โรคเหี่ยวของพืช

(Fusarium wilt)
โรคเหี่ยวที่เกิดจาก Fusarium พบระบาดทำความเสียหายมากทั่วไปแก่ผัก ไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ และพืชไร่หลายชนิด เช่น กล้วย กาแฟ มะเขือเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะในดินเขตร้อนและในเรือนกระจก โรคเหี่ยวนี้เป็นโรคทางกลุ่มท่อลำเลียงนํ้าอาหารพืช อาการโรคแต่ละพืชจะแตกต่างเพียงเล็กน้อยขึ้นอยู่กับชนิด และระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการส่วนใหญ่ใบเริ่มเหลืองจากใบล่างขึ้นไป ใบและกิ่งก้านเริ่มเหี่ยว ใบร่วง เซลตามขอบใบตาย ต้นตายในที่สุด ผลอาจเน่าและร่วง รากจะเจริญออกทางด้านข้างและเน่าในภายหลัง
วงจรของโรคและวิธีปฏิบัติในการควบคุมโรคของพืชแต่ละชนิด คล้ายคลึงกันเช่นการเข้าทำลาย การเจริญของเชื้อ ควบคุมโรคโดยใช้พันธุ์ต้านทาน ฆ่าเชื้อในดิน และใช้ต้นกล้าหรือเมล็ดที่ปราศจากโรคปลูก ปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น จะแตกต่างกันเพียง form species ของเชื้อสาเหตุโรคเท่านั้น
Fusarium oxysporum f. lycopersici สาเหตุโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ
Fusarium oxysporum f. cubense สาเหตุโรคเหี่ยวของกล้วย (Panama disease)
โรคที่จะกล่าวไว้เป็นตัวอย่างคือโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ
โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ
โรคทำให้มะเขือเทศแคระแกรน เหี่ยว และตายก่อนการเก็บผลหรือระหว่างการเก็บผล โดยปกติโรคอาจไม่รุนแรงมากนัก นอกจากอุณหภูมิของอากาศและดินสูงระหว่างฤดูปลูกเท่านั้น
อาการโรค อาการเริ่มแรก เส้นใบด้านนอกและใบย่อยที่อ่อนกว่าใสเล็กน้อย ก้านใบแก่เหี่ยวทำให้ใบห้อยลง หากเป็นระยะกล้าจะตายหลังจากเริ่มแสดงอาการให้เห็น ต้นแก่จะแคระแกรน ใบล่างเหลือง ใบและลำต้นเหี่ยว แตกรากเจริญด้านข้างมากขึ้น ใบร่วง ขอบใบแห้งตาย และต้นตายในที่สุด หากตัดลำต้นตามขวางจะเห็นวงแหวนสีนํ้าตาล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อของกลุ่มท่อลำเลียงตาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
เชื้อสาเหตุโรค: Fusarium oxysporum f. lycopersici
เส้นใยเชื้อราไม่มีสี เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่ออายุมากขึ้น บางสภาพอาจเป็นสีชมพูอ่อนหรือม่วง เชื้อสร้างสปอร์แบบไม่ใช้เพศได้ 3 ชนิด คือ
1) Microconidia ประกอบด้วย 1-2 เซล ซึ่งเป็นสปอร์เพียงชนิดเดียวที่เชื้อสร้างได้ในท่อลำเลียงของพืช
2) Macroconidia ประกอบด้วย 3-5 เซล มีรูปร่างโค้งไปที่ปลายของสปอร์ทั้งสองข้าง ปกติเกิดใน sporodochia.like ในเนื้อผิวพืชที่เป็นโรค และ
3) Chlamydospores ประกอบด้วย หนึ่งหรือสองเซล ผนังหนามีสปอร์กลมอยู่ภายในที่ปลาย (terminally) หรือตรงกลาง (intercalary) ซึ่ง chlamydospores นี้อาจเกิดจากเส้นใยที่แก่ หรือใน macroconidia สปอร์ทั้ง 3 แบบอาจเกิดในดินหรือในอาหารเลี้ยงเชื้อได้
วงจรของโรค เชื้ออยู่ข้ามฤดูในดินในรูปของเส้นใยและสปอร์ชนิดต่างๆ แต่ส่วนมากจะเป็น chlamydospores เชื้อแพร่กระจายโดยลม นํ้า ติดเครื่องมือทางการเกษตร พืช และดินปลูกพืช เชื้อมีชีวิตอยู่ในดินได้อย่างไม่มีกำหนด
เส้นใยหรือสปอร์ของเชื้องอกเข้าสู่พืชทางปลายราก หรือทางแผล หรือตรงจุดที่รากแตกแขนงออก เส้นใยเจริญระหว่างเซลเข้าไปใน cortex ของราก สู่ xylem เข้าไปใน pits เส้นใยแพร่ไปยังส่วนต่างๆ
ของพืช โดยการแตกกิ่ง และสร้าง microconidia เส้นใยจะเจริญเข้าไปในท่อลำเลียงที่อยู่ข้างเคียงทาง pits ต่างๆ Microconidia สามารถออกเป็นเส้นใยหลังจากหยุดเคลื่อนย้ายแล้ว
การเหี่ยวของพืชเกิดจากการอุดตันท่อลำเลียงนํ้าอาหารพืชไปสู่ใบไม่เพียงพอต่อการใช้ตามปกติทำให้ปากใบปิด ใบเหี่ยวและตายในที่สุด การอุดตันเกิดจากเส้นใย สปอร์ เยล (gells) และยางเหนียว (gums) การเกิด tylose และการกดของท่อจากเซล parenchyma ที่อยู่ถัดไป
การควบคุมโรค
1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
2. ฆ่าเชื้อในดินสำหรับเพาะกล้า และปลูกพืชหมุนเวียนในไร่ปลูก เพราะการฆ่าเชื้อดินในไร่อาจเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ไม่คุ้มต่อมูลค่าของผลผลิต
3. ใช้เมล็ดและกล้าที่ปราศจากโรคปลูก การแช่นํ้าร้อนอาจได้ผลดีในการกำจัดเชื้อที่ติดมากับเมล็ด
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช