โรคราแป้งขาวของพืช

โรคเกิดจากราชั้นสูง (Higher fungi)
Ascomycetes
Euascomycetes
โรคราแป้งขาวของพืช (Powdery mildew diseases)
โรคราแป้งขาวเป็นโรคที่พบทั่วไป มีพืชอาศัยกว้างขวางทุกชนิด คือ ธัญญพืช หญ้า ผัก ไม้พุ่ม ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ วัชพืช ไม้ป่า อาการโรคสังเกตได้ง่าย โดยเป็นกลุ่มสีขาวถึงสีเทาบนผิวพืช หรือคลุมพืชทั้งใบ ปกติอยู่ด้านบนของใบ แต่อาจพบที่ด้านใต้ใบ ตา ดอก ผล และกิ่งก้าน ได้ ทำความเสียมากแก่ท้องถิ่นที่ชื้น ร้อนหรือเย็น และอาจแห้งเย็น
เชื้อราเจริญเป็นเส้นใยบนผิวพืชอาศัย ไม่เข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ได้รับอาหารจากพืชโดยส่ง haustoria เข้าไปในเซล epidermis เส้นสร้าง conidiophores สั้นๆ บนผิวพืชโดยมี conidia รูปไข่เป็นเหลี่ยม หรือกลมมน ต่อกันเป็นลูกโซ่ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม หรือเชื้อได้อาหารไม่เหมาะสม เชื้ออาจสร้าง asci ภายใน ascocarp แบบปากปิด ซึ่งเรียกว่า cleistothecium สปอร์ของเชื้อหลุดปลิวไปตามลม สปอร์สามารถงอกเข้าทำลายพืชได้ในสภาพที่อากาศมีความชื้นสูงมาก แม้ว่าผิวพืชนั้นไม่มีนํ้าเกาะอยู่ก็ตาม
ราสาเหตุโรคราแป้งขาวมี 6 genera
ก. พวกที่ ascus เพียงหนื่งอันใน cleistothecium
1. Sphaerotheca มี appendages แบบ myceloid
2. Podosphaera มี appendages แบบ dichotomous
ข. พวกที่ asci หลายอันใน cleistothecium
3. Erysiphe มี appendages แบบ myceloid
4. Microsphaera มี appendages แบบ dichotomous
5. Phyllactinia ที่ฐาน appendages เป็นรูปกลม (bulbous)
6. Uncinula มี appendages แบบ coil
โรคราแป้งขาวของกุหลาบและท้อ
โรคของกุหลาบพบได้ทั่วไปในแปลงปลูกและในเรือนกระจก ทำให้ต้นออกดอกน้อยลง อ่อนแอ โรคเข้าทำลายที่ตา ใบอ่อน และยอด
ต้นท้อมักได้รับความเสียหายน้อย แต่ถ้าสภาพเหมาะสมต่อการติดเชื้อแล้ว หากเป็นต้นกล้าจะแคระแกรน ให้ผลน้อย ผลที่เป็นโรคมีคุณภาพตํ่ามาก
อาการโรค ใบอ่อนนูนเล็กน้อย มีเส้นใยของเชื้อสีขาวหรือเทาคลุม เมื่อใบขยายใหญ่ขึ้น ใบจะหดและเปลี่ยนรูปไปได้ บริเวณที่เป็นโรคอาจมีสีเข้มหรือซีดและ necrosis ภายหลัง อาการที่หน่อ ดอก ตา จะมีลักษณะคล้ายกัน มีเชื้อราคลุม และเปลี่ยนสี แคระ แห้งไปได้


ภาพลักษณะอาการของโรคทั่วไปที่เกิดจาก Ascomycetes และ Deuteromycetes (ที่มา : Agrios, 1978)


ภาพแสดงจำนวน asci ใน cleistothecium และลักษณะ appendages ของราแป้งขาว genera ต่างๆ (ที่มา : Alexopolos and Mim. 1979 )
ผลท้อที่เป็นโรค จะมีจุดกลมขาวเกิดทั่วไปบนผิว ผลมีสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผิวของผลหดย่นคล้ายหนัง และแข็ง
เชื้อสาเหตุโรค: Sphaerotheca pannosa เชื้อสาเหตุโรคของกุหลาบและท้อ อาจมีความแตกต่างกันทางพันธุ์ แม้จะเป็น species เดียวกัน เพราะจากการทำ cross inoculation กุหลาบก็ไม่เป็นโรค หากเป็นเชื้อจากท้อเช่นกัน
Cleistothecium มีรูปร่างเกือบกลม (globose) สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล และดำในที่สุด Cleistothecium มี appendages แบบ mycelioid
วงจรของโรค โรคของท้อและกุหลาบในสวน เชื้อราจะอยู่ข้ามฤดูในลักษณะของเส้นใยในเนื้อเยื่อของตาเป็นส่วนใหญ่ อาจพบในรูปของ cleistothecium บนใบ กลีบดอกและกิ่งก้านบ้าง ส่วนกุหลาบที่ปลูกในเรือนกระจกจะอยู่ในรูปของเส้นใยและ conidia
เส้นใยที่อยู่ข้ามฤดูในตา หน่อที่พักตัวนั้น เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมแล้ว ตาและหน่อนั้นก็เป็นโรค และสร้าง inoculum ขึ้นใหม่ในรูปของเส้นใยและสปอร์ เข้าทำลายใบและผล หากเชื้ออยู่ข้ามฤดูในรูป cleistothecium ก็จะได้ascospores ที่แก่ เข้าทำลายพืช เป็น primary inoculum สปอร์ต่างๆ ของเชื้อแพร่กระจายโดยลม เมื่อมีความชื้นสูงพอจะงอกเป็น germ tube เข้าทำลายพืชโดยแทงผ่าน cuticle และผนังเซล epidermis โดยตรง ไปเจริญอยู่ในเซล เส้นใยอาจขยายใหญ่ขึ้นสร้าง haustorium รูปร่างเกือบกลม เพื่อดูดอาหารจากเซลพืชสำหรับการเจริญแตกกิ่งก้านของเส้นใยบนผิวพืช เส้นใยที่เจริญแผ่กิ่งก้านไปบนผิว จะสร้าง haustoria ในเซล epidermis ถัดไปเพื่อดูดซึมอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้พืชอ่อนแอ  การสังเคราะห์แสงของส่วนที่เป็นโรคลดลง อาจถึงตายได้
เส้นใยสร้าง conidia บน conidiophore สั้นๆ Conidia เกิดต่อกันเป็นลูกโซ่ ประมาณา 5-10 conidia แล้ว conidia เหล่านี้ปลิวไปตามลมเข้าทำลายพืชใหม่ต่อไป
หน่อที่เป็นโรคจะชะงักการเจริญ ส่วนตาที่เป็นโรคจะไม่แทงดอกออกมา
การควบคุมโรค
1. ฉีดพ่น หรือพ่นด้วยกำมะถันละลายนํ้า หรือกำมะถันผง ตามลำดับ
2. ฉีดพ่นด้วย dinocap, benomyl และ cycloheximide
การป้องกันโรคในสภาพทั่วไป ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าพืชเจริญเติบโตและแตกใบอ่อนได้เร็ว หรือมีฝนตกบ่อย หรืออุณหภูมิแปรปรวนแล้ว การฉีดซํ้าจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนครั้งขึ้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช