โรคแคระแกร็นในไก่เนื้อที่พบได้บ่อย

โรคแคระแกร็นในไก่เนื้อ

ดร.  ปฐม  เลาหะเกษตร

ผู้เลี้ยงไก่กระทงจะพบบ่อย ๆ  โดยเฉพาะในฟาร์มเลี้ยงไก่กระทงที่เคยเลี้ยงติดต่อกันมานานหลายปีว่าไก่กระทงที่เลี้ยงนั้น มีเปอร์เซ็นต์ไก่แคระแกร็นสูง  ไก่ที่แคระแกร็นมีลักษณะ ขนงอกไม่เต็มตัวและยังมีขนอุยเหลืออยู่มากในขณะที่ตัวที่โตตามปกติจะมีขนเต็มและมีขนาดโตกว่าไก่ที่แคระแกร็นเท่าตัว  นอกจากนั้นไก่ที่แคระแกร็นยังมีอาการท้องโต และขาถ่าง แสดงอาการเหมือนไก่ขาอ่อน  เมื่อปรากฎเช่นนี้ผู้เลี้ยงมักไปโทษบริษัทอาหารว่า อาหารไม่ดีบ้าง ลูกไก่โตไม่สม่ำเสมอ ก็ไปโทษพันธุ์ไก่บ้าง และโทษคนเลี้ยงบ้างว่าดูแลไม่ดี

บัดนี้นักวิชาการเขาพบสาเหตุแล้วว่าเกิดจากอะไร  สาเหตุที่แท้จริงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส  ซึ่งนักวิชาการสามารถแยกเชื้อได้และมีชื่อว่า เชื้อเอเวี่ยน แคลีซิไวรัส (Avian Calicivirus) (Poultry International, April 1982 หน้า ๑๒)

นายโคเวนโฮเวนและผู้ร่วมงานของเขา (Kouwenhoven and co-workers) ได้ทำการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ เมื่อมีปัญหาขึ้นในประเทศฮอแลนด์ ก่อนหน้านั้นมีพบในประเทศออสเตรเลียและอเมริกา ซึ่งนักวิชาการเข้าใจกันว่าลักษณะแคระแกร็นเกิดจากอาหารไม่ดูดซึม (Malabsorption syndrom)

ต่อมาในปี ๒๕๒๔ ปีเตอร์  ไวเอธ(Peter wyeth) แห่งศูนย์ปฏิบัติการสัตว์แพทย์เวย์บริดจ์  สหราชอาณาจักร (Central Veterinary Laboratory Weybridge, UK) สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคแคระแกร็นนี้ได้สำเร็จ

โรคนี้เกิดได้ทั้งในไก่และในไก่งวง อาการแสดงของโรคในไก่ทั้ง ๒ ชนิดคือ ไก่จะโตไม่สม่ำเสมอ มีอาการขาอ่อนขนงอกไม่ดี  รวมทั้งขนหักกะรุ่งกะริ่งบางขนชี้ออกจากลำตัวเป็นลักษณะที่เราเรียกกันว่า “ไก่เฮลิคอปเตอร์” เพราะขนที่ชี้ออกมาคล้ายใบพัดเรือบินคอปเตอร์

อาการของโรคที่แสดงให้เห็นตั้งแต่อายุ ๔ วัน  และจะปรากฎชัดขึ้นว่าไก่แคระแกร็น เมื่ออายุได้ ๗ ถึง ๑๐ วัน  ถ้าจะมีการตายมักเกิดขึ้นบ้างในระยะเล็ก ปกติแล้วจะหยุดตายเมื่อไก่อายุได้ ๒ อาทิตย์

เมื่อไก่มีอายุได้ ๓ หรือ ๔ อาทิตย์อาการแคระแกร็นจะเห็นชัดเจนขึ้นมาก เพราะไก่ที่เป็นโรคนี้มีขนาดเล็กมาก  มีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของไก่ที่โตตามปกติของฝูงเท่านั้น  ตามตัวยังมีขนอุยอยู่เต็มตัว ขนชุดที่ ๒ ยังไม่ออกมาแทน  บริเวณท้องบวมเต่งยื่นออกมาและบางครั้งขยายใหญ่จนทำให้ขากางไก่เดินลำบาก เหมือนอาการขาอ่อน สภาพของไก่ในฝูงเหมือนเลี้ยงไก่หลายอายุรวมกัน

เมื่ออายุได้ ๕ อาทิตย์ ไก่บางตัวอาจโตขึ้นบ้าง แต่ขนชุดที่ ๒ ก็ยังงอกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  จนอายุได้ ๗ อาทิตย์ การเจริญเติบโตก็จะเห็นเด่นขึ้นเล็กน้อย  แต่ก็ยังมีอาการเดินลำบากอยู่เหมือนเดิม

โรคแคระแกร็น เมื่อเกิดขึ้นในฝูง  อาจทำให้ไก่แสดงอาการแคระแกร็น ๕ ถึง ๓๐% จึงมีผลให้ประสิทธิภาพในการใช้อาหารแลกเนื้อของไก่ในฝูงต่ำ

จากการตรวจซากพบลักษณะวิการหลายอย่างคือ ลำไส้ยืดตรง ภายในเต็มไปด้วยอาหารที่ไม่ย่อย ไส้ติ่งและถุงน้ำดีบวม เซลล์เบอร์ซาในกระพุ้งก้นไม่เจริญโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของโรค  ตับอ่อนมีเนื้อเยื่อสีขาวเกิดขึ้น (fibrosis) กระดูกซี่โครงมีลักษณะของโรคกระดูกอ่อน ขนเปราะและหักง่าย

เป็นอันว่าที่เดิมเราเข้าใจผิดไปต่าง ๆ นา ๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้ไก่แคระแกร็นนั้น บัดนี้เราทราบแน่นอนแล้วว่า  เกิดจากการเป็นโรคที่นักวิชาการสามารถแยกเชื้อออกมาได้แล้ว ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า เอเวี่ยนคาลิซิไวรัส (Avian Calicivirus) เพราะมันมีลักษณะคล้ายเชื้อพวกคาลิซิอุยริดี (Caliciuiridae) ซึ่งมีผู้พบครั้งแรกในปี ๒๔๗๕

การรักษาโรคนี้ยังไม่มี แต่มาตรการป้องกันที่ใช้ได้ผลมาแล้วในประเทศฮอแลนด์คือ ด้วยการสุขาภิบาลที่ดีและด้วยการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นชุด ๆ แบบเอาเข้าเลี้ยงพร้อมกันและจับขายพร้อมกัน (all-in-all-out) สำหรับการสุขาภิบาลนั้นเน้นหนักเรื่องการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์การเลี้ยงและโรงเรือนด้วยการล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก และใช้เครื่องฉีดน้ำแรงอัดเข้าช่วย  แล้วทำการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอร์มาลีน ๑๐ % เมื่อเตรียมอุปกรณ์เข้าที่ใส่สิ่งรองพื้นใหม่เรียบร้อยพร้อมที่จะนำไก่เข้าเลี้ยง ก็ทำการรมคอกเสียด้วยแกสฟอร์มาดีไฮด์ (ชนิดที่ใช้รมตู้ฟักแต่ให้เข้มข้นกว่านั้น ๓ เท่า)  อีกครั้งหนึ่งถ้าสามารถปิดโรงเรือนได้มิดชิด ก็จะสามารถลดอัตราการตายและช่วยให้ไก่เจริญเติบโตตามปกติได้