โรครากเน่าของลิ้นจี่

ลิ้นจี่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย  แหล่งปลูกดั้งเดิมสันนิษฐานว่าอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน  ปัจจุบันเกษตรกรได้ให้ความสนใจปลูกลิ้นจี่แพร่หลายมากขึ้นเกือบทุกภาคของประเทศ  เนื่องจากลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีราคาแพง และมีโรคแมลงรบกวนไม่มากนัก

ภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยมากกว่า 2,000 มม./ปี  ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง  ถึงแม้ฤดูฝนจะผ่านพ้นไปแล้วแต่ในภาคตะวันออกก็ยังมีฝนตกอยู่เป็นครั้งคราว  ในเดือนมกราคม 2538 หลังจากที่มีฝนตกหนักติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายวัน  ต้นลิ้นจี่พันธุ์ค่อมและพันธุ์สองขนานซึ่งปลูกที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ได้มีอาการใบค่อย ๆ เหลืองซีด เหี่ยวเฉา แต่ไม่ร่วงหล่นและยืนต้นตายในที่สุด  อาการดังกล่าวยังไม่เคยมีรายงานว่าเป็นกับลิ้นจี่ทั้งพันธุ์ภาคกลางและพันธุ์ภาคเหนือ อาการโดยทั่วไปคล้ายกับโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนแต่ลำต้นไม่เน่าเปื่อย เมื่อขุดดูระบบรากพบว่ารากใหญ่ รากแขนง มีอาการเน่าลุกลาม ภายในเนื้อไม้มีสีน้ำตาล  ไม่พบรากฝอยเนื่องจากถูกเชื้อทำลายหมดเจ้าหน้าที งานวินิจฉัยพืช ฝ่ายวิเคราะห์ และบริการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 จันทบุรี  ได้พยายามเก็บตัวอย่างรากมาทำการเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการ  พบเชื้อราชนิดหนึ่งมีโคโลนีสีขาวนวล มี sporangium คล้ายรา Phytophthora sp. Sporangium มีรูปร่าง lemon shape ส่วนปลายมี papilate ขนาด sporangium 20.0-42.5 x 15.0-25.0 µm เฉลี่ย 28.2×18.6 µm sporangium เกิดบน sporangiophore ที่แตกแขนงเป็นแบบ dichotomous เชื้อราชนิดนี้กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้จำแนกว่าคือเชื้อ Peronophythora litchi อยู่ใน Order Peronosporales, Family Peronojphythoraceae (Ko et al, 1978)เป็นเชื้อที่พบในดินเช่นเดียวกับ Phytophthora sp. (Arentz, 1986) มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างเชื้อ Peronospora sp. และ Phytophthora sp. เชื้อนี้มีรายงานครั้งแรกว่าเป็นเชื้อสาเหตุทำให้เกิดโรคผลเน่า (fruit rot) ในลิ้นจี่ซึ่งระบาดในไต้หวันในปี 1934 เรียกชื่อเฉพาะว่า litchi downy blight (Ko et al, 1978; Kao and Leu, 1980; Ho et al, 1984) เชื้อราทำให้ผลลิ้นจี่เน่าและร่วง (Kao and Leu, 1980) และเกิดโรคผลเน่าภายหลังเก็บเกี่ยว สำหรับประเทศไทย ในแหล่งปลูกลิ้นจี่ทางภาคเหนือยังไม่มีรายงานว่ามีโรคผลเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อ P.litchii เลย (สุรชาติ และคณะ, 2533)

ผลจากการพิสูจน์เชื้อซึ่งงานวินิจฉัยพืช สวพ.6 เพาะเลี้ยงได้ตามวิธี Koch’s postulate ยืนยันได้ว่า เชื้อ P.litchii เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าของลิ้นจี่ในแหล่งปลูกที่ อ.โป่งน้ำร้อน จันทบุรี การพบเชื้อนี้นับว่าเป็นการพบครั้งแรกในประเทศไทย และนับว่าเป็นรายงานการเกิดโรครากเน่าโดยเชื้อ P.litchii เป็นสาเหตุครั้งแรก  เชื้อนี้นอกจากจะทำให้เกิดโรครากเน่าแล้ว ยังสามารถทำให้ลิ้นจี่เป็นโรคผลเน่าได้อย่างรุนแรงอีกด้วย

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุดคือการใช้ต้นตอที่ต้านทานต่อโรคปลูก แต่การคัดเลือกหาพันธุ์ต้านทานนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลานาน  นอกจากนั้นต้นตอที่ต้านทานจะต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้ากันได้กับยอดพันธุ์ดีที่จะนำมาเสียบ  เพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างปกติ และให้ผลผลิตตามที่ต้องการ

การรักษาโรครากเน่าของลิ้นจี่ โดยใช้สารเคมีในเบื้องต้นนี้ ใช้วิธีการเดียวกับการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน คือใช้เมทาแลคซิล ชนิดผง 25 เปอร์เซ็นต์ (50-60 กรัม/น้ำ 1 ลิตร) หรือฟอสเอทธิลอะลูมินัมชนิดผง 80℅(80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) ละลายน้ำราดตามโคนต้น พบว่าสามารถยับยั้งการระบาดของเชื้อโรคได้ผลพอสมควร ควรพ่นธาตุอาหารเสริมทางใบให้กับพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรุงอาหาร และให้สารจำพวกกรดฮิวมิคแก่ดินเพื่อเพิ่มระบบรากฝอยของพืช นอกจากนี้ถ้าสภาพดินค่อนข้างเป็นกรดก็ควรใช้ปูนขาวหว่านเพื่อปรับสภาพดินให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี สำหรับต้นที่เป็นโรคควรตัดและเผาทำลายเสียเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อต่อไป

โรครากเน่าของลิ้นจี่เป็นโรคที่เพิ่งพบใหม่ในประเทศไทย ถึงแม้โรคนี้จะยังไม่มีการระบาดทำลายอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากในภาคตะวันออกซึ่งเป็นสถานที่ที่พบโรคนี้ สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้างสูงเกือบตลอดทั้งปี  ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี  ถ้าปล่อยให้พืชที่ปลูกมีความอ่อนแอก็อาจช่วยให้เชื้อเข้าทำลายพืชได้ง่าย ควรหมั่นตรวจตราสวนมิให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การควบคุมปริมาณเชื้อในดินโดยเลือกใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้โรคนี้ไม่ระบาดทำความเสียหายให้แก่พืชเหมือนกับที่เคยเกิดกับทุเรียนมาแล้วได้

เนื่องจากเชื้อซึ่งทำให้เกิดโรครากเน่าในลิ้นจี่นี้ เป็นเชื้อซึ่งพบครั้งแรกในประเทศจีน การนำลิ้น่จี่ไม่ว่าจะเป็นผลหรือกิ่งพันธุ์จากแหล่งซึ่งเคยมีเชื้อนี้อยู่เข้ามาในประเทศไทย จึงน่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ  เพราะถ้ามีเชื้อนี้ติดเข้ามาก็อาจเป็นการแพร่โรคนี้ให้ระบาดทำความเสียหายกับพืชผลภายในประเทศได้

ข้อมูล:จักรพงษ์  เจิมศิริ

เอกสารอ้างอิง

สุรชาติ  คูอริยะกุล  กรรณิการ์  เพี้ยนพักตร์  ไพลิน  เหล็กคง ขจรศักดิ์  ภวกุล  และสมศักดิ์  ชัยศิลปิน 2533 การศึกษาหาสาเหตุเปลือกเน่าของผลลิ้นจี่ รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2533 ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน  กรมวิชาการเกษตร หน้า 27-45

Arentz, F.1986. A key to Phytophthora species found in papua New Guinea with notes on their distribution and morphology.  Papua New Guinea Journal of agriculture. 34 : 1-4, 9-18 (CAB Abstracts 1987-1989)Ho, H.H., J.Y.Lu and L.Y. Gong. 1984. Observation on asexual reproduction by Peronophythora litchii. Mycologia76: 745-747. Kao, C.W. and L.S. Leu. 1980.

Sporangium germination of Peronophythora litchi the casual organism of litchi downy blight.  Mycologia 72: 737-748.

Ko, W.H., H.S. Chang, H.J. Su, C.C. Chen and L.S. Leu. 1978.  Peronophythoraceae, a new family of Peronosporales.  Mycologia 70:380-384.