โรคเน่าของที่เกิดจากเชื้อราBotrytis

โรคเน่าของผักที่เกิดจากเชื้อราจัดว่าเป็นโรคที่สำคัญและสร้างความเสียหายมากโรคหนึ่ง เป็นโรคที่พบได้ทั้งในแปลงปลูกและภายหลังเก็บเกี่ยวแล้วโดยเป็นกับผักหลายชนิด เช่น ถั่วต่างๆ ทั้งต้นและฝักไมว่าจะเป็นถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม ถั่วไลม่า บีท แครอท คึ่นฉ่าย แตงร้าน แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง แคนทาลูป มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักกาดหอมใบ ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ ผักกาดเขียว ผักกาดขาวปลี ผักกาดหัว หอมใหญ่ หอมแดง ขิง พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ฯลฯ

อาการโรค

ในส่วนของต้นและผลิตผลพืชผักที่อวบนํ้า อาการจะเริ่ม จากชั้นของเซลล์ใต้ epidermis โดยเซลล์พวกนั้นจะช้ำและอ่อนลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาสีของบริเวณที่เกิดโรคจะค่อยๆ ซีดจางคลํ้าลงและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด บริเวณแผลจะหดยุบตัวลง เมื่อผิว epidermis แตกออกก็จะปรากฏเส้นใย (mycelium) พร้อมกับ fruiting body ของราเกิดขึ้นมากมาย ลักษณะเป็นผง และปุยสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนๆ คลุมบริเวณแผลเน่านั้นไว้ทั้งหมดขนาดของแผลอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรือโตกระจายคลุมเต็มทั้งส่วนของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย

สำหรับพืชผักที่ให้หัวหรือแง่ง เช่น บีท แครอท เทอร์นิบ ผักกาดหัวและขิง พวกนี้หากเกิดโรคขณะยังอยู่ในแปลงปลูกบนต้นอาการอาจจะเกิดที่โคนต้นหรือที่เรียกว่า crown หรือส่วนของต้นที่อยู่ต่ำๆ จะเกิดเป็นแผลเน่าพร้อมทั้งมีเส้นใยและสปอร์สีเทาหรือนํ้าตาลคลุมอยู่เช่นกัน ส่วนบนหัวหรือแง่งที่เก็บเกี่ยวแล้ว เมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายอาการจะเริ่มจากรอยช้ำเล็กๆ ยุบตัวลง แล้วค่อยๆ ขยายโตขึ้น ส่วนผิวจะมีลักษณะแห้งสีนํ้าตาลคล้ายหนังสัตว์ ต่อมาก็จะมีการสร้างเส้นใยขึ้นมาเจริญเติบโตพร้อมทั้งสร้างสปอร์สีเทาขึ้นปกคลุมบริเวณแผลนั้นไว้มากมายเห็นได้ชัดเจน

ส่วนที่เป็นกลีบดอกปรากฏว่าง่ายต่อการติดเชื้อนี้มากที่สุด โดยเชื้อจะเข้าทำลายและเจริญงอกงามได้ดี ทำให้เกิดอาการไหม้แห้งขึ้นกับดอกเรียกว่า blossom blight จากดอก เชื้อก็กินลุกลามต่อไปยังผลหรือฝักที่จะเกิดต่อมา ผลของมะเขือ มะเขือเทศ ฝักถั่ว แตง สควอช ที่เน่ามักจะเกิดจากการเข้าทำลายดอกในลักษณะนี้

นอกจากจะก่อให้เกิดอาการเน่ากับส่วนต่างๆ ของพืช ผักดังกล่าวแล้ว โรคนี้หากเกิดกับต้นอ่อนหรือต้นกล้าในแปลงหรือกะบะเพาะกล้าจะทำให้กล้าล้มตายคล้ายๆ กับโรค damping-off ที่เกิดจากเชื้อ Pythium debaryanum

สาเหตุโรค : Botrytis cinerea

เป็นเชื้อราจัดอยู่ในพวกที่ไม่มีการขยายพันธุ์ทางเพศ (imperfect fungi) ใน Class Deuteromycetes เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะสร้างสปอร์หรือโคนีเดีย (conidia) ลักษณะรูปไข่ (ovoid) ที่ไม่มีสี (hyaline) หรือออกเทาเล็กน้อยเกาะกันเป็นกลุ่มเหมือนพวงองุ่น (botryoid manner) บนก้านสั้นๆ ที่งอกออกมาจากก้าน conidiophore ที่แตกกิ่งก้านสาขา สปอร์หรือโคนีเดียนี้จะทำหน้าที่ขยายพันธุ์ หรือแพร่กระจายโดยติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปสัมผัส หรือถูกเข้าหรือปลิวไปตามลมได้เป็นระยะทางไกลๆ นอกจากนี้ อาจจะมีการสร้างสเคลอโรเทีย (sclerotia) ลักษณะเป็นแผ่น หรือก้อนแบนๆ (flat) สีดำแข็งขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็นจนถึงครึ่งนิ้ว สเคลอโรเทียพวกนี้ จะพบอยู่ตามส่วนของพืชที่เป็นโรคหรือไม่ก็ตามดิน ทำหน้าที่ คล้ายสปอร์ แต่มีความคงทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติได้นานกว่า แต่จะไม่คงทนต่อความชื้นคือจะเน่าเปื่อยได้ง่าย หากตกไปอยู่ในน้ำ ก้อนหรือแผ่นสเคลอโรเทียนี้เมื่อตกไปยังที่ที่มีอาหารหรือสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยเจริญเติบโตต่อไป

การเข้าทำลายพืช

เมื่อโคนีเดียหรือสเคลอโรเทียถูกพาไปตกลงบนผิวของพืชก็จะงอก germ tube ส่งเข้าไปภายในพืชโดยผ่านทางแผลไปเจริญเติบโตอยู่ภายใต้ epidermis ระหว่าง เซลล์ parenchyma ก่อให้เกิดการทำลายและสลายตัวกับเซลล์ดังกล่าวในที่สุด เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะส่งก้าน conidiophore ออกมานอกผิวพืชตรงส่วนที่ถูกทำลาย แล้วสร้างโคนีเดียขึ้นเป็นจำนวนมากปกคลุมบริเวณแผล ทำให้เห็นเป็นปุยหรือใยสีเทาดีงกล่าวแล้ว

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

แม้ว่า Botrytis cinerea จะอยู่ในกลุ่มของราชั้นสูง (higher fungi) แต่ก็ต้องการความชื้นที่ค่อนข้างสูงทั้งในการงอกของสปอร์หรือโคนิเดียและการเข้าทำลายพืช (infec­tion) โดยจะต้องมีความชื้นถึงจุดอิ่มตัวหรือมีความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) ไม่ต่ำกว่า 90% สำหรับอุณหภูมินั้น จากการที่มีผู้ทดลองนำเอาเชื้อรานี้มาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ ในห้องทดลองพบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 0 – 35.5° ซ. แต่จะดีที่สุดระหว่าง 2 – 25° ซ. ส่วนในการเข้าทำลายพืชนั้นอยู่ระหว่าง 22 – 23° ซ. สำหรับในแปลงปลูกหากอุณหภูมิสูงกว่า 25° ซ. แล้วความเสียหายจากโรคนี้ก็จะมีไม่มากนัก โดยสรุปแล้วโรคเน่าจากเชื้อรานี้ค่อนข้างจะชอบอุณหภูมิต่ำเล็กน้อย

การป้องกันกำจัด

1. การให้น้ำกับพืชเมื่อปลูกอยู่ในแปลง ควรทำในขณะที่ยังมีแสงแดดลมแรงและท้องฟ้าแจ่มใส ทั้งนี้เพื่อให้น้ำระเหยแห้งจากต้นพืชโดยเร็ว ในระยะที่อากาศเย็น ครึ้มฟ้าครึ้มฝน เมฆมาก ควรงดให้น้ำซั่วคราว ทั้งนี้เพื่อกันการงอก และการเข้าทำลายพืชของเชื้อ

2. ฉีดพ่นต้นกล้าหรือต้นอ่อนของผักที่เพิ่งย้ายปลูกด้วยเทอราคลอร์ ผสมกับแคปแตน อย่างละ 5 ช้อนชา (20 กรัม) ในนํ้า 1 ปี๊บ (20 ลิตร) โดยสารเคมีนี้จะใช้กับกล้าที่ปลูกในแปลงขนาด 2×5 เมตร ควรฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ในกรณีที่มีโรคเกิดขึ้น นอกจากเทอราคลอร์และแคปแตนแล้ว อาจใช้มาเน็บ ในอัตราส่วน 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือเพ่อร์แบม 100 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นแทนก็จะช่วยลดความเสียหายจากโรคลงได้

3. ในการเก็บเกี่ยวผลิตผลระวังอย่าให้เกิดแผล หรือรอยชํ้ากับพืชโดยไม่จำเป็น ควรผึ่งลมให้ผิวพืชแห้ง ก่อนบรรจุลงในภาชนะ หีบห่อ การบรรจุก็ควรให้มีจำนวนพอดีไม่เบียดอัดกันจนแน่น ภาชนะที่ใช้บรรจุควรสะอาดปราศจากเชื้อติดอยู่ ถ้าเป็นของเก่าที่ใช้แล้วและเคยบรรจุผลิตผลที่เป็นโรคไม่ควรนำมาใช้อีก หรือไม่ก็ควรฆ่าเชื้อเสียก่อนโดยการล้างให้สะอาดหรือจุ่มแช่ฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อ เช่น เมอร์คิวริคคลอไรด์ ฟอร์มาลีนหรือสารละลายจุนสี (CuSO4) เสียก่อน ระหว่างเก็บพืชผลเอาไว้เพื่อรอการขนส่ง ควรเก็บไว้ในโรงเรือนที่แห้งโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิห้องหรือโรงเรือนควรสูงกว่า 25° ซ.