อาการโรคแผลจุดในมะเขือเทศ

(bacterial spot หรือ bacterial scab)

โรคนี้นอกจากจะเป็นกับมะเขือเทศแล้ว ยังปรากฏว่าเป็นกับพริกยักษ์ (bell pepper) ด้วย มักจะระบาด และทำความเสียหายมากในฤดูฝนหรือระยะที่อากาศชื้นสูง

อาการโรค

การเกิดโรคจะเกิดได้กับทุกส่วนของต้นมะเขือเทศที่อยู่เหนือพื้นดิน และทุกระยะการเจริญเติบโต บนใบอาการจะเริ่มจากจุดช่ำฉ่ำนํ้าเล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาจะกลายเป็นแผลจุดค่อนข้างกลมยุบจมลงไปในเนื้อใบเล็กน้อยสีนํ้าตาล-เทาหรือดำ ขนาดราว 1-5 มม. แผลเหล่านี้หากเกิดขึ้นมากๆ ใบจะเหลืองแล้วแห้งตาย สำหรับก้านใบ กิ่ง และลำต้น แผลที่เกิดจะมีลักษณะตกสะเก็ด (scab) ยาวๆ ไม่กลมเหมือนที่ใบ สีออกเทาๆ แผลที่เกิดขึ้นทั้งที่ใบและต้น กิ่งก้าน ถ้าอากาศชื้น จะมีเมือกของแบคทีเรียสีเหลืองอ่อนหรือครีม ซึมออกมาเกาะติดเป็นหยดหรือเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ฉาบปิดอยู่ บนผล หากเป็นในขณะที่ยังเขียวอยู่ อาการจะเริ่มจุดช้ำสีดำขึ้นก่อน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแผลแห้งยุบตัวลง ลักษณะค่อนข้างกลมมีขอบสองชั้นสีน้ำตาลเข้มกว่าตรงกลางซึ่งสีอ่อนกว่า ขนาดของแผลบนผลจะไม่โตมากนักประมาณ 2-3 มม. แผล ที่เริ่มเป็นในตอนแรก และยังไม่แห้งนั้นเซลล์โดยรอบจะซีดจาง ลักษณะเป็น halo ล้อมอยู่แต่เมื่อเป็นนานๆ แผลแห้งแล้ว halo จะหายไป ต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคนี้หากเป็นระยะออกดอกหรือเริ่มมีผล ดอกและผลอ่อนมักจะล่วงหลุดจากต้น

สาเหตุโรค: Xanthomonas campestris pv. vesicatoria

เป็นเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเดียวกับ X.campestris ตัวสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคในพืชต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพียงแต่ตัวนี้เป็น pathovar แตกต่างออกไป คือทำลายเฉพาะมะเขือเทศ และพริกยักษ์เท่านั้น จะระบาด และเกิดโรคได้ดีในฤดูฝน หรือช่วงที่มีความชื้นสูงมากๆ ระยะที่ฝนตกหนักและติดต่อกันนานๆ จะระบาดรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายมาก สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะต่อโรคจะอยู่ระหว่าง 24-25°ซ.

การอยู่ข้ามฤดูและการระบาด

เชื้อแบคทีเรียมีชีวิตอยู่ข้ามฤดูปลูกได้จากการอาศัยอยู่ในเศษซากพืชเป็นโรคที่ปล่อยทิ้งไว้ และในวัชพืชพวกพริก มะเขือที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญคือติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะของ seed-borne ทำให้ทั้งอยู่และระบาดข้ามฤดูได้ส่วนการระบาดระหว่างต้นในช่วงการปลูกพืชเกิดขึ้นได้โดยการสัมผัสจับต้องหยดหรือเมือกของแบคทีเรีย โดยน้ำที่สาดกระเซ็นและโดยแมลง เมื่อตกลงบนพืชก็จะเข้าไปสู่ภายในโดยผ่านทางช่อง stomata

การป้องกันกำจัด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อหากไม่แน่ใจให้นำไปจุ่มแช่ในสารละลายเมอร์คิวริคคลอไรด์ 1:2000 นาน 10 – 15 นาที หรือแช่ในน้ำอุ่น 49-50 ∘ซ. นาน 25 นาที

2. เก็บทำลายต้นตอและเศษซากพืชเป็นโรคให้หมดจากแปลงปลูกโดยการเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ รวมทั้งพยายามขจัดทำลายวัชพืชตระกูล Solanaceous ไม่ให้มีหลงเหลืออยู่บริเวณแปลงปลูก

3. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ง่ายต่อการเกิดโรคลงในดินปลูกเก่าที่เคยมีโรคระบาดหรือให้ใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนโดยนำพืชอื่นมาปลูกสลับอย่างน้อย 3 ปี

4. ควรงดการให้นํ้าแบบสปริงเกอร์หรือฉีดพ่น โดยใช้เครื่องปั๊มโดยเฉพาะในขณะเกิดโรคระบาด

5. เมื่อเริ่มปรากฏมีโรคเกิดขึ้นอาจป้องกันหรือลดความเสียหายลงได้โดยใช้สารเคมีที่เข้าทองแดง เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ 4:4:50 หรือ คูปราวิท ค๊อปปิไซด์ อัตราส่วน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรทำการฉีดพ่นให้กับต้นมะเขือเทศทุกๆ 7-10 วันแต่หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม หรือเกิดโรครุนแรง ก็ให้ร่นระยะฉีดสารเคมีให้เร็วขึ้นเป็น 3-5 วันต่อครั้ง จากนั้นสารเคมีที่ผสมระหว่างสเตรปโตมายซินและจุนสี (CuSO4) ในอัตราส่วน 100 ppm: 2 กก: 20 ปิ๊บ ปรากฏว่าได้ผลดีทั้งป้องกันและรักษาพร้อมกันไป