโรคแล้วยังพบในต่อมนํ้าลายของแมลงเพลี้ยจั๊กจั่น หรือเพลี้ยกระโดดที่เป็นพาหะของโรคอาการเหลืองของแอสเตอร์ และในเซล phloem ของต้นฝอยทองที่เป็นปรสิตของพืชที่เป็นโรคนี้อีกด้วย และ T. Ishiie และคณะได้พบว่า ปฏิชีวนะสารเตตราไซคลิน หรือโคลไรเตตราไซคลิน (chlorotetracycline) สามารถยับยั้งการเจริญของโรค อาการโรค หายไปได้ชั่วคราว ทำให้ทราบเชื้อสาเหตุของโรคเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง
มายโคพลาสมาที่พบเป็นสาเหตุโรคพืช และในแมลงพาหะ มีลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. มายโคพลาสมาที่เป็นจุลินทรีย์มีลักษณะสัณฐานคล้ายมายโคพลาสมาในสกุล Mycoplasma หรือ Acholeplasma เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลแต่มีเยื่อหุ้ม 3 ชั้น มี cytoplasm, ribosome และสารถ่ายทอดพันธุกรรมเป็นสาย มีรูปร่างกลมถึงรูปไข่ หรือเป็นสายเหมือนมายโคพลาสมาทั่วไป เจริญอยู่ใน sieve element, phloem parenchyma และแมลงพาหะ พบเจริญเป็นกลุ่มรวมกันแน่น หรือเป็นเซลรูปกลม หรือรูปไข่ เดี่ยวๆ
โรคส่วนมากถ่ายทอดด้วยแมลงเพลี้ยจั๊กจั่น บางโรคอาจเป็นเพลี้ยอื่นๆ (planthopper, treehopper, psyllids) เพลี้ยอ่อน และไร มายโคพลาสมาบางชนิดอาจทำให้แมลงพาหะเป็นโรค และทวีจำนวน ของเชื้อในแมลงนั้นได้ ในการถ่ายทอดโรคแมลงต้องใช้เวลากัดกินบนพืชที่เป็นโรค เพื่อให้เชื้อเข้าสู่แมลงเพียงพอเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือหลายวัน ให้ผลสูงเมื่อกินบนใบอ่อน หรือต้นอ่อน ที่เป็นโรคมากกว่าส่วนที่แก่กว่า เชื้อต้องพักตัวอยู่ในแมลงประมาณ 10-45 วัน จึงจะถ่ายทอดสู่ต้นพืชอื่นแล้วทำให้เกิดโรคได้ แต่


ภาพชีพจักรของ Mycoplasma laidlawii (ที่มา:Morowitz และ Fourtellote, 1962)
ขั้นต่างๆ ของการเจริญเติบโตของเชื้อในระยะต่างๆ พอแบ่งได้ 5 ระยะด้วยกัน
1. เซลระยะเริ่มต้น ขนาดเล็ก (elementary bodies)
2. เซลโตปานกลาง (intermediate) โดยเซลขยายโตขึ้นจากเซลระยะเริ่มต้น
3. เซลใหญ่ (large cell) โดยขยายใหญ่จากขนาดโตปานกลาง
4. การขยายพันธุ์ของเซลใหญ่ โดยแบ่งเซลออกเป็น 2 เซล แล้วแต่ละเซลจะเกิด inclusions ภายในโดยตรง
5. Inclusions ถูกปล่อยออกมาเป็นเซลระยะเริ่มต้นขนาดเล็ก เหมือนในระยะที่ 1 ต่อไป


ภาพไดอาแกรมของ Mycoplasma gallisepticum สาเหตุโรคระบบหายใจของสัตว์ปีก (ที่มา : Morowitz และ Fourtellote, 1962)
ทั้งนี้ต้องขึ้นกับอุณหภูมิของบรรยากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสม มีระยะฟักตัวสั้นที่สุดเป็น 30°ซ. อุณหภูมิที่มีระยะฟักตัวนานที่สุดเป็น 10°ซ. กาฟักตัวของเชื้อในแมลงนี้ สามารถทำให้มีระยะเวลาสั้นขึ้นได้ โดยการฉีดด้วยนํ้าคั้นของแมลงที่เป็นโรคนี้อย่างเข้มข้น การฟักตัวของเชื้อในแมลงนั้นก็เพื่อการทวีจำนวน และแพร่กระจายของเชื้อในแมลง โดยเจริญในเซลของลำไส้ แล้วผ่านเข้า hemolymph กล้ามเนื้อต่อมต่างๆ ฯลฯ จนสมองและต่อมน้ำลายมีเชื้อปริมาณมากพอถึงระดับที่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปต้นพืชอื่นๆ ให้เป็นโรคได้ เชื้ออยู่ในแมลงตั้งแต่ตัวอ่อน จนถึงตัวแก่ โดยการระยะการลอกคราบ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดไปยังไข่ และแมลงในชั่วถัดไปได้
มายโคพลาสมาไวต่อพิษของปฏิชีวนะสารพวกเตตราไซคลิน โดยพืชที่เป็นโรคหลังแช่ด้วยเตตราไซคลินแล้ว อาการโรคจะทุเลาลงหรือหายไป หากเป็นพืชที่ยังไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น เพราะเชื้อยังฟักตัวอยู่ในพืช อาการโรคจะไม่เกิดขึ้นหรือระยะฟักตัวของเชื้อนั้นต้องใช้เวลานานมากขึ้น การฉีดพ่นทางใบ หรือทางดินไม่ค่อยได้ผลสำหรับการใช้กับพืชขนาดใหญ่ โดยการฉีดเข้าไปในลำต้นโดยตรง ได้ผลดีอาการโรคหายไปเป็นเดือน การใช้เตตราไซคลินนี้ อาการโรคก็เกิดขึ้นได้อีก การใช้ได้ผลกับพืชที่เพิ่งเริ่มเป็นระยะแรกๆ ดีกว่าพืชที่เป็นโรคมานานแล้ว
อบฆ่าเชื้อส่วนของพืชที่ใช้ขยายพันธุ์ต่างๆ ด้วยไอร้อน อุณหภูมิ 30-37°ซ. เป็นเวลา 10 นาที จนถึง 72 ชม. แล้วแต่อุณหภูมิที่ใช้
2. มายโคพลาสมาที่เป็น Spiroplasma มีรูปร่างไม่แน่นอน ตั้งแต่กลม ไข่เล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจนถึงเป็นสายเกลียว หรือเป็นสายแตกกิ่ง ไม่เป็นเกลียว โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 120nm ยาว 2-4 µ ขึ้นอยู่กับระยะของการเจริญเติบโต มายโคพลาสมานี้ แตกต่างไปจาก MLO ที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1. พบแยกได้จากพืชที่เป็นโรคและแมลงพาหะของโรค รูปร่างเป็นเกลียวส่วนมาก หากเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว การทวีจำนวนของเชื้อยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เข้าใจว่าเป็นการแบ่งเซลจากหนึ่งเป็นสองไม่มีผนังเซล แต่มีเยื่อหุ้ม 3 ชั้น เป็นแกรมบวก หรือเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เซลที่เป็นสายเกลียวเคลื่อนที่ได้ด้วยการหมุนตัว ไม่มี flagella และโคโลนี ที่เจริญบนอาหารวุ้น ลักษณะเหมือนไข่ดาว ผิวหยาบเป็นเมล็ด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2 มม. ต้องการสาร sterol เพื่อการเจริญเติบโต สามารถยับยั้งการเจริญได้ด้วยปฏิชีวนะสารอีรายโทรมายชิน (erythromycin) เตตราไซคลิน นีโอมายซิน (neomycin) และแอมโฟเตริซิน (amphotericin) แต่ทนต่อพิษของเพนนิซิลิน
Spiroplasma นี้มีปริมาณของ DNA เท่ากับของ Acholeplasma และบักเตรีที่เล็กที่สุดเป็นสาเหตุของโรคที่รู้จักกันดี คือ citrus stubborn disease (Spiroplasma citri) corn stunt disease (corn stunt spiroplasma, CSS) เป็นต้น
3. มายโคพลาสมาที่เป็น L-form or L-phase bacteria เป็นบักเตรีที่มีผนังเซลน้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของบักเตรีในชั่วลูกหลาน มีลักษณะสัณฐานแตกต่างไปจากบักเตรี มายโคพลาสมาทั่วไป และ มายโคพลาสมาสาเหตุโรคพืช เป็นเชื้อเหมือนบักเตรีที่ถูกเพนนิซิลิน หรือปฏิชีวนะสารมาก่อน เชื้อนี้สามารถเลี้ยงได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อเหมือนบักเตรีทั่วๆ ไป แต่อาจสูญเสียความสามารถในการทำให้เกิดโรคไปจากบักเตรีปกติเดิม บักเตรีคล้ายมายโคพลาสมานี้ อาจเปลี่ยนกว้างไปเป็นบักเตรีเหมือนพ่อแม่เดิมได้ เมื่อไม่มีสารยับยั้งการสร้างของผนังเซลอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อได้ว่า L-form bacteria นี้สามารถทำให้พืชเป็นโรคได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนกลับเป็นบักเตรีเหมือนเดิม บักเตรีที่พบมี L-form bacteria คือ Agrobacterium tumefaciens สาเหตุโรค crown gall disease โดย L-form bacteria นี้ สามารถทำให้เกิดโรคได้ แยกเชื้อได้ และเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อได้เช่นเดียวกับบักเตรีเดิม
ลักษณะทั่วไปของมายโคพลาสมาสาเหตุโรคพืช (MLO)
1. พบในเซลพืชที sieve element และ companion เซลของ phloem
2. มีรูปร่างไม่แน่นอน แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของเชื้อและพืช มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ตั้งแต่ 50-800 mµ โดยระยะเริ่มแรกจะมีรูปร่างกลม (spherical bodies) ถึงรูปไข่
3. จุลินทรีย์อาจมีรูปเป็นแบบดัมเบล (dumbel) เนื่องจากการยืดตัวออกเมื่อมีการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสองเซล หรืออาจพบเป็นเส้นสาย (filamentous structures) เมื่อมีการแบ่งตัวแบบแตกตา
4. มีเยื่อหุ้ม 3 ชั้น โดยที่ 2 ชั้นรอบนอกเป็นชั้นทึบของอีเล็กตรอน (electron dense layer) เข้าไปเป็นชั้นที่โปร่งแสง เยื่อหุ้มมีความหนาประมาณ 95-100 A° (angstrom)
5. จุลินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ ภายในจะเห็นเป็นเมล็ด คล้าย ribosome (ribosome like granule) และไฟบริลล่าร์ เนต เวอร์ค (fibrillar net work) ที่มีลักษณะคล้าย nucleus ในระยะการแบ่งตัวของเซลพืชและสัตว์แบบ interphase แต่ MLO ที่มีขนาดเล็ก เห็นเพียงส่วนทึบๆ ของอีเล็กตรอนเท่านั้น
6. MLO มีทั้ง DNA และ RNA
7. สามารถเจริญได้ใน Morton’s PPLO media ซึงประกอบด้วย dehydrated Bacto-PPLO enrichment broth (Difco) 21 g. น้ำกลั่น 1,000 ml. Bacto-Chapman tellurite solution ที่มี potasium tellurite 1% จำนวน 2.85 ml และ Bacto-ascitic fluid 250 ml. แล้วปรับ pH ให้เป็น 7.8 หากใช้เลี้ยง MLO ที่เป็นสาเหตุโรคใบขาวของอ้อยในอุณหภูมิ 37-38°ซ. เชื้อเจริญเห็นอาหารขุ่นเล็กน้อย ในเวลา 36-72 ซม.
หากเลี้ยงบนอาหารที่ประกอบด้วย dehydrated Bacto-PPLO agar (Difco) 34 g. ผสมด้วย Bacto-PPLO serum fraction 10 ml และน้ำกลั่น 1000 ml- เชื้อเจริญเป็นโคโลนี มีลักษณะคล้ายไข่ดาว ภายใน 36-48 ชม.
8. สามารถยับยั้งได้ด้วยปฏิชีวนะสารเตตราไซคลิน เช่น เตตราไซคลิน ไฮโดรคลอไรด์ หรือโคโรเตตราไซคลิน ไบซัลเฟต เป็นต้น
อาการโรค
อาการของโรคพอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ ดังนี้
1. อาการเหลือง (yellow type) อาการส่วนใหญ่จะพบที่ใบโดยสีเขียวของใบจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง บางโรคอาจสีขาวซีด เช่นโรคใบขาวของอ้อย พืชมีดอก ดอกอาจผิดปกติไปจากดอกที่สมบูรณ์ เช่น สีของดอก และการบานของดอก
2. อาการใบฝอย (phyllody) อาการจะเกิดที่ตาและยอดโดยใบที่แตกออกมาจะเจริญเป็นใบที่มีขนาดเล็ก เป็นเกล็ด หากแตกออกเป็นดอก ก็จะมีจำนวนน้อยกว่าปกติ ส่วนมากจะเจริญเป็นใบที่มีขนาดเล็ก สีเขียว อาจเจริญออกเป็นกลุ่ม


ภาพ MOL ที่เจริญเต็มที่ใน sieve element และเซลระยะเริ่มแรก ขนาดเล็ก กับขนาดโตปานกลางในเซลที่อยู่ถัดไป


ภาพ MLO สาเหตุโรคอาการเหลืองของแอสเตอร์ ที่ช่องของผนังเซล (sieve pore, X 20,5000)


ภาพไดอาแกรมชีพจักรการเจริญของ MLO สาเหตุโรคอาการเหลืองของแอสเตอร์ ขั้นต่างๆ ของการเจริญ
1. เซลระยะเริ่มต้น ลักษณะค่อนข้างกลมขนาดเล็ก
2. เซลโตปานกลางโดยเซลขยายโตขึ้นจากเซลระยะเริ่มต้น มีรูปค่อนข้างกลมและรูปไข่
3. เซลใหญ่โตเต็มที่ รูปร่างไม่แน่นอน อาจเป็นรูปไข่ เป็นสาย
4. เซลแบ่งตัวหรือแตกตา
3. แคระแกรน (dwarf) ต้นจะแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตตามปกติทั้งต้น ยอดตาย
4. แตกพุ่มแจ้(witches’ broom) โดยยอดและตาจะแตกใบอ่อนมากกว่าปกติเป็นพุ่ม แน่นทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
การถ่ายทอดโรค
1. เชื้อสามารถถ่ายทอดได้โดยการทาบกิ่ง ติดตา ตอน
2. โดยแมลงพาหะ พวกเพลี้ยจั๊กจั่น หรือเพลี้ยกระโดด เพลี้ยอ่อนและแมลงอื่นบางชนิด แล้วแต่ชนิดของโรคและพืช
3. สำหรับโรคใบขาวของอ้อย พบว่าการปลูกเชื้อในการทดลองโดยวิธีกล ด้วยการแช่ตาที่ผ่านการทำแผลแทงด้วยเข็มในสารละลายที่มีเชื้ออยู่ได้
ข้อสังเกต
เนื่องจากพืชที่เป็นโรคเกิดจาก MLO มีลักษณะอาการเหมือนพืชที่เป็นโรคเกิดจากวิสาและเชื้อทั้งสองมีขนาดเล็กที่สามารถผ่านเครื่องกรองบักเตรีได้เหมือนกัน ประกอบกับโรคพืชที่พบเกิดจาก MLO นี้เป็นโรคที่ได้เคยรายงานมาก่อนแล้วว่ามีวิสาเป็นสาเหตุ A. Gibb (1969) ได้ให้ข้อสังเกตว่า โรคที่มีอาการเหลือง หรือพุ่มแจ้ ที่ถ่ายทอดได้ด้วยแมลง เพลี้ยจั๊กจั่น หรือเพลี้ยกระโดด ส่วนมากจะเป็นโรคที่เกิดจาก MLO เป็นสาเหตุ และโรคบางโรคที่ถ่ายทอดด้วยไร แมลงหวี่ขาว โดยที่ยังไม่พบอนุภาคของวิสาสาเหตุโรค โรคเหล่านั้นก็อาจจะเป็นโรคที่เกิดจาก MLO ได้
ตามที่ F.C. Bawden (1964) ได้แบ่งเชื้อที่เพลี้ยจั๊กจั่นถ่ายทอดโรคได้ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยยึดถือหลักที่เชื้ออยู่ในแมลงพาหะเพื่อเป็นเชื้อก่อโรคได้ภายใน 2-3 ชม. กลุ่มหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเชื้อต้องอยู่ในแมลงเป็นเวลาหลายวันก่อนจึงจะก่อโรคทำให้พืชติดเชื้อได้ เช่นโรคอาการเหลืองของแอสเตอร์ อาจเป็นไปได้ว่า เชื้อในกลุ่มแรก ไม่ได้ทวีจำนวนในแมลง เชื้อนี้อาจเป็นวิสา ส่วนเชื้อในกลุ่มหลังพบว่าเชื้อทวีจำนวนในแมลง ซึ่งเชื้อสาเหตุอาจเป็น MLO
โรคที่พบว่าเกิดจาก MLO กับพืชบางชนิด เชื้อก่อโรคสามารถถูกกำจัดหายไปได้ด้วยความร้อน อุณหภูมิ 45°ซ. คล้ายกับที่ใช้ในการกำจัดมายโคพลาสมาจากสัตว์ที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งลักษณะของวิสาสาเหตุโรคพืชหรือสัตว์ จะใช้ไม่ได้ผลในอุณหภูมิระดับ 45°ซ.
การควบคุมโรค
1. กำจัดแมลงเพลี้ยจั๊กจั่น หรือเพลี้ยกระโดดและแมลงอื่นที่เป็นพาหะนำโรค
2. ใช้ปฏิชีวะนะสารอ๊อคซี่เตตราไซคลิน ไฮโดรคลอไรด์ หรือโคลโรเตตราไซคลิน ไบซัลเฟต จุ่มแช่รากพืชในอัตราเข้มข้น 100-1000 ppm หรือฉีดเข้าสู่ต้นโดยตรง แล้วแต่ชนิดชองพืช การฉีดพ่นทางใบและดินมักไม่ได้ผล
3. การปฏิบัติอื่นๆ คล้ายวิธีการควบคุมโรคที่เกิดจากวิสา
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช