โรคแผลสะเก็ดที่พบในมะเขือเทศ

(bacterial canker)

รายงานเกี่ยวกับการพบโรคนี้ครั้งแรกเกิดขึ้นในอเมริการาวปี คศ. 1909 โดย Erwin Frank Smith สำหรับในประเทศไทยโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก ได้เคยสังเกตุพบโรคที่แสดงอาการคล้ายที่เกิดจากการทำลายของเชื้อนี้ในมะเขือเทศบางต้นที่ปลูกในบริเวณสถานีทดลองพืชสวน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จากแปลงปลูกของกสิกร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และจากแปลงปลูกทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในระยะเวลาต่างๆ กัน แม้จะเป็นเป็นเพียงศึกษาทางอาการไม่ได้ทำการพิสูจน์ทางจุลินทรีย์วิทยา  แต่จากลักษณะหลายอย่างที่แสดงออกทั้งอาการบนต้นใบและผลก็มีแนวโน้มที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคเดียวกัน

อาการโรค

การเกิดโรคจะเกิดได้กับมะเขือเทศทุกระยะการเจริญเติบโต โดยระยะแรกจะสังเกตเห็นใบที่อยู่ส่วนล่างๆ เฉพาะด้านหรือซีกใดซีกหนึ่งของต้นหรือกิ่งเฉาอ่อนตัวลง ขอบใบม้วนงอขึ้นด้านบน ติดตามด้วยอาการเหี่ยวแล้วแห้ง อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลามจากส่วนล่างของต้นสูงขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็จะเป็นเพียงด้านหนึ่งหรือซีกหนึ่งของต้นเท่านั้น เหมือนเมื่อตอนเริ่มเกิด เมื่อเริ่มอาการเหี่ยวขึ้นนั้นหากพิจารณาให้ใกล้ชิดจะพบว่าตรงรอยต่อระหว่างก้านใบที่เหี่ยวกับกิ่ง หรือต้นเกิดเป็นแผลขีดเส้นยาวสีซีดขึ้น ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ แล้วแตกออกเป็นแผลสะเก็ดยาวๆ ก้านของใบหรือกิ่งที่แสดดงอาการเหล่านี้หากนำมาตัดหรือผ่าออกดูจะพบว่าส่วนที่เป็นท่อส่งน้ำส่งอาหารมีสีคลํ้า เมื่อปล่อยทิ้งไว้สักครู่จะมีเมือกสีเหลืองของเชื้อแบคทีเรียไหลเยิ้มออกมา อาการระยะสุดท้ายคือต้นมะเขือเทศจะชะงักงันหยุดการเจริญเติบโต ในส่วนที่เหี่ยวจะหดย่นแล้วแห้งตาย

หากเชื้อเข้าทำลายแขนงอ่อนที่เพิ่งแตกออกมาจะมีผลทำให้ความยาวระหว่างข้อของกิ่งหรือก้านของแขนงดังกล่าวหดสั้น อ้วนหนาขึ้นกว่าปกติ และหากการทำลายเกิดขึ้นในระยะที่ต้นโตเต็มที่แล้วบางครั้งอาจไม่แสดงอาการเหี่ยว แต่จะเกิดอาการแห้งตายของใบขึ้นแทนโดยเริ่มจากขอบใบที่อยู่ส่วนบนๆ ของต้นลงมาแล้วค่อยกระจายออกไปทั่วทั้งต้น ทำให้พืชตายในที่สุด

หากเกิดโรคหลังจากที่มะเขือเทศออกผลแล้วอาการอาจไปเเสดงให้เห็นที่ผลด้วยคือถ้าเป็นผลอ่อนจะขาวซีดต่อมาจะแห้งแล้วร่วงหลุดจากต้น สำหรับผลที่โตแต่ยังไม่สุกจะเกิดแผลสะเก็ดนูนสูงขึ้นมาจากผิวเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีขนาดประมาณ 2-3 มม. ตรงกลางแผลจะแตกเป็นสีน้ำตาล ลักษณะขรุขระที่สังเกตความแตกต่างได้ชัดเจนอีกอย่างคือ รอบๆ แผลจะมีขอบสีขาวล้อมอยู่โดยรอบลักษณะคล้ายตานก (bird’s eye) ในกรณีที่เกิดโรคขึ้นที่ผลนี้เชื้อแบคทีเรียจะไปอาศัยเคลือบเกาะติดอยู่ทั้งที่ผิวนอกและใต้เปลือกของเมล็ด เพื่ออยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดต่อไป

สาเหตุโรค : Clavibacter michiganensis subsp. michiganensis

เป็นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืชหนึ่งในสอง ที่เป็นแกรมบวก (gram positive) เซลล์มีลักษณะเป็นแท่งสั้นๆ ปลายด้านหนึ่งโตกว่าอีกด้านหนึ่ง คล้ายกระบองอาจตรงหรือโค้งเล็กน้อย ขนาด 0.6-0.7×7.0-1.2 ไมครอนโดยระมาณ เมื่อนำมาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อในห้องทดลองจะเจริญอย่างช้าๆ ให้โคโลนีสีเหลืองส้ม ผิวเรียบเป็นมัน เจริญเติบโตและก่อให้เกิดโรคได้ดีที่อุณหภูมิ 25-27° ซ. ถ้าต่ำกว่า 10°ซ.หรือสูงกว่า 33°ซ. ความรุนแรงของโรคจะลดลง สำหรับความชื้นนั้นต้องการอยู่ในระดับปานกลางไม่ชอบดินที่แฉะหรือแห้งเกินไป

การแพร่ระบาดและการเข้าทำลาย

การระบายข้ามฤดูปลูกที่สำคัญคือติดอยู่กับเมล็ด ในลักษณะของ seed-borne เมื่อถูกนำไปปลูก เกิดโรคขึ้นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดไปยังต้นอื่นๆ โดยการจับต้องสัมผัสเช่น การถอนย้ายกล้า การผูกมัดต้นกับไม้คํ้ายัน การตัดแต่ง pruning ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผล กล่าวกันว่ามีด หรือกรรไกรที่นำมาใช้กับต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคแล้วครั้งหนึ่ง เชื้อที่ติดมาจะสามารถถ่ายโรคให้กับต้นอื่นๆ ได้ถึง 30 ต้น เชื้อจะเข้าไปสู่ภายในพืชได้ดีโดยผ่านทางแผลที่ต้น ใบ กิ่งก้าน หรือ cotyledon จากนั้นก็จะเข้าไปอยู่ในท่อส่งนํ้าในต้นแล้วเจริญเติบโตก่อให้เกิดการทำลายและอุดตันขึ้นกับท่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการโรคขึ้นในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศลงในดินที่เคยมีโรคมาก่อนหรือนำพืชอื่นมาปลูกสลับอย่างน้อย 3 – 4 ปี

2. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อหาก ไม่แน่ใจให้นำไปจุ่มแช่ในนํ้าอุ่น 52-56°ซ. นาน 30 นาที เชื้อที่ติดมากับเมล็ดทั้งภายในและนอกผิวเมล็ดจะถูกทำลายหมด จากนั้นจึงค่อยนำไปเพาะ

3. ไม่ควรถอนหรือย้ายกล้าที่แสดงอาการหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคไปขยายปลูกในแปลงใหญ่ ตลอดเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เมื่อปฏิบัติกับต้นที่เป็นโรคแล้ว ควรฆ่าเชื้อ ที่อาจติดมาหรือล้างทำความสะอาดเสียก่อนที่จะนำไปใช้กับต้นอื่นๆ ต่อไป

4. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรทำลายต้นมะเขือเทศ โดยเฉพาะที่แสดงอาการของโรคให้หมดโดยการเผาหรือฝังดินลึกๆ

5. ระวังเรื่องการให้น้ำพืชโดยวิธีให้หัวฉีดแบบสปริงเกอร์หรือเครื่องปั๊มนํ้าที่พ่นหรืออัดออกไปอย่างแรง จะทำให้เชื้อจากต้นหนึ่งกระเซ็นออกไปยังต้นข้างเคียงได้

6. ในกรณีที่เกิดโรคระบาดขึ้นในแปลงปลูกอาจจะป้องกันต้นที่ยังดีอยู่ และลดความเสียหายลงได้โดยใช้สารเคมีที่มีส่วนประกอบของทองแดง เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ 4:4:50 คูปราวิท หรือค๊อปปิไซด์ ฉีดพ่นให้กับต้นพืชทุกๆ 3 – 5 วัน ปัจจุบันมีผู้ทดลองนำเอายาปฏิชีวนะเช่น สเตรปโตมายซิน หรือแอกริมายซิน มาใช้ก็สามารถป้องกันและรักษาโรคได้ผลดี