โรคเน่าเละของข้าวโพดจากเชื้อบักเตรี

(Bacterial soft rot or top rot)

โรคเน่าเละของข้าวโพดที่เกิดจากเชื้อบักเตรี พบโดย H.R. Rosen ในปี ค.ศ. 1922 A.R. Stanley และ C.R. Orton พบในเวอร์จิเนียภายใต้ในปี ค.ศ. 1930 และ G.H. Boewe ในรัฐอิลลินอย เมื่อปี ค.ศ. 1949 โดยพบทำให้ลำต้นและโคนต้นของข้าวโพด เนื้อเยื่อ parenchyma จะถูกทำลายเน่าเละอย่างรวดเร็ว เนื้อเยื่อจะมีรอยชํ้าสีนํ้าตาลเปียกชุ่ม
ในปี ค.ศ. 1942 W.V. Ludbrook พบเป็นกับส่วนยอดของข้าวโพด ในประเทศออสเตรเลีย K.A. Sabet (1954) และ M.K. Hingorani et. al. (1959) พบเป็นกับลำต้นและโคนต้น เปลือกหุ้มฝัก ข้าวโพด ในโรดีเซียภาคใต้ ประเทศอียิปต์ และประเทศอินเดียตามลำดับ และได้รายงานสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเกิดและระบาดของโรคไว้ นอกจากนี้แล้ว M.K. Hingorani et. al. ยังได้รายงานว่าพบเป็นกับก้านฝักของข้าวโพดอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย ดร.สิริพงศ์ อินทรามะ นายไพโรจน์ จ๋วงพานิช และนายเอี่ยน ศิลาย้อย ได้พบโรคนี้ระบาดแพร่หลายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 โดยเป็นกับส่วนยอด ลำต้น โคนต้น และเปลือกหุ้มฝัก

โรคระบาดได้ดีในอากาศที่ร้อนและชื้น โดยเฉพาะในฤดูฝน ข้าวโพดที่เป็นโรคเน่าเละ จะแสดงอาการของโรคให้เห็นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช หรือรวมกันทั้งหมด เช่น ที่ยอด ลำต้น เปลือกหุ้มฝัก ก้านฝัก และโคนต้น แล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาการที่เกิดกับส่วนยอดของข้าวโพด ก่อนออกดอก ใบส่วนยอดซึ่งยังอ่อนอยู่สีจะซีดลง แห้ง และตาย เมื่อดึงส่วนยอดออกจะพบว่าฐานของยอดนั้นเน่า เมื่อคลี่ใบออกตรวจเกสรตัวผู้ที่ยังอ่อนอยู่นั้นจะเน่าเละ ส่งกลิ่นเหม็น หากผ่าตามความยาวของลำต้นออกดู จะเห็นเนื้อเยื่อ parenchyma ของส่วนที่เป็นโรคเหลวเละมีสีเทาหรือนํ้าตาล หากต้นข้าวโพดยังสามารถเจริญต่อไปอีก จะไม่มีเกสรตัวผู้เกิดขึ้น

ลักษณะอาการเน่าเละ มีกลิ่นเหม็น ยังเกิดกับส่วนของลำต้น เปลือกหุ้มฝัก ก้านฝัก และโคนต้นในลักษณะอาการอย่างเดียวกัน และเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ยังสามารถทำให้ข้าวฟ่างเป็นโรค ส่วนยอดเน่าเละได้อีกด้วย

เชื้อบักเตรีจะเข้าทำลายข้าวโพดและระบาดแพร่หลายในสภาพที่มีอากาศร้อนและชื้น คือมีอุณหภูมิประมาณ 35°ซ และความชื้นสัมพัทธ์ไม่ตํ่ากว่า 70% โดยเฉพาะในสภาพที่มีอากาศร้อนและฝนตกหนักบ่อยครั้ง

เชื้อสาเหตุโรค:
Erwinia carotovora f. sp. zeaeSabet.
บักเตรีมีรูปร่างเป็นท่อน ขนาดเฉลี่ยประมาณ 0.66 X 1.46 ไมครอน เคลื่อนไหวได้ด้วย flagella แบบ peritrichous เป็นแกรมลบ ไม่เกิดสปอร์ การเจริญของเชื้อบนอาหาร nutrient agar โคโลนีสีขาว ลักษณะกลม ขอบเรียบ นูน ผิวเรียบ เป็นมันสะท้อนแสง หากเลี้ยงเชื้อไว้บนอาหารนั้นนานๆ ขอบของโคโลนีของเชื้ออาจเจริญมีรูปร่างคล้ายอะมีบา
เชื้อสามารถเปลี่ยนแปลงนํ้าตาลต่างๆ เช่น rhamnose, xylose, glucose, fructose, lactoe, sucrose, raffinose ให้เกิดกรดและก๊าซได้ ไม่สร้าง indole เปลียน nitrate เป็น nitrite เกิด hydrogen sulfide รีดิวซ์สีของลิตมัส เกิดตะกอนและย่อยโปรตีนในนมและเกิดกรดในที่สุด สามารถใช้ citrate ได้ดี เชื้อสามารถเจริญได้ใน dulcitol เอธิลแอลกอฮอล์ 5% เปลี่ยน sucrose ให้เป็นแอลกอฮอล์ได้ สามารถทำให้เนื้อของมันฝรั่ง หัวหอม แตงกวาเน่าเละอย่างรวดเร็ว
จากการทำ cross inoculation ระหว่างเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกับเชื้อ Erwinia carotovora (Jones) Holland กับพืชอาศัยของแต่ละเชื้อ ปรากฏว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ไม่สามารถทำให้กระหล่ำปลีเกิดโรค และเชื้อ E. carotovora ก็ไม่สามารถทำให้ข้าวโพดเกิดโรคเช่นเดียวกัน
บักเตรีเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในอุณหภูมิ 34-35 °ซ และเจริญได้ดีในอาหาร nutrient agar ที่มี glucose หรือ sucrose ผสมอยู่ด้วย

การควบคุมโรค
1. โรคเน่าเละของข้าวโพดที่เกิดจากเชื้อบักเตรีนี้ เป็นโรคที่พบเกิดกับต้นข้าวโพดในระยะที่ยังปลูกอยู่ในไร่ โดยเฉพาะในระยะก่อนข้าวโพดออกดอกเกสรตัวผู้ การปฏิบัติในไร่ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคเน่าเละของพืชผัก ในการป้องกันและกำจัดตามข้อ 1, 4 และ 6

2. ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดและระบาดของโรคคืออุณหภูมิสูง (35°ซ) และความชื้นสูง ควรใช้ปฏิชีวนะสาร แอกกริ-ไมซิน 100 (streptomycin 18.8% ผสม terramycin 1.5%) โดยผสมนํ้าให้มีความเข้มข้นของ streptomycin 200 ส่วนในล้าน ฉีดพ่นให้ทั่วทุก 7 วัน จะช่วยทำให้การเกิดของโรคน้อยลง การใช้ความเข้มข้นของยาสูงมากกว่า 300 ส่วนในล้าน ยาจะเป็นพิษต่อข้าวโพด โดยจะแสดงอาการใบด่างขาวทั่วๆ ไป

ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช