โรคพืิชที่เกิดจากแมลง

โรคเกิดจากแมลง ไร แมงมุม และอาร์โธรปอดอื่นๆ
PLANT INJURY CAUSED BY INSECTS, MITES, SPIDERS AND OTHER ARTHROPODS
โรคเกิดจากแมลง Plant Injury Due to Insects
ความเสียหายของพืชที่เกิดจากแมลงเป็นสาเหตุ ความเสียหายที่เกิดจากการกัด (chewing) เลีย  และแทงดูด (piercing and sucking) และความเสียหายที่เกิดจากทางเคมีร่วมด้วยโดยตรง โดยเฉพาะจากแมลงปากดูดที่ปล่อยสารพิษจากต่อมนํ้าลายลงสู่เนื้อเยื่อพืชขณะดูดกิน นอกจากความเสียหายที่ได้รับโดยตรงแล้ว แมลงยังทำความเสียหายแก่พืชโดยทางอ้อม ในการเป็นพาหะนำโรค และให้เชื้อสาเหตุ โรคอยู่ข้ามฤดู
สารพิษที่แมลงปล่อยลงสู่พืชขณะดูดกินนี้จะซึมซาบเข้าไปในเนื้อเยื่อ เป็นสาเหตุให้พืชมีอาการคล้ายกับอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อรา บักเตรี และวิสา โดยสารพิษไปรบกวนการ metabolism ของพืช เนื่องจากสารพิษดังกล่าวมีเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน cellulose และ pectin (proteolytic, cellulolytic and pectolytic enzymes) ไปแตกตัวคาร์โบไฮเดรตและสารควบคุมการเจริญเติบโตอื่นๆ
W. Carter (1962) ได้แบ่งอาการของโรคที่เกิดจากสารพิษในน้ำลายของแมลง (phytotoxemias) ไว้เป็น 4 ข้อด้วยกัน แต่การแบ่งอาจไม่แยกกันแน่ชัดนัก
1. แผลเกิดจุดตามบริเวณที่แมลงดูดกิน แผลอาจเป็น
ก.) จุดสีเขียวเข้ม เนื่องจากมีคลอโรฟิล เพิ่มมากขึ้นกว่าบริเวณข้างเคียง
ข.) จุดสีเหลือง เนื่องจากการสร้างคลอโรฟิลล้มเหลว
ค.) จุดสีขาว เนื่องจากสูญเสียส่วนประกอบต่างๆ ภายในเซล และมีอากาศอยู่เต็มแทน และ
ง.) แผลมีอาการ necrosis เนื่องจากสารพิษที่แมลงสร้างขึ้น หรือเกิดจากปฏิกริยาโต้ตอบของเนื้อเยื่อพืชต่อแมลง อาจเกิด cork หรือรงควัตถุ
การเกิดแผลอาจเป็นทั้งสี่แบบรวมกัน ทำให้เห็นแตกต่างไปได้
2. อาการแผลที่เป็นอาการจากการเจริญซ้ำเติมภายหลัง เช่นอาการ canker การเกิด cork ยางไหล ใบและผลร่วงก่อนกำหนด ปฏิกริยาที่เกิดดังกล่าว อาจเกี่ยวกับการเจริญของเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับกลไกควบคุมการเจริญเติบโตของพืช อันเกิดจากสารพิษอยู่ในนํ้าลายของ


ภาพการอยู่ข้ามฤดู และการถ่ายทอดเชื้อวิสา มายโคพลาสมา และริคเคทเซีย สาเหตุโรคในแมลง ตั๊กแตน (ที่มา : Agrios, 1978)
แมลง ส่วนการร่วงหล่นของใบและผลก่อนกำหนด อาจเป็นเพราะมีสารที่ยับยั้งการทำงานของ auxin เช่น IAA oxidase เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการเกิดอาการที่มีเชื้อราเป็นสาเหตุ
3. Hypertrophy และการเปลี่ยนรูปไป ได้แก่อาการใบหด แตกพุ่ม ปมก้อน ใบฝอย ข้อปล้อง และก้านใบสั้นเป็นพุ่ม แคระแกรน และอาการอื่นๆ ที่คล้ายกับโรคที่เกิดจากวิสา สารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการดังกล่าวนี้ยังไม่ทราบ แมลงที่ทำความเสียหาย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยจั๊กจั่นหรือเพลี้ยกระโดด มวนบางชนิด และหนอนแมลงวัน
4. อาการที่เกิดจากสารพิษของแมลงเคลื่อนย้ายจากจุดที่แมลงดูดกินบนพืช ให้พืชเกิดอาการที่ส่วนอื่น เมื่อสารพิษเคลื่อนย้ายไปถึง การเคลื่อนย้ายของสารพิษนี้มีขอบเขตจำกัด พืชจะแสดงอาการ chlorosis ใบเป็นทาง เส้นใบใส หรือเหี่ยวเล็กน้อย หากเป็นอาการที่เกิดแบบกระจายทั่วต้น พืชจะมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง รากถูกทำลาย พืชเหี่ยว อาการของโรคมักคล้ายกับพืชที่เป็นโรคเกิดจากวิสา
แมลงสำคัญที่ทำความเสียหายแก่พืช
1. Collembola ได้แก่แมลงหางดีด (springtails) ซึ่งมีบางชนิดที่กินพืช โดยทำให้ใบ ใบเลี้ยง และลำต้น เป็นรูเล็กๆ แมลงเหล่านี้ตามปกติจะไม่ทำความเสียหายมากนัก
2. Orthoptera ได้แก่ตั๊กแตนต่างๆ (grasshoppers and locust) จิ้งหรีด (crickets) และแมลงสาป (cockroaches) แมลงเหล่านี้เป็นแมลงปากกัด การทำลายพืชจะรุนแรงเมื่อตั๊กแตนเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งพบในท้องถิ่นต่างๆ เกือบทั่วโลกเป็นครั้งคราว เช่น การระบาดของตั๊กแตนปาทังก้า ทำลายข้าวโพดที่ปลูกในไร่ต่างๆ ในท้องที่จังหวัดลพบุรี และสระบุรี ที่ทำความเสียหายให้มาก เป็นต้น
ตั๊กแตนบางชนิดนอกจากทำลายพืชจากการกัดกินโดยตรงแล้ว ยังสามารถเป็นพาหะของโรคที่เกิดจากวิสาบางชนิดอีกด้วย เช่น โรคด่างเหลืองของผักกาดหัว เป็นต้น
3. Dermaptera ได้แก่แมลงหนีบ (earwigs) ทำความเสียหายแก่ใบและดอกเป็นครั้งคราว มักทำความเสียหายกับพืชไร่ไม่รุนแรงนัก
4. Isoptera ได้แก่ปลวก (termites or white ants) ปลวกนอกจากจะกัดทำความเสียหายไม้ ยังพบเป็นศัตรูทำลายราก ลำต้น โดยเฉพาะที่ระดับดิน ทำให้พืชเหี่ยวแห้ง หากเป็นกับต้นกล้าก็ทำให้ถึงตายได้
5. Thysanoptera ได้แก่เพลี้ยไฟ (thrips) เพลี้ยไฟทำความเสียหายแก่พืชในฤดูที่อากาศแล้ง และในเรือนกระจก ทำลายใบ ดอก และฝัก ทำให้เปลี่ยนรูปไป เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจะเห็นเป็นฝ้าสีขาวคล้ายเงิน การเข้าทำลายของเพลี้ยจะเกิดเป็นครั้งคราว การระบาดจะหายไปเมื่อมีฝนตก นอกจากจะทำลายพืชโดยตรงแล้ว ยังพบว่าเพลี้ยไฟสามารถเป็นพาหะของวิสาสาเหตุโรคบางชนิดอีกด้วย เช่น วิสาโรคจุดเหี่ยวของมะเขือเทศ (tomato spotted wilt virus) วิสาจุดกลมของยาสูบ (tobacco ring spot virus)
6. Hemiptera ได้แก่มวนต่างๆ (plant bugs) แมลงพวกนี้นับว่าเป็นศัตรูพืชที่สำคัญในการทำความเสียหายโดยตรง โดยการแทงและดูดกิน ในระหว่างดูดกินนี้ แมลงจะปล่อยน้ำลายซึ่งมีพิษต่อพืชทำให้พืชมีอาการต่างๆ แมลงบางชนิดเป็นพาหะของวิสานำโรคที่สำคัญ แมลงต่างๆ ได้แก่
มวนหญ้า (eapsid bugs, family Miridae และ Capsidae) น้ำลายที่แมลงปล่อยสู่พืชขณะดูดกินจะเป็นพิษต่อพืช ทำให้เนื้อเยื่อพืชเป็นจุด necrosis แล้วบิดเบี้ยวภายหลังใบจะเหลือง แผลที่ผลจะเป็นสะเก็ด ต้นกล้าอาจตายได้ อาการต่างๆ อาจคล้ายโรคพืชที่เกิดจากวิสาทั่วไป
เพลี้ยอ่อน (aphids, family Aphididae) พืชที่ได้รับความเสียหายจะบิดเบี้ยวเหี่ยวแห้ง และการเติบโตทั่วไปจะน้อยลง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพลี้ยอ่อนขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว และทำความเสียหาย สามารถแพร่กระจายโดยทางลมได้ไกล เพลี้ยอ่อนบางชนิดเป็นพาหะของวิสาสาเหตุโรค เช่น เพลี้ยอ่อน Myzus persicae และ Aphis fabae เป็นต้น
แมลงหวี่ขาว (white flies, family Aleyrodidae) แมลงหวี่ขาวนอกจากจะเป็นพาหะของเชื้อวิสาแล้ว ยังเป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่พืชจากการกินอาหารของแมลงโดยตรง พืชที่ได้รับความเสียหาย ในประเทศเขตร้อนจะมีผงสีขาวหรือสารเหนียวๆ คลุม หากอาการรุนแรงพืชส่วนนั้นจะแห้งเหี่ยว และอาการอาจเกิดทั้งต้นได้
เพลี้ยหอย (scale insects, family Coccidae) เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญแก่ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม มากกว่าพวกผัก หญ้าต่างๆ โดยเฉพาะที่ปลูกในประเทศเขตร้อนและกึ่งร้อน แมลงนี้แพร่กระจายโดยคน มด และสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ชอบเคลื่อนย้ายด้วยตัวเอง แมลงจะสร้างหยดนํ้าหวานบนส่วนของพืชที่มีแมลงนี้อยู่เป็นการชักนำมดมากินนํ้าหวานนั้น ทำให้แมลงแพร่กระจายติดไปกับมด แมลงนี้ทำลายพืชในเขตร้อนและในเรือนกระจก ไม่ค่อยพบทำลายพืชที่อยู่ในไร่ของประเทศเขตหนาว หยดน้ำหวานที่แมลงสร้างขึ้นนี้ จะทำให้เชื้อราและบักเตรีเจริญปกคลุมพืชส่วนนั้นตามมาอีกด้วย เช่นราดำ ราเขียวต่างๆ เป็นต้น
เพลี้ยแป้ง (mealybugs, family Pseudococcidae) แมลงพวกนี้แม้ว่าจะไม่เคลื่อนย้ายแต่ก็เป็นศัตรูต่อพืชที่เพาะปลูกในเขตร้อนและในเรือนกระจกมาก บางชนิดพบว่าสามารถเป็นพาหะของเชื้อวิสา สาเหตุโรคพืชได้ เช่น Pseudococcus spp. เป็นพาหะของวิสาสาเหตุโรคหน่อบวมของโกโก้
เพลี้ยจั๊กจั่นหรือเพลี้ยกระโดด (leafhopper, family Fassidae) พืชที่ได้รับความเสียหายจากแมลงใน family นี้จะเกิดจากพิษในน้ำลาย แมลงนี้ยังเป็นพาหะที่สำคัญในการนำโรคที่เกิดจากวิสา แล: MLO มากมาย
7. Lepidoptera ได้แก่ผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน (butterflies and moths) ตัวหนอนของแมลง จะกัดกินได้ทั้งหมดเกือบทุกส่วนของพืช เช่นการกัดกินของหนอนคืบกระหล่ำปลี หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอน เจาะลำต้นระดับดินต่างๆ เป็นต้น
8. Coleoptera ได้แก่แมลงปีกแข็ง (beetles) ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของแมลง จะทำลายพืชและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว เช่น wireworms หนอนใน family Elateridae กินหญ้าธัญญพืชและพืชอื่นๆ การทำลายมักเกิดที่ส่วนของพืชระดับดิน ทำให้พืชเหี่ยว แล้วตาย ด้วงงวง (weevils, family Circulionidae ) ทำลายเมล็ด ราก ใบ ลำต้น และดอก เป็นต้น
9. Hymenoptera ได้แก่ ผึ้ง ต่อแตน และมด แมลงพวกนี้ทำความเสียหายแก่พืชน้อยมาก ทำลายพืชเพียงการเจาะวางไข่ในลำต้นพืช และอาจเกี่ยวข้องในการเกิดปุ่มปมบนพืช มดทำลายพืชโดยเกี่ยวข้องการเคลื่อนย้ายเพลี้ยอ่อน และเพลี้ยหอยต่างๆ และอาจกัดกินใบ เมล็ด และผล
10. Diptera ได้แก่แมลงวันต่างๆ โดยตัวหนอนจะทำลายพืชมีอาการหลายอย่างปะปนกันบนส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบหด ปมก้อน บิดเบี้ยว ทำให้เป็นหมัน เจาะลำต้น ราก ใบ และหัว ส่วนเจริญต่างๆ ของพืชตาย พืชที่เสียหายอาจเป็นหญ้า ธัญญพืช กระหลํ่าปลี ผักกาดหัว เป็นต้น
โรคเกิดจากไรและแมงมุม Plant Injury Due to Mites and Spiders
ไรบางชนิดสามารถทำความเสียหายแก่พืชได้รุนแรง โดยทำให้ต้นไม้ ผล ใบร่วง และใบเป็นดวงซีดในลักษณะ chlorosis ลักษณะอื่นๆ ที่พบมีใบจะบิดเบี้ยวและเป็นแบบ hypertrophy เช่น โรคตาใหญ่ดำของพืช โดยมีไร Phytoptus ribis เป็นสาเหตุในการถ่ายทอดวิสานี้ ไร Aceria lulipae ถ่ายทอดวิสาใบด่างซีดของข้าวสาลี (wheat streak-mosaic virus) และวิสานี้ยังเป็นเชื้อก่อโรคอยู่ในไรได้เป็นเวลาหลายวันโดยผ่านระยะการลอกคราบ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านไข่
แมลงมีลำตัวเป็น 3 ส่วน ขาที่ใช้เดิน 3 คู่ มีปีก 1-2 คู่ ยกเว้นชนิดที่ไม่มีปีก แต่ไรมีลำตัวคล้ายถุง (sac-like body) อาจแบ่งออกเป็น anterior และ posterior โดยอาศัยรอย มีขา 4 คู่เมื่อโตเต็มวัยมีขา 3 คู่ในระยะตัวอ่อน และไม่มีปีก ไรมีปากเป็นแบบแทงดูด
แมงมุมมีลำตัวเป็น 2 ส่วน ขา 4 คู่ โดยขามี 6 ปล้อง และไม่มีปีก ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในการทำความเสียหายแก่พืช
โรคเกิดจากอาร์โธรปอดและสัตว์อื่นๆ
Plant Injury Due to Arthropods and Other Animals
หอยทากยักษ์
หอยทากยักษ์หรือหอยโข่งลาย (giant African snail, Achatina fulica) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา จัดอยู่ใน phylum Mollusca ชั้น Gastropoda อันดับ Pulmonata หอยทากยักษ์นี้สามารถทำลาย พืชผักและไม้ดอกไม้ประดับได้อย่างกว้างขวาง เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศไทยทางภาคใต้ในปี พ.ศ. 2477 โรคจะบาดทำลายผักและไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2499 และระบาดแพร่หลาย ในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2520
นิเวศน์วิทยาและการแพร่ระบาด
หอยทากยักษ์มี 2 เพศอยู่ในตัวเดียวกัน แต่การผสมพันธุ์ต้องประกอบด้วยหอย 2 ตัว การผสมพันธุ์จะเกิดในฤดูฝนต้นฤดู หลังผสมแล้วหอยจะวางไข่ สีขาวหรือขาวปนเหลืองอ่อนครั้งหนึ่งๆ ประมาณ 60-500 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของหอย ขนาดของไข่โตประมาณ 3.5 X 4.7 มม. วางรวมกันเป็นกลุ่ม และฟักออกเป็นตัวภายใน 7-15 วัน หอยทากเล็กๆ จะเริ่มกินอาหารพวกพืชและอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย หอยจะเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ภายใน 8-9 เดือน
หอยทากยักษ์ออกหากินและผสมพันธุ์ในฤดูฝน ชอบวางไข่บนพื้นดินที่มีหญ้า เศษอาหาร ขยะมูลฝอย และมีความชื้นสูงประมาณ 60% ขึ้นไป โดยเฉพาะข้างร่องน้ำ ฤดูกาลออกหาอาหาร และแพร่พันธุ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน หอยจะจำศีลในฤดูร้อน แห้งแล้ง โดยจะอยู่ภายในเปลือก สร้างเยื่อเมือกแข็งสีขาวใสปิดปากหอย ไม่ออกหาอาหาร ทนต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม บางทีอาจฝังตัวอยู่ในดินบริเวณที่ชุ่มชื้นและเย็น จนกว่าจะเริ่มเข้าฤดูฝนใหม่ จึงจะออกหาอาหารต่อไป
การควบคุม
หอยจะป้องกันตนเองจากสารเคมี และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยการขับเมือกเหนียวสีขาวใส ปิดปากหอยและจำศีล ไม่ออกกินอาหารเป็นเวลานาน การใช้สารเคมีอาจพิจารณาใช้ตามความเหมาะสม แล้วแต่ท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม สารเคมีที่ใช้ได้ผล มีดังนี้
1. ปูนขาว ใช้โรยข้างร่องสวนผัก เมื่อหอยเดินมาถูกปูนขาว หอยจะขับเมือกออก ไม่สามารถเดินต่อไปได้ ต้องจำศีลอยู่ในเปลือก จนกว่าจะถึงฤดูฝน
2. พ่นน้ำยาไลโซล (lysol) ที่ตัวหอย หอยจะขับเมือกหยุดออกหาอาหาร หากหอยแช่อยู่ในน้ำยานาน หอยจะตายได้
3. ใช้เมทไธโอคาร์บ (methiocarb) ที่มีจำหน่ายชื่อการค้าว่า มีซูรอล (MESUROL) ซึ่งมี 2 แบบ
ก. แบบผง 50% ผสมน้ำเข้มข้น 4% แล้วคลุกในอาหารที่หอยชอบกิน หอยจะตายหลังกินแล้วภายใน 3-4 วัน
ข. แบบเป็นเหยื่อ (snail bait) เข้มข้น 4% หลังกินแล้ว หอยจะตายภายใน 2-3 วัน
นก เป็นสัตว์ที่ทำให้ผลผลิตของพืชลดตํ่าลงโดยนกจะกินเมล็ด ผลไม้ที่อยู่กับต้นพืช และเมล็ดที่หว่านในการปลูกพืช จิก ถอนกล้าพืช และนกยังทำให้สปอร์ของราหรือเชื้อวิสาแพร่กระจายติดไปด้วย
หนู กระต่าย และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะกัดกินรากพืช เมล็ดที่ฝักบนต้นพืช
มอด (woodlice) ขึ้นทำลายไม้ ทำความเสียหายเฉพาะบริเวณเปลือกนอก และช่วยทำให้ต้นที่เป็นโรคเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เป็นโรคได้ง่ายและรุนแรงขึ้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช