โรคเน่าเละของพืชผักที่เกิดจากแบคทีเรีย

โรคสำคัญของผัก

ได้แก่โรคที่เกิดกับผักที่เจริญเติบโตพ้นระยะกล้าแล้ว โดยมีสาเหตุจากเชื้อต่างๆ หลายชนิด และไม่เจาะจงว่าจะเป็นกับผักอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นโรคที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้ทั่วไปทั้งขณะที่ยังอยู่ในแปลงปลูก และหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

(bacterial soft rot)

เน่าเละเป็นโรคที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มของโรคที่สำคัญมากโรคหนึ่งของพืชผักทั้งในด้านของการระบาดและความเสียหาย เป็นโรคที่แพร่หลายที่สุด จะพบเกิดขึ้นทั่วไปในทุกห้องถิ่นที่มีการปลูกผัก โดยเฉพาะหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมความเสียหายจะเป็นไปอย่างรุนแรงมาก เป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับพืชผักต่างๆ หลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม บร็อคโคลี คึ่นแย แครอท ผักกาดหัว แตงร้าน แตงกวา ฟัก แฟง สคว๊อทซ์  ฟักทอง มะเขือยาว มะเขือเทศ ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ มันเทศ มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ฝรั่ง โดยโรคจะเกิดขึ้นกับทุกส่วนที่เป็นเนื้ออ่อนและอวบนํ้าของผักเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล หัว ฝัก ได้ทุกระยะการเจริญเติบโตทั้งขณะที่ยังอยู่ในแปลงปลูกและหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

อาการโรค

ลักษณะอาการโดยทั่วๆ ไปของโรคเน่าเละบนผักทุกซนิดจะคล้ายๆ กัน เริ่มจากรอยแผลชํ้าฉ่ำนํ้า (water soaked) จุดเล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม แผลดังกล่าวจะขยายโตออกทั้งโดยรอบและลึกลงไปภายในเนื้ออย่างรวดเร็วขณะเดียวกันเนื้อเยื่อส่วนนี้ก็จะอ่อนยุบตัวลง ภายในเวลาเพียง 1 หรือ 2 วัน อาการเน่า จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งส่วนของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย ลักษณะของแผลจะเละแฉะเป็นเมือกเยิ้ม มีสีคล้ำ หรือน้ำตาล พร้อมกับมีกลิ่นเหม็นฉุนเฉพาะตัว ซึ่งไม่เหมือนกลิ่นใดๆ ในผักหัว เช่น แครอท ผักกาดหัว กะหล่ำปม หากเกิดโรคขึ้นในขณะที่อยู่ในแปลงปลูก จะสังเกตเห็นส่วนยอดของต้นหรือใบเหลือง ต้นเหี่ยวและตายในที่สุด ในมะเขือเทศถ้าเป็นกับลูกสุกขณะยังอยู่กับต้น เนื้อภายในจะถูกทำลายเละหมด แม้ เปลือกและผิวนอกจะยังคงดีอยู่ สำหรับกะหล่ำดอก หรือบร็อคโคลี่ในแปลงปลูกโรคมักจะเกิดตรงส่วนของต้นระหว่างใบกับช่อดอกโดยจะเกิดเป็นแผลช้ำและเน่าเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเปื่อยยุ่ย เมื่อเอามือไปจับต้นจะหักหลุดขาดออกมาโดยง่าย ส่วนกะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี โรคจะเกิดขึ้นกับส่วนของก้านใบหรือใบที่ห่อเป็นหัวชั้นนอกสุดก่อนแล้วค่อยขยายรวมลึกเข้าไปภายใน หากเป็นมากๆ ในแปลงปลูกจะมองเห็นแผลเป็นสีนํ้าตาลอยู่ที่เปลือกนอกของหัวอย่างชัดเจน ผักกาดขาวหรือผักกาดเขียวปลีส่วนใหญ่โรคจะเกิดตรงโคน ใบที่ติดกับต้นตรงระดับดิน อาการแรกที่จะเห็นได้ภายนอก คือ ต้นพืชจะเหี่ยวฟุบลงอย่างรวดเร็วทั้งที่ใบยังเขียวอยู่ พวกนี้เมื่อใช้มือจับดึงต้นเพียงเบาๆ ก็จะขาดหลุดติดมือขึ้นมาอย่างง่ายดาย เพราะเนื้อเยื่อตรงส่วนโคนถูกทำลาย ในกรณีที่เกิดโรคระบาดรุนแรงหากเดินผ่านแปลงปลูกจะได้กลิ่นเหม็น บอกให้ทราบได้ทันทีแม้จะยังไม่เห็นอาการ

สาเหตุของโรค : Erwinia carotovora subsp. carotovora

โรคเน่าเละของผักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ผู้ที่พบและรายงานเกี่ยวกับโรคนี้คนแรก คือ L.R. jones และให้ชื่อเชื้อในขณะนั้นว่า Bacillus carotovorus (1900-1901) ต่อมาได้มีผู้สนใจทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายท่าน

นอกจากจะก่อให้เกิดโรคเน่าเละกับผักชนิดต่างๆ ดังกล่าวแล้วเชื้อชนิดเดียวกันนี้ยังก่อให้เกิดโรคที่มีชื่อเรียกแตกต่างอย่างอื่นออกไปได้อีก เช่น โรคต้นเน่าดำของมันฝรั่ง (potato black leg) โรคต้นใบไหม้ของเบญจมาศ (bacterial blight of chrysanthemum) โรคลำต้นและยอดเน่าของข้าวโพด (top rot orstalk rot of com) โรคต้นเน่าของแกลดิโอลัส (stem rot of gladiolus) เป็นต้น

การแพร่ระบาดและการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ

การติดเชื้อหรือเริ่มต้นของการเกิดโรคมักจะมาจากเมือก (slime) หรือน้ำเละ ๆ ที่เกิดอยู่ตามบริเวณแผลหรือส่วนที่เป็นโรคอยู่ก่อน เมือกเละๆ เหล่านี้จะมีแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกนํ้าชะก็จะกระเซ็นไปติดยังต้นข้างเคียง หรือกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่นำมาปฏิบัติกับพืช การสัมผัสจับต้อง ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้ปลูกเอง หากไปถูกกับส่วนที่เป็นโรคเข้าก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดและติดโรคขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบว่าแมลงต่างๆ ที่มาเกาะกัดกินหรืออาศัยอยู่บนพืชก็เป็นตัวนำเชื้อให้ระบาดและแพร่กระจายได้ โดยเฉพาะแมลงวันผัก (maggot fly) สองชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hylemya cilicrura และ Hylemya brassicae พบว่านอกจากจะเป็นตัวนำเชื้อให้แพร่กระจายแล้วยังยอมให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคอาศัยอยู่ข้ามฤดูภายในตัวของมันในลักษณะความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน (specific relahip) อีกด้วย คือ เริ่มตั้งแต่หนอน larva ซึ่งเกิดจากไข่ที่แมลงวันตัวแม่ไปวางไว้ที่แผลเน่าของผักขณะเจริญเติบโต กินอาหารจากเนื้อเยื่อพืชที่เน่า ก็จะกินเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่มากมายในบริเวณนั้นเข้าไปด้วย เมื่อหนอนเข้าดักแด้เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นตัวเต็มวัย เชื้อซึ่งถูกกินเข้าไปในตอนแรกก็จะถูกส่งไปฟักตัวอยู่ในกะเปาะเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับท่อรังไข่ (oviduct) เพื่อคอยเคลือบไข่ขณะที่เคลือบผ่านท่อดังกล่าวออกมา ด้วยเหตุนี้ไข่ทุกใบที่เกิดจากแมลงวันเพศเมียที่กินเอาเชื้อเข้าไปขณะที่ยังเป็นตัวหนอนก็จะมีเชื้อแบคทีเรียติดมาด้วย และเมื่อไข่เหล่านั้นถูกนำไปวางลงในรอยแผลหรือรอยแตกบนพืช แบคทีเรียซึ่งติดอยู่ที่เปลือกไข่ก็จะเข้าทำลายพืชทันทีแล้วก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นในที่สุด ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่เมื่อกินส่วนของพืชที่ถูกแบคทีเรียทำลายให้เน่าก็จะกินเอาแบคทีเรียเข้าไปอีกหมุนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ปกติแล้วโรคนี้ไม่ติดต่อโดยผ่านทางเมล็ด เพราะเชื้อพวกนี้ไม่สามารถทนต่อความแห้งในสภาพที่เคลือบติดอยู่กับเมล็ดได้นาน สำหรับการเป็น soil-borne จากการติดอยู่กับเศษซากพืชที่ตายและตกหล่นอยู่ตามดินปลูกนั้น ยังไม่มีผู้ใดทราบหรือยืนยันแน่นอนว่าเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใด

การเข้าทำลายของเชื้อและการเกิดโรค

โดยปกติเชื้อ E. carotovora จะเข้าไปสู่ภายในพืช และก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ก็โดยผ่านทางแผลเท่านั้น แต่ก็มีอยู่มากที่เป็นพวกเข้าทำลายซํ้าเติม (secondary infection) คือ ตามเข้าไปหลังจากที่มีเชื้ออื่นเข้าไปทำลายอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาก็จะเข้าไปเจริญทวีจำนวนอยู่ระหว่างเซลล์ parenchyma ขณะเดียวกันก็จะสร้างเอนไซม์ pectase หรือ pectinase ออกมาย่อยสลายสารเพคติน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเซลล์ มีผลให้เซลล์ขาดหลุดออกจากกันแล้วเกิดการ plasmolyse ขึ้นกับเซลล์ที่บริเวณเนื้อเยื่อดังกล่าวทำให้เกิดการเน่าขึ้นในที่สุด กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เชื้อเริ่มเข้าไปสู่ภายในพืชจนเกิดอาการให้เห็นจะกินเวลาตั้งแต่ 12-24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น จากนั้นการทำลายก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเป็นแผลใหญ่ขยายลุกลาม กว้างขวางออกไปมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการก็จะทวีจำนวนเพิ่มปริมาณอย่างมากมายเกิดเป็นเมือกเยิ้มหรือน้ำเละข้นๆ ปกคลุมบริเวณแผลทั้งหมดไว้

โรคเน่าเละที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนี้มักจะเกิดระบาดทำความเสียหายในฤดูฝน และจะรุนแรงยิ่งขึ้นขณะที่มีความชื้นและอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกพรำ ติดต่อกันหลายๆ วัน ท้องฟ้ามีเมฆมาก แสงแดดน้อยเข้าลักษณะครึ้มฟ้าครึ้มฝน อุณหภูมิระหว่าง 30 – 35° ซ. ช่วงนี้หากเกิดการติดเชื้อขึ้นจะแพร่ขยายลุกลามออกไปอย่างรุนแรง ในทางตรงกันข้ามหากอากาศแห้งเย็น (ต่ำกว่า 25° ซ.) พืชที่ได้รับเชื้อหรือกำลังเป็นโรคอยู่แต่ไมรุนแรงมากนัก อาการก็จะหยุดไม่ขยายลุกลามต่อไป หรืออาจหายไปได้เองในที่สุด

การป้องกันกำจัด

วิธีลดความเสียหายและป้องกันกำจัดโรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรีย คือ การหมั่นสังเกตดูแลเอาใจใส่แปลง และพืชที่ปลูกให้รีบเก็บทำลายทันทีที่เห็นพืชต้นหนึ่งต้นใดแสดงอาการ โดยนำไปทิ้งให้ไกลจากแปลงปลูกหรือไม่ก็ฝังดินลึกๆ หรือเผาไฟให้หมดหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลแล้วควรเก็บทำลายเศษซากพืช ตลอดจนตอซังให้หมดจากแปลงปลูก โดยเฉพาะหลังจากเกิดโรคขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้ออาศัยเกาะกินเศษซากพืชอยู่จนถึงการปลูกในช่วงต่อไปได้ ขณะที่แปลงปลูกว่างอยู่ควรขุดหรือไถพลิกกลับหน้าดินขึ้นมาตากแดด สัก 2-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะให้ห่างกันพอสมควรหรือหากเป็นไปได้ควรจะเปลี่ยนชนิดพืชและที่ปลูกไปเรื่อยๆ ไม่ควรปลูกผักชนิดเดียวกันกับที่เคยเป็นโรคหรือง่ายต่อการเกิดโรคซํ้าลงในที่เดิม ควรทิ้งระยะสัก 2-3 ปี โดยนำพืชอื่นมา ปลูกสลับแทน นอกจากการปฏิบัติที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีคำ แนะนำเพิ่มเติมในอันที่จะช่วยลดความเสียหายของโรคลงได้อีก ดังนี้

1. ในการเก็บเกี่ยวผลหรือการกระทำใดๆ ต่อต้นพืชระวังอย่าให้เกิดแผลรอยช้ำหรือฉีกขาดกับส่วนของพืชโดยไม่จำเป็น

2. พืชผลที่เก็บแล้วหากต้องล้างทำความสะอาด ควรทำด้วยความระมัดระวังและผึ่งลมให้แห้งเสียก่อนที่จะนำลงบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อ ภาชนะที่ใช้บรรจุควรจะใหม่ หรือไม่ก็ต้องสะอาดปราศจากเชื้อติดอยู่หรือผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้วก่อนนำมาใช้ การบรรจุควรให้พอดีไม่เบียดอัดแน่นกันจนเกินไป จนอาจทำให้เกิดรอยแผลหรือช้ำขึ้นกับพืชผล อันอาจเป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ควรให้มีช่องว่างระหว่างกันพอสมควรหรือให้อากาศมีระบบถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้อับชื้นเป็นเวลานาน

3. การขนส่งผลิตผลจากไร่หรือแปลงปลูกออกสู่ตลาดไม่ควรวางเข่งตะกร้าหรือภาชนะที่บรรจุซ้อนทับกันหลายชั้น ควรมีไม้วางขวางกั้นระหว่างชั้น โดยเฉพาะหากต้องเดินทางไกล สำหรับพืชผักที่มีราคาแพงและเปราะบาง ฉีกหักง่าย เช่น ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ แครอท กะหล่ำบางชนิด ควรบรรจุในภาชนะที่แยกเฉพาะหัวหรือต้นออกจากกันเป็นส่วนๆ และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

4. หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วหากจำเป็นต้องเก็บไว้ระยะหนึ่ง คือยังไม่สามารถจำหน่ายได้ทันที หรือจำหน่ายไม่หมดควรเก็บพืชผักดังกล่าวไว้ในโรงเรือนที่แห้งโปร่งลมพัดถ่ายเทสะดวกหรือเก็บไว้ในโรงเรือนที่ปรับอุณหภูมิได้ โดยหากเก็บในที่เย็น 5-6° ซ. จะเก็บไว้ได้นานหลายวัน

5. ไม่ควรปลูกพืชผักให้แน่นหรือเบียดกัน ระยะให้มีช่องว่างระหว่างต้นพอควร เพื่อให้แต่ละต้นได้รับแสงแดดพอเพียงทั่วถึงและให้การระบายถ่ายเทอากาศระหว่างต้นเป็นไปได้โดยสมบูรณ์ เพื่อกันไม่ให้นํ้าที่ใช้รด นํ้าค้างหรือนํ้าฝนเกาะติดอยู่กับต้นผักเป็นเวลานาน จากนั้นหากต้นใดต้นหนึ่งเกิดโรคขึ้นโอกาสที่จะติดระบาดไปยังต้นข้างเคียงก็จะน้อยลง

6. การรดนํ้าหรือให้นํ้ากับต้นพืชควรให้เป็นเวลา และให้ได้พอเพียงครั้งเดียว ในตอนเช้าจะปลอดภัย เพราะเมื่อสายมีแสงแดดส่องพืชก็จะแห้งโดยเร็วทำให้โอกาสที่จะเกิดโรคเป็นไปได้ยากขึ้น การให้น้ำแบบสเปรย์หรือพ่นเป็นฝอยละอองโดยใช้เครื่องพ่นหรือสปริงเกอร์ติดต่อกันตลอดวันหรือเป็นเวลานาน ไม่ควรทำกับผักที่ง่ายต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะในขณะที่มีโรคระบาด จะทำให้เกิดการแพร่กระจายออกใปกว้างขวางและเสียหายรุนแรง

7. การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคควรจะเป็นวิธีสุดท้ายในกรณีที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในกรณีที่ต้องการกำจัดแมลงที่เป็นพาหะและเป็นที่อาศัยของเชื้อโรค maggot fly เท่านั้น ส่วนบนต้นผักที่กำลังเป็นโรคหรือเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดลุกลามต่อไปก็ให้ใช้สารพวกที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท (cupravit) หรือคอปปิไซด์ (coppicide) ในอัตราส่วน 40 กรัมต่อนํ้า 1 ฉีดพ่นต้นผักทุก 3-5 วันต่อครั้ง หากเป็นฤดูฝนควรผสมสารเคลือบใบพวก sticker หรือ spreader ลงไปด้วย เพื่อให้สารเคมีจับเกาะติดอยู่กับพืชนานขึ้น นอกจากคูปราวิทอาจใช้สารพวกจุนสี (CuSO4) เช่น บอร์โดมิกเจอร์ (Bordeaux mixture) 4-4-50 (ปอนด์-ปอนด์-แกลลอน) แทนก็ได้โดยฉีดทุกๆ 3-5 วันเช่นกัน

ปัจจุบันได้มีผู้ทดลองนำเอายาพวกปฏิชีวนะ(antibiotics) เช่น แอกริมัยซิน (agrimycin) แอกริสเตรป (agristrep) มาใช้ทั้งโดยการฉีดพ่นให้กับพืชในแปลง หรือจุ่มแช่พืชผลที่ได้เก็บเกี่ยวแล้วก็ปรากฏว่าป้องกันการเกิดโรคได้ผลดี สำหรับภาชนะที่ใช้บรรจุ เช่น เข่ง กระบุง ตะกร้า หรือถุงพลาสติก หากจำเป็นต้องใช้ของเก่าเพื่อความปลอดภัยจากโรค ก่อนนำไปบรรจุควรฆ่าเชื้อโดยนำไปจุ่มแช่ลงในนํ้ายาฟอร์มาลีนเมอร์คิวริคคลอไรด์ หรือสารละลายจุนสีอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน