โรคใบจุดของแตง

โรคใบจุดเหลี่ยม (angular leaf spot)

เป็นโรคของแตงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญอีกโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่จะพบบนแตงกวา แตงร้าน ฟัก บวบ แตงโม แคนทาลูป ในประเทศไทยพบมากทางจังหวัดภาคเหนือ เช่น ลำปาง ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ เนื่องจากมีสิ่งแวดล้อม เหมาะต่อการเกิดและการติดโรค เช่น มีความชื้นสูงเนื่องจากหมอกนํ้าค้างจัดและอุณหภูมิต่ำ

อาการโรค

อาการโรคจะเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนของต้นแตงไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ต้น เถา ใบและผล แต่อาการที่เกิดบนใบจะเด่นชัดกว่าที่อื่น คือ เเผลที่เกิดขึ้นมีรูปร่างไม่คงที่ แต่ค่อนข้างเป็นเหลี่ยมลักษณะเป็นแผลช้ำฉ่ำน้ำ ในระยะที่อากาศมีความชื้นสูงหรือในตอนเช้าหลังจากที่มีหมอก น้ำค้างจัดในตอนกลางคืน ตรงบริเวณที่เป็นแผลจะปรากฎเมือกของเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุโรคซึมเยิ้มออกมาคลุมปิดอยู่เต็ม เมือกสีเหลืองแบคทีเรียนี้ เมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดในตอนกลางวันก็จะแห้งกลายเป็นคราบหรือเกล็ดเคลือบปิดแผลอยู่ ขณะเดียวกันแผล ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะช้ำฉ่ำนํ้า ก็จะค่อยๆ แห้งเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือนํ้าตาลและอาจขาดหลุดออกจากเนื้อในปกติ ทำให้เกิดแผลเป็นรูพรุนขึ้น

บนผลแตงจุดแผลที่เกิดจะมีขนาดเล็กกว่าที่ใบและค่อนข้างกลม เมื่อเป็นนานๆ จะมีสีขาว และเปิดแยกออกเป็นแผลตื้นๆ ซึ่งแผลนี้มักจะเป็นช่องทางให้เชื้อพวกที่ทำให้เกิดอาการเน่าเละตามเข้าไปภายหลัง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเน่าเสียหมดทั้งลูก อย่างไรก็ดี การที่ผลแตงถูกเชื้อเข้าทำลาย เกิดอาการโรคขึ้นนี้ เชื้อก็จะไปเคลือบเกาะติดอยู่ที่ผิวหรือเปลือกของเมล็ด ทำให้เกิดเป็น seed-borne อยู่ข้ามฤดูหรือระบาดไปเป็นระยะทางไกลๆ ได้

สาเหตุโรค : Pseudomonas syringae pv. lachrymans

เป็นเชื้อแบคทีเรียพวก Pseudomonad ที่ให้สารเรืองแสงฟลูออเรสเซนซ์อีกตัวหนึ่ง ลักษณะเป็นแท่งขนาดโดยเฉลี่ย 0.8 X 1.0-2.0 ไมครอน เคลื่อนไหวได้โดยมีหาง 1-5 เส้นที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งของเซลล์ จะเจริญและก่อให้เกิดโรคได้ดีเมื่ออากาศมีความชื้นสูง เช่น ในช่วงฤดูฝน หรือระยะที่มีเมฆหมอก น้ำค้างจัด อุณหภูมิระหว่าง 24 – 27° ซ. ส่วนอุณหภูมิที่จะทำลายเชื้อนี้ให้ตายใน 10นาที (thermal death point) คือ 50°ซ.

การอยู่ข้ามฤดู เชื้อแบคทีเรียอาจอาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ดดังได้กล่าวแล้วหรือไม่ก็อยู่ตามเศษซากพืชที่เป็นโรคที่ตกหล่นอยู่ตามดิน หรือแปลงปลูก นอกจากนั้นก็บนวัชพืช พวกแตงที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณใกล้เคียง

การระบาดและการเข้าทำลายพืช

เมล็ดที่มีเชื้อเคลือบเกาะติดอยู่นับว่าเป็นตัวการระบาดที่สำคัญที่สุด เนื่องจากยากต่อการที่จะทราบและไปได้ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์จะนำหรือพาไปได้ ส่วนการระบาดระหว่างต้น ในฤดูปลูก ส่วนใหญ่จะเกิดจากน้ำ เช่น น้ำฝน น้ำที่ใช้รด ชะพัดพาเอาเชื้อจากเมือกหรือเกล็ดของเมือกแบคทีเรียที่เกาะติดอยู่ตามแผลให้ละลายไหลหรือกระเซ็นออกไปโดยรอบ นอกจากนั้นก็อาจระบาดโดยมนุษย์ สัตว์ หรือแมลง ที่ไปสัมผัสจับต้องหรือถูกเชื้อเข้า สำหรับการเข้าทำลายพืชในธรรมชาติส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยผ่านทางช่อง Stomata หลังจากที่เชื้อเข้าไปในพืชแล้วก็จะอยู่ทำอันตรายให้กับเซลล์หรือเนื้อเยื่อเฉพาะแห่ง (localized) ตรงจุดที่ เกิดการ infection เท่านั้น ไม่แพร่กระจายออกไปยังส่วนอื่นๆ ตามท่อส่งน้ำในต้นเหมือนโรคเหี่ยว ส่วนบนลูกแตงหากการติดเชื้อเกิดชื้นก่อนหรือใกล้ๆ เก็บเกี่ยว อาการอาจไปเกิดขึ้น ภายหลังขณะขนส่งหรือไม่ก็ขณะวางขายอยู่ตามตลาด

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจก็ให้ฆ่าทำลายเชื้อที่อาจติดมาด้วยการจุ่มแช่เมล็ดในนํ้ายาเมอร์คิวริคคลอไรด์ 1.5 : 1,000 (HgCl2 1.5 กรัม ละลายน้ำ 1,000 มล.) นาน 5 นาที แล้วนำมาล้างในน้ำไหลอย่างน้อย 10 นาที ผึ่งให้แห้ง แล้วจึงค่อยนำไปปลูก

2. ฉีดสารเคมีป้องกันแมลงที่มากัดกินต้นแตงด้วย เมโธไซคลอ โรทีโนน หรือมาลาไธออน

3. ขจัดทำลายวัชพืชพวกแตงหรือต้นแตงที่งอกขึ้นมาเองหลังเก็บเกี่ยวให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อ

4. หากมีโรคเกิดขึ้นในแปลงปลูกให้รีบป้องกันต้นอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นด้วยสารเคมีที่มีองค์ประกอบของทองแดง เช่น คูปราวิท

ค็อปปิไซด์ ในต้นที่โตเต็มที่แล้ว แต่ถ้ายังเป็นต้นอ่อนให้ใช้ไธแรม แคปแตนแทน หรือจะใช้ยาปฏิชีวนะ คือ แอกริมายซินในอัตราความเข้มข้น 200-400 ppm. ก็จะช่วยป้องกันและลดความเสียหายลงได้

5. ควรงดปลูกแตงลงในดินหรือแปลงปลูกที่เคยมีโรคเกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง 3-4 ปี หรือหากจะปลูกก็ควรเลือกใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค