โรคแอนแทรคโนสที่เกิดกับถั่ว

โรคแอนแทรคโนส (anthracnose)

เป็นโรคสำคัญอีกชนิดหนึ่งของถั่ว ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในทุกแห่งที่มีการปลูกพืชพวกนี้

อาการโรค

โรคแอนแทรคโนสในถั่วจะเป็นได้กับทุกส่วนของต้น ที่ลำต้น กิ่งก้าน หรือก้านใบ แผลจะมีลักษณะกลม เป็นแอ่งยุบตัวลงเล็กน้อยและมีสีดำ ส่วนที่อยู่ปลายๆ กิ่งหรือยอด (growing point) จะแห้งตาย สำหรับบนใบอาการจะแตกต่างไม่เหมือนกับโรคอื่นทั่วๆ ไป คือ แทนที่จะเกิดอาการแผลจุด หรือไหม้แห้งขึ้นกับส่วนของเนื้อใบ (leaf blade) แต่โรคแอนแทรคโนสของถั่วจะเกิดอาการขึ้นที่เส้นใบ (vein) โดยเส้นใบจะถูกทำลายให้เป็นแผลสีนํ้าตาลเข้มหรือดำ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากขั้วใบเข้าไป อาการนี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นหากพลิกด้านใต้ของใบขึ้นดู

บนฝัก แผลที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มแรกจะเป็นจุดเล็กๆ ยุบตัวลงสีนํ้าตาลแดง ต่อมาจะขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนเป็นสีดำ แผลอาจมีเพียง 2-3 แผล หรือมากกว่าจนเต็มฝัก แล้วแต่ว่าจะถูกเชื้อเข้าทำลายและโรคมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากอากาศรอบๆ มีความชื้นสูงจะปรากฎผง หรือกลุ่มของสปอร์สีชมพูขึ้นอยู่ตามบริเวณแผลเห็นได้ชัดเจน การเข้าทำลายฝักถั่วนี้เชื้อจะมีระยะฟักตัว (incuba period) ประมาณ 6 วัน ด้วยเหตุนี้หากการติดเชื้อ (infection) เกิดขึ้นกับฝักในระยะ 1 – 5 วัน ก่อนที่จะถูกเก็บอาจจะไม่เห็นอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับฝักดังกล่าวในวันเก็บแต่อาการจะไปปรากฏให้เห็นภายหลังซึ่งอาจอยู่ในระหว่างขนส่งหรือขณะวางขายอยู่ตามตลาด

ในกรณีที่โรคเกิดขึ้นกับฝักถั่วนี้ หากเป็นฝักที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เมล็ดที่มีอยู่ก็จะถูกเชื้อเข้าทำลายด้วย โดยจะเข้าอาศัยอยู่ทั้งที่เปลือกและภายในเมล็ดทำให้เกิดเป็น seed borne สามารถอยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดไปได้พร้อมกัน

สาเหตุโรค : Colletotrichum lindemuthianum

เป็นราใน Class Deuteromycetes มีการขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์หรือโคนีเดียที่ไม่มีสี เซลเดี่ยวลักษณะเป็นแท่งหรือรูปโซ่หัวท้ายมนและเกิดบนก้านสั้นๆ อยู่ภายใน fruiting body รูปจานคว่ำ (acervulus) ที่ใต้ชั้นของเซลล์ผิว (epidermis) เมื่อแก่ก็จะดันให้ชั้นของเซลล์ดังกล่าวเปิดแตกออกปล่อยให้สปอร์หลุดออกมาแพร่กระจาย ขณะเดียวกันจะมีการสร้างหนามแข็งๆ สีเข้ม 2 – 3 อัน แทรกขึ้นมาระหว่างสปอร์บริเวณขอบหรือกลาง fruiting body เรียกว่า setae เชื้อ C. lindemuthianum นี้ พบว่ามี race ต่างๆ แยกออกไปอีก 2-3 races ซึ่งแต่ละ race ก็จะเข้าทำลายถั่วได้ต่างพันธุ์กันออกไป ฉะนั้นพันธุ์ที่มีความต้านทาน ต่อเชื้อ race อาจง่ายต่อการทำลายของเชื้ออีก race หนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้การป้องกันโรคโดยการใช้พันธุ์ต้านทานจึงไม่ใคร่ได้ผล

การระบาด

นอกจากเชื้อจะติดไปกับเมล็ดในลักษณะ seed- borne แล้ว การระบาดระหว่างฤดูปลูกหรือระหว่างต้นอาจเกิดได้โดยคนงานเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ในการกสิกรรม โดยเฉพาะระหว่างที่พืซเปียกนํ้าจะทำให้การติดเชื้อเป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนั้นแมลงต่างๆ ลมเเละการสาดกระเซ็นของนํ้าก็เป็นตัวการระบาดที่ดีอีกอย่างหนึ่ง

การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ

โรคแอนแทรคโนสของถั่วสามารถอยู่ข้ามฤดูได้โดยเชื้ออาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ดถั่วในลักษณะของ seed – borne และในลักษณะของเส้นใยที่เกาะกินอยู่กับเศษซากพืชที่เคยเป็นโรค ซึ่งร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินแปลงปลูก หรือไม่ก็ในต้นที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว พวกที่เกาะกินอยู่กับเศษซากพืชจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 ปี หากไม่มีการปลูกถั่วซํ้าลงในดินดังกล่าวอีกในช่วงระยะเวลานี้เชื้อก็จะตายไปเองในที่สุด

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

เชื้อราโรคแอนแทรคโนส จะเจริญระบาดและก่อให้เกิดโรคได้รุนแรงในลักษณะอากาศที่ค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง เช่น ในช่วงที่มีฝนตกชุก ความชื้นสัมพัทธ์สูง หรือมีหมอกนํ้าค้างจัดส่วนในระยะที่อากาศแห้งและร้อนโรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค

2. เก็บทำลายเศษซากต้นถั่วที่เป็นโรคให้หมดจากแปลงปลูก ไม่ปล่อยให้มีต้นหลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวและงอกขึ้นมาเองในช่วงที่แปลงว่างจากการปลูกพืช

3. เมื่อพบว่ามีโรคเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ควรปลูกถั่วชนิดเดียวกันซํ้าลงในดินนั้นอีก ควรเว้นระยะโดยการปลูกพืชผักอย่างอื่นแทนอย่างน้อย 3 – 4 ปี

4. ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการปฏิบัติการใดๆ กับต้นถั่วในขณะที่อากาศชื้น เช่น ในตอนเช้าวันที่มีหมอกน้ำค้างจัด หรือหลังฝนตกใหม่ๆ โดยเฉพาะหากสังเกตเห็นว่ามีถั่วบางต้นแสดงอาการโรคให้เห็น

5. ปลูกถั่วในดินที่มีการระบายน้ำดี บริเวณแปลงปลูกควรสะอาด ไม่ปล่อยให้มีหญ้าหรือวัชพืชขึ้นรก เพื่อให้ลมหรืออากาศพัดถ่ายเทได้สะดวก

6. เมื่อเกิดการระบาดของโรคขึ้นให้ทำการป้องกัน โดยเลือกฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น ไดโฟลาแทน 80 ซีเน็บ (หรือโลนาโคล) แอนทราโคล แมนเซท ดี และเบนเลท อย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราส่วนประมาณ 40 – 60 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 5 – 7 วันครั้ง ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้