โรคราแป้งของถั่วฝักยาว

โรคราแป้งขาว (powdery mildew)

ราแป้งขาวเป็นโรคที่พบบ่อยและเกิดขึ้นทั่วๆ ไปทั้งในถั่ว beans และ peas เช่นเดียวกับโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ AIternaria ซึ่งปกติแล้วเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและไม่สร้างความเสียหาย นอกจากในบางสภาวะที่สิ่งแวดล้อมเหมาะสม หรือพืชที่ปลูกอ่อนแอง่ายต่อการเกิดโรคก็อาจกลายเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการเสียหายรุนแรงได้โดยลดทั้งผลผลิตและคุณภาพ

อาการโรค

โรคราแป้งขาวสามารถขึ้นทำลายได้ทั่วทุกส่วนของต้นถั่ว ลักษณะมองเห็นหรือสังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกับในพืชผักอย่างอื่น คือ จะเกิดป็นผงขาวลักษณะคล้ายแป้งหรือฝุ่นชอล์กจับเกาะติดอยู่บนส่วนของพืชที่มันขึ้นเจริญเติบโต ปกติโรคราแป้งขาวไม่ทำลายเซลล์ให้ตายแล้วเกิดเป็นจุดหรือแผลใดๆ ขึ้นกับพืชอย่างเช่น โรคที่เกิดจากเชื้อราอื่นๆ เนื่องจากในการขึ้นเกาะกินพืชพวกนี้ไม่ได้เข้าไปทำลายเซลล์พืชโดยตรง ไม่มีการสร้างสารพิษทำให้เกิดการตายขึ้นกับเซลล์ ตัวเชื้อราจะเจริญอยู่บนผิวด้านนอกของพืชแล้วส่งอวัยวะพิเศษที่มันสร้างขึ้นเรียกว่า haustoria ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ รากของพืช เข้าไปค่อยๆ ดูดกินอาหารจากเซลล์ทีละน้อย ไม่ทำให้เกิดการตายขึ้นกับเซลล์ดังกล่าวทันที แต่เมื่อนานๆ ไปก็อาจมีผลทำให้เนื้อเยื่อซึ่งประกอบด้วยเซลล์พวกนี้ ผิดปกติไปได้เช่นกัน เช่น ใบอาจมีขนาดเล็กลง ผิวเป็นคลื่นเหลืองซีด ถ้าเป็นที่ต้นกิ่งก้านอาจมีผลทำให้ต้นโทรม แคระแกร็น กระทบต่อผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณทำให้เลวและน้อยลง ในกรณีที่เชื้อขึ้นเกาะกินดอกหรือฝักก็อาจจะทำให้ดอกร่วงหรือฝักลีบบิดเบี้ยวเสียลักษณะ

สาเหตุโรค : Erysiphe polygoni

เชื้อราขึ้นเกาะกินพืชเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะสร้างสปอร์หรือโคนีเดียเป็นจำนวนมากบนผิวของพืชทำให้มองเห็นเป็นฝุ่นผงสีขาวคล้ายแป้งดังกล่าวแล้ว สปอร์หรือโคนีเดียจะปลิวแพร่ระบาดออกไปกว้างขวางเป็นระยะทางไกลๆ โดยลม แมลง เครื่องมือกสิกรรม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด เมื่อตกลงบนพืชก็จะงอกเป็นเส้นใยภายใน 2 – 3 ชั่วโมง โดยอาศัยความชื้นของอากาศเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็จะเข้าทำลายพืชแส้วสร้างอาการให้เห็นได้ใหม่อีกภายใน 8 – 10 วัน E. polygoni เจริญได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 16-30° ซ. สำหรับการงอกของสปอร์หรือโคนีเดียและการเข้าทำลายพืชจะดีที่สุดระหว่าง 20 – 24° ซ. พืชที่ปลูกในดินที่ค่อนข้างแห้งหรือแล้งน้ำแต่มีการให้ปุ๋ยมาก เชื้อจะเข้าทำลายได้ดีและสร้างความเสียหายรุนแรงมากขึ้นกว่าปกติ ราแป้งขาวของถั่วไม่ถ่ายทอดทางเมล็ด

การป้องกันกำจัด

1. หลังเก็บเกี่ยวแล้วให้ทำลายเศษซากพืชที่เคยเป็นโรคหรือไถกลบเสียให้หมด

2. ทำลายวัชพืชโดยเฉพาะพวกถั่วต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงหรือแปลงปลูกอย่าให้มีหลงเหลืออยู่

3. ปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชผักชนิดอื่นปลูกสลับ 2 – 3 ปี

4. ใช้สารเคมีฉีดพ่นในกรณีที่เกิดโรคระบาดขึ้น เช่น กำมะถันผง ให้ทำการพ่นในลักษณะฝุ่นผง (dusting) โดยทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกในทันทีที่พืชเริ่มแสดงอาการ ครั้งที่สอง ภายใน 7 หรือ 10 วันหลังครั้งแรก คาราเทน (karathane) หรือคาลิกซินในอัตราส่วน 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วันต่อครั้ง เบนเลท (benlate 50 W.P.) ใช้ในอัตราส่วน 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 10-15 วัน แอคติไดโอน (actidione) ในอัตราส่วน 50 – 60 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 7-10 วัน

5. วิธีสุดท้ายคือการเลือกปลูกถั่วโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค