โรคเหี่ยวของแตงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

(bacterial wilt)

โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนับเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกพืชพวกแตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงแคนตาลูบ (cantaloup) แตงไทย แตงโม ฟักแฟง ฟักทอง และแตงสควอซ (squash) เป็นต้น

อาการโรค

ต้นแตงที่ถูกเชื้อเข้าทำลายในระยะแรกจะสังเกตเห็นอาการเหี่ยวขึ้นกับใบอ่อนที่อยู่ปลายเถาเพียง 2-3 ใบก่อน โดยใบเหล่านั้นจะเฉา เนื้อใบอ่อนเหี่ยวและห่อลง ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นใบอื่นจะแสดงอาการตาม ในที่สุดก็จะเหี่ยวฟุบลงทั้งต้นหรือทั้งเถาภายในเวลา 1-2 อาทิตย์ หากต้นแตงเกิดโรคขณะออกลูกหรือให้ผลแล้วลูกที่มีอยู่ก็จะแสดงอาการเหี่ยวอ่อนนุ่มตามไปด้วย ในแตงอ่อนแอต่อโรคบางพันธุ์ (susceptible) เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แคนทาลูป เมื่อถูกเชื้อเข้ามาทำลายจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งเถาและตายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนในพวกที่มีความต้านทานอยู่บ้างเมื่อเกิดโรคอาจเกิดอาการเหี่ยวขึ้นอย่างช้าๆ และไม่เหี่ยวถาวร คือจะเหี่ยวเฉพาะกลางวันที่มีอากาศร้อน มีการระเหยนํ้ามาก พอกลางคืนก็จะตั้งตัวสดอย่างเดิม แต่พวกนี้จะเจริญเติบโตช้าหรือแคระแกร็น ตัวอย่างเช่น ฟักทอง สควอซ โรคนี้จะไม่มีหรือแสดงอาการแผลใดๆ ให้เห็นที่โคนต้นหรือราก ดังเช่นโรคเหี่ยวที่เกิดจากไส้เดือนฝอยหรือเชื้อราบางชนิด หลังจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุเข้าไปภายในต้นพืชแล้วก็จะไปเจริญและก่อให้เกิดการทำลายขึ้นกับระบบท่อส่งน้ำ และอาหารภายในต้นทำให้ไม่สามารถส่งนํ้า อาหารไปเลี้ยงต้นได้เป็นปกติ จึงเกิดอาหารเหี่ยวและตายขึ้น สำหรับการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่นั้น ให้ถอนต้นที่แสดงอาการในระยะแรกๆ ขึ้นมาจากดิน ใช้มีดคมตัดต้นให้ห่างจากโคนขึ้นมา 2-3 คืบ หรือราวกลางๆ ต้นให้ขาดออกจากกัน แล้วปล่อยทิ้งไว้สักครู่หรือใช้มือค่อยๆ รีดจากลำต้นด้านในออกมาหารอยตัด จะมีนํ้าเมือกหรือยางเหนียวๆ สีขาวขุ่นหรือสีนมไหลซึมออกมาที่รอยตัด เมื่อใช้ใบมีดหรือนิ้วมือแตะดูจะรู้สึกเหนียวและมีความหนืดเล็กน้อยเช่นนี้ก็แสดงว่าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุโรค : Erwinia tracheiphila

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่ม coliform bacteria ลักษณะเซลล์เป็นแท่งสั้นๆ หัวท้ายมนมีขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 0.5 – 0.7X 1.2 – 2.5 ไมครอน เคลื่อนไหวได้โดยมีหางสั้นๆ 2-7 เส้นรอบตัว เป็นแบคทีเรียที่มีวงจรชีวิตและการก่อให้เกิดโรคกับพืชแปลกกว่าตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เชื้อพวกนี้จะก่อให้เกิดโรคกับพืชได้ก็โดยการช่วยเหลือของด้วงเต่า (beetle) สองชนิดเท่านั้น คือ ด้วงเต่าปีกลาย (striped cucumber beetle-Acalymma vittata Farb.) และด้วงเต่าปีก 12 จุด (12 spotted cucumber beetle-Diabrotica undecimpunctata Oliv.) เป็นที่น่าสังเกตว่าแมลงทั้งสองตัวนี้ไม่ปรากฏว่ามีในประเทศไทย แต่เราก็มีโรคนี้และมีด้วงเต่าที่กัดกินแตงสองชนิดเช่นกัน คือเต่าแตงแดงซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhaphildopalpa similis Oliv. และเต่าแตงดำ คือ Ceratia frontalis Baly จึงเข้าใจว่าการเกิดโรคเหี่ยวของแตง อันเนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรีย ในประเทศไทยอาจเป็นไปได้โดยผ่านแมลงสองชนิดนี้

การเกิดและการระบาดของโรค

เริ่มจากแมลงด้วงเต่าดังกล่าวไปกัดกินต้นแตงที่เป็นโรคก็จะกินเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในต้นพืชเข้าไปด้วย จากนั้นเชื้อก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหารของแมลง ระยะหนึ่ง เมื่อแมลงไปกัดกินต้นแตงอื่น ก็จะปล่อยเชื้อออกมาโดยติดกับมูลที่ถ่ายลงบนแผลที่มันกัด เชื้อก็จะเข้าสู่พืชแล้วก่อให้เกิดโรคขึ้นจากนั้นก็จะทวีจำนวนเพิ่มปริมาณ แพร่กระจายไปตามระบบหมุนเวียนน้ำภายในตามท่อ xylem ทั่วทั้งต้น การ infection เริ่มจากเชื้อเข้าไปภายในต้นพืชจนแสดงอาการจะใช้เวลา 4-5 วัน และเชื้อจะกระจายไปทั่วต้นภายใน 12-15 วัน เชื้อแบคทีเรียพวกนี้พบว่าจะเข้าไปก่อให้เกิดโรคกับพืชได้ก็โดยผ่านทางแผลที่เกิดจากการกัดกินของแมลงด้วงเต่าดังกล่าวแล้วเท่านั้น ไม่เข้าทางช่องเปิดธรรมชาติหรือ stomata หรือโดยวิธีอื่นๆ และเชื้อพวกนี้ไม่ ถ่ายทอดโดยผ่านทางเมล็ด

การระบาดของโรคนี้ขึ้นอยู่กับการระบาดของแมลงที่เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อ เมื่อใดที่อุณหภูมิหรือสิ่งแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของแมลงโรคก็จะเกิดรุนแรงตามไปด้วย

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ นอกจากอยู่ในตัวแมลงด้วงเต่าสองชนิดดังกล่าวแล้ว ก็อาจอาศัยอยู่ในวัชพืชพวกแตงต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแปลงปลูก

การป้องกันกำจัด

1. ตัดการระบาดและการเกิดโรคโดยการกำจัดทำลายแมลงด้วงเต่าด้วยสารเคมีฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน (sevin) เมโธไซคลอ (methoxychlor) หรือโรทีโนน (rotenone)

2. ป้องกันโรคโดยตรงโดยการใช้สารเคมีพวกที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท คอปปิไซด์ หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์ พวกนี้มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อแบคทีเรียตอนเริ่มต้นการ infection ได้ดี แต่ก็มีข้อจำกัดคือหากใช้ในต้นกล้าหรือต้นอ่อนอาจทำให้เกิดการชะงักงันหยุดการเจริญเติบโต ในระยะกล้าจึงควรหลีกเลี่ยงไปใช้ไซแรมหรือแคปแตนจะเป็นการปลอดภัยกว่า

ได้มีการทดลองนำเอายาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมายซินซัลเฟต และเทอรามายซิน ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทดูดซึม มาฉีดพ่นให้กับต้นแตงในความเข้มข้นที่ค่อนข้างสูง คือ 500 ppm. ก็ปรากฎว่าสามารถป้องกันและรักษาโรคในระยะเริ่มเป็นได้ดี แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ ความเข้มข้นของสารเคมีที่สูงขนาดนี้เป็นพิษ อาจเกิดเป็นอันตรายกับต้นแตง ปัจจุบันได้มีบริษัทผลิตยานำเอาสารปฏิชีวนะทั้งสองชนิดมาผสมกันโดยให้ชื่อทางการค้าว่า แอกริมายซิน (agrimycin) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าทำให้สามารถใช้ในอัตราความเข้มข้นที่เจือจางกว่าได้ (200-400 ppm) และปลอดภัยที่จะนำมาใช้กับต้นแตง

ปัจจุบันยังไม่มีแตงพันธุ์ใดต้านทานโรคนี้ได้ 100%