โรคราสนิมของกาแฟ

(Coffee – rust)
โรคราสนิมของกาแฟมีรายงานพบครั้งแรกในประเทศลังกา เมื่อปี ค.ศ. 1868 ต่อมาก็พบในประเทศอินเดีย และในแหล่งปลูกกาแฟของประเทศต่างๆ เช่น ชวา สุมาตรา หมู่เกาะฟิจิ มาลายู โรคนี้ระบาดทำความเสียหายมากแก่ลังกา จนต้องหันไปเพาะปลูกพืชอื่นแทน โรคนี้เพิ่งพบในประเทศบราซิล เมื่อ ปี ค.ศ. 1970 และได้แพร่ระบาดไปยังแหล่งปลูกกาแฟที่ใช้พันธุ์ที่อ่อนแอติดโรคนี้ ในประเทศต่างๆ ทางใต้ของทวีปอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีโรคนี้ระบาดทำความเสียหายตามแหล่งปลูกกาแฟทั่วไป โดยเฉพาะพันธุ์อาราบิก้า (Coffea arabica) ที่ปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มระบาดในฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม ทำให้ผลผลิตลดลงมาก
อาการโรค อาการโรคเริ่มเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ บนใบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 มม. มาจุดขยายใหญ่ขึ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 มม. โดยสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลส้มและกลุ่มของสปอร์เป็นผงให้เห็นบนผิวแผลพืชด้านใต้ใบ ส่วนต้านบนใบจะเห็นเป็นจุดสีซีด ลักษณะที่เกิดด้านใต้ใบอาจพบในด้านบนของใบได้ อาการขั้นรุนแรงสีน้ำตาลส้มนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาว แล้วเนื้อเยื่อนั้นกลายเป็นสีนํ้าตาลเข้ม แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ และแผลมีลักษณะแห้งมากขึ้น ต่อมาใบกาแฟจะร่วง ต้นโกร๋นกิ่งแห้งตายในที่สุด
สาเหตุโรค : Hemileia vastatrix (Family Pucciniaceae, order Uredinales)
เชื้อราเป็นปรสิตแบบถาวร เจริญอยู่ในใบ ก้านใบ และกิ่งแขนงที่ยังอ่อนอยู่ มีแผลแบบ necrosis ใบที่เป็นโรคเส้นใยส่วนใหญ่เจริญอยู่ระหว่างเซลโดยส่ง haustoria เข้าไปดูดอาหารจากในเซล สปอร์ของเชื้อเกิดในแผลใต้ epidermis โดยเชื้อสร้าง uredospores และ teliospores บนก้านที่มีรูปร่างคล้ายกระบอง (club-shaped) ออกมาทางปากใบ Uredospore เป็นรูปไข่ มี 2 ด้านที่เป็นด้านนูน ขรุขระด้านหนึ่ง และเว้าแต่เรียบในด้านตรงข้าม (bifacially ovate with convex and concave sides) สีส้ม ขนาดประมาณ 26-40 x 20-30 µ ส่วน teliospore เจริญเป็นครั้งคราวในแผลเดียวกันนั้น มีผนังหนา ไม่มีสีขนาดประมาณ 18-28 X 14-22 µ เมื่อ teliospore งอกเป็น promycelium ทำหน้าที่เป็น basidium ให้กำเนิด basidiospore จำนวน 4 สปอร์

วงจรโรค วงจรของโรคระยะเกิด pycniospore และ aeciospore ยังไม่ทราบ แต่เชื่อแน่ว่าการแพร่กระจายและการอยู่ข้ามฤดูของเชื้ออยู่ในรูปของ uredospore โดยแพร่ไปตามลมฝน และติดไปกับแมลง โดยสปอร์งอกเมื่อมีความชื้นสูง และอาจต้องมีน้ำค้าง แล้วเข้าทำลายพืชทางปากใบที่ด้านล่างของใบในเวลาไม่เกิน 12 ชม. หากมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ใบอ่อนที่อ่อนกว่าเป็นโรคได้ง่ายกว่าใบแก่ เส้นใยเจริญระหว่างเซลในใบและสามารถสร้าง uredia ขึ้นใหม่ที่ด้านใต้ใบนั้นภายใน 10-25 วันหลังการติดเชื้อ ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของอากาศ ส่วน basidiospore ที่เกิดจากการสร้างของ teliospore นั้นไม่สามารถงอกเข้าทำลายพืช และพืชอาศัยร่วมในวงจรของโรคนอกเหนือจากพืชหลักคือกาแฟนั้นยังไม่พบ

ภาพวงจรโรคราสนิมของกาแฟ เกิดจากเชื้อรา Hemileia vastatrix.(ที่มา:Arios,1978)
การควบคุมโรค
1. การปลูกกาแฟในที่ร่ม ป้องกันการเกิดโรคจากการแพร่กระจายของสปอร์ได้ดี
2. ป้องกันการเกิดโรคโดยฉีดพ่นด้วย copper oxychlorides(CUPRAVIT) หรือยาบอร์โดเข้มข้น 0.1% ผสมด้วยสารจับใบ (sticker ที่เป็น white oil) ในอัตราเดียวกัน ก่อนเข้าฤดูฝน และฉีดครั้งต่อไปทุก 4-6 สัปดาห์ ประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี จะป้องกันโรคได้ดี
3. กาแฟที่เป็นโรคอยู่ก่อน หากใช้ 2-methyl-5, 6-dihydro-4- hpyran-3- carboxylic acid anilide (PARACARBOLID หรือ SICAROL) ในอัตราประมาณ 0.05% แผลจะไม่ขยาย และไม่มีการ
สร้างสปอร์ ยานี้มีประสิทธิภาพดีแต่ราคาค่อนข้างแพง หากฉีดพ่นถึง 5 ครั้งอาจไม่คุ้มทุนได้ ฉะนั้นการกำหนดเวลาฉีดพ่นที่เหมาะสม จะช่วยลดจำนวนการฉีดลงเหลือเพียง 2-3 ครั้งต่อปีได้
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช