โรคและยอดใบหงิกของพืช

(leaf curl)

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายกับพืชต่างๆ มากมายหลายพวกหลายตระกูลโดยจะพบเกิดระบาดทั่วไปในเกือบทุกแห่งที่มีการเพาะปลูกพืช เป็นโรคที่รู้จักและมีผู้พบเห็นกันมานาน สำหรับพืชผักที่พบว่าเป็นโรคนี้ก็ได้แก่ แตงร้าน แตงกวา ฟักเขียว พริก มะเขือเทศ ฯลฯ

อาการโรค

โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เกิดเป็นกับพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ถ้าเป็นกับพืชที่ยังเล็กหรือขณะที่เป็นต้นอ่อน จะ แคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กลงเส้นใบนูนหนาเด่นชัดขึ้น ก้านใบหดสั้นลง เนื้อใบหงิกจีบย่นสีเข้มกว่าปกติ ในต้นโต อาการจะปรากฏที่ส่วนยอด ปลายกิ่ง ตา หรือแขนงที่แตกออกโดยใบจะหดจีบย่นสีเขียวเข้มขึ้นในระยะแรกและเหลืองซีด ในเวลาต่อมา หยุดการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกผล หรือออกก็ผิดปกติ ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการโดยทั่วๆ ไป อย่างไรก็ดี สำหรับพืชผักแต่ละชนิด ตลอดจนการเริ่มต้นของอาการที่เป็นกับพืชนั้นๆ อาจแตกต่างกันออกไปบ้าง ใบที่แสดงอาการอาจม้วนขึ้นด้านบนเล็กน้อยและมีเหลืองผิดไปจากธรรมดา นอกจากนั้นใบเหล่านี้จะกรอบเปราะหักง่าย บางครั้งใบจะตกคล้ายอาการเหี่ยวต่อมาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ้ามีผลอยู่ก็จะสุกก่อนกำหนด

สำหรับผักชนิดอื่นๆ เช่น แตงต่างๆ อาการที่เกิดขึ้นคือ ใบหด ย่น เหลือง หยุดการเจริญเติบโต ให้ดอกออกผลน้อย ในรายที่รุนแรงอาจถึงตายได้

สาเหตุโรค : Leaf curl viruses (LCV)

เป็นไวรัสพวก Geminivirus พบที่ก่อให้เกิดโรคในพืชผักต่างๆ มีมากกว่า 10 สายพันธุ์พวกนี้จะระบาดและเข้าสู่พืชได้โดยการนำของแมลงพวกเพลี้ยไฟ คือ Bemiscia tabaci โดยที่แมลงพวกนี้ เมื่อไปดูดหรือกัดกินต้นพืชที่เป็นโรคก็จะกินเอาเชื้อไวรัสเข้าไปด้วย และเมื่อกินเข้าไปแล้วครั้งหนึ่งเชื้อก็จะคงอาศัยอยู่ในตัวแมลงได้ตลอดอายุของมัน สำหรับระยะพักตัว (incubation period) ของเชื้อในตัวแมลงประมาณ 21-24 ชม. หรืออาจนานกว่า แต่ถ้าอุณหภูมิของอากาศสูง ระยะพักตัวจะยิ่งสั้นลงอาจเพียง 4-6 ชม. เท่านั้น ไวรัสพวกนี้ เมื่อถูกถ่ายจากตัวแมลงลงสู่ต้นพืช การที่พืชจะแสดงอาการให้เห็นเร็วช้าเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศภายนอกเช่นกัน ในอุณหภูมิที่สูงมากๆ อาจใช้เวลาเพียง 24 ชม. สำหรับในอุณหภูมิปกติ (25 – 30°ซ.) อาจใช้เวลาตั้งแต่ 7-14 วัน และถ้าเย็นอาจจะถึง 30 วัน

ไวรัสพวกนี้ไม่ปรากฏว่าถ่ายทอดได้ทางเมล็ด (ไม่เป็น seed-borne) การอยู่ข้ามฤดูก็โดยอาศัยอยู่ในวัชพืชที่เป็นพืชอาศัย หรือในตัวแมลงเพลี้ยไฟดังกล่าว

โรคใบและยอดหงิกของผักนี้ พบระบาดทำความเสียหาย รุนแรงในท้องถิ่น หรือบริเวณที่มีความเข้มของแสงแดดมากๆ หรือในท้องที่ที่ฤดูร้อนมีช่วงระยะเวลายาวนาน ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ แต่มีอัตราการระเหยนํ้า (evaporation) สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศดังกล่าวจะพบว่ามีแมลงเพลี้ย กระโดดระบาดมากเช่นกัน

คุณสมบัติโดยทั่วๆ ไปของ leaf curl virus คือ มียีนเป็นดีเอ็นเอ มีรูปร่างเป็นทรงกลมอยู่ติดกันเป็นคู่ๆ ขนาดประมาณ 18×36 นาโนเมตร มีพืชอาศัยอยู่หลายชนิด รวมทั้งวัชพืช และมักทำให้พืชแสดงอาการหงิกงอเสมอ

การป้องกันจำกัด

1. ป้องกันการระบาดแพร่กระจายเชื้อโดยแมลงหวี่ขาวด้วยการฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง เช่น อโซดริน (azodrin) หรือไดเมทโธเอท(dimethoate) ในระยะที่มีการระบาดหรือทุกๆ 5-7วันต่อครั้ง

2. กำจัดทำลายวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นๆ บริเวณแปลงปลูก เพื่อกันไม่ให้เชื้อเข้าไปอาศัยชั่วคราวนอกฤดูปลูก หรือเป็นที่อาศัยของแมลงซึ่งมาเกาะกินแล้วนำเชื้อกลับมาสู่พืชปลูกอีก

3. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ง่ายต่อการติดหรือเกิดโรคลงในบริเวณหรือที่ใกล้เคียงที่มีโรคระบาดอยู่

4. ปลูกพืชให้เร็วหรือล่ากว่ากำหนดหรือให้พ้นระยะการระบาดของแมลงอาจช่วยลดความเสียหายจากโรคลงได้

5. เลือกปลูกพืชโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค