โรคใบจุดเน่าของกะหล่ำดอกและบร็อคโคลี่

(bacterial leaf spot)

เป็นโรคของผัก crucifers โดยเฉพาะกะหล่ำดอก และบร็อคโคลี่ที่สำคัญโรคหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยเป็นโรคที่เพิ่งมีผู้สังเกตและรายงานความเสียหายเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยชาวสวนผักบริเวณตลิ่งชัน ภาษีเจริญ ธนบุรีและบริเวณใกล้เคียง โดยพบเกิดและระบาด ทำความเสียหายให้กับต้นอ่อนของผักพวกกะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ ผักกาดขาว และผักกาดหอมห่อ (lettuce) โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือระยะที่มีฝนตกชุกอากาศชื้นมากๆระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ของทุกปี จะระบาดรวดเร็ว เสียหายรุนแรง และยากต่อการป้องกันกำจัด

อาการโรค

ในผักดังกล่าวเมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายระยะแรกจะเริ่มจุดช้ำฉ่ำนํ้าขึ้นก่อน ต่อมาจะกลายเป็นจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน หรือม่วงจางๆ โดยปกติแผลแต่ละแผลจะมีขนาดไม่โตนัก ประมาณ 2-3 มม. เท่านั้น พร้อมกับจะมีบริเวณเซลล์ตาย สีซีดจางหรือเหลืองล้อมรอบอยู่ อย่างไรก็ดี จุดแผลเหล่านี้ หากเกิดเป็นจำนวนมาก แผลแต่ละแผลเมื่ออยู่ใกล้หรือเชื่อมต่อกันก็จะกลายเป็นแผลใหญ่มีขนาดโตขึ้นเป็น 1-2 ซม. หากเกิดมากๆ จะทำให้เนื้อใบเต็มไปด้วยแผล ขาดออก เปื่อยยุ่ย ทำให้ใบเสีย ลักษณะเป็นที่น่าสังเกต คือ ที่บริเวณขอบของแผลที่เนื้อใบขาดหลุดออกไปจะมีลักษณะเปียกฉ่ำ ไม่แห้งเหมือนแผล shot hole ที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากบนใบแล้วอาจพบอาการแผลเช่นเดียวกันนี้บนก้านใบหรือแกน ใบด้วยในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นโทรมหยุดหรือ ชะงักการเจริญเติบโต

สาเหตุโรค : Pseudomonas syringae pv. maculicola

เป็นเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นแท่งขนาด 0.9 X 1.5-3 ไมครอน อาจเกิดเดี่ยวๆ หรือเชื่อมต่อกันเป็นเส้น 3-4 เซลล์ เคลื่อนไหวไดhโดยมีหาง 1-5 เส้นที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งของเซลล์เมื่อนำมาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อในห้องทดลองจะให้โคโลนีกลม ขอบเรียบ ผิวเป็นมัน สะท้อนแสง เมื่อเลี้ยงไปนานๆ จะสร้างสีเป็นสีเขียวฟลูออเรสเซ็นท์ในอาหาร

การเข้าทำลายพืชส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยผ่านทางช่อง stomata ที่ใบ โดยเชื้อติดมากับนํ้า หรือแมลงหรือการสัมผัสจับต้องจากต้นเป็นโรคบริเวณข้างเคียง ในกรณีที่โรคเกิดกับต้นผักที่เจริญเติบโตเต็มที่หรือต้นแก่ที่ติดดอกออกฝักแล้ว หากเชื้อเข้าทำลายที่เปลือกนอกของฝัก เมล็ดที่อยู่ภายในฝักดังกล่าวก็จะถูกเชื้อไปเกาะติดเคลือบอยู่ทำให้เกิดเป็น seed- borne ทำให้อยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดกระจายออกไปได้เป็นระยะทางไกลเท่าที่เมล็ดนั้นจะถูกพาหรือนำไปได้

การอยู่ข้ามฤดูนอกจากในลักษณะของ seed-borne โดย ติดอยู่กับเมล็ดดังกล่าวแล้ว อาจติดอยู่กับเศษซากพืชที่ตกหล่นหรือปล่อยทิ้งไว้ตามดินแปลงปลูก ซึ่งจะอยู่ได้นาน 1 ปี

สิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรคที่สำคัญคือความชื้น มักจะพบเป็นรุนแรงในฤดูฝนหรือช่วงที่ฝนตกติดต่อกันนานๆ หรือในช่วงที่มีฝนตกปรอยตลอดวัน สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อประมาณ 24 – 25° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรคหรือเชื้อติดมา หากไม่แน่ใจก็ควรฆ่าเชื้อเสียก่อน โดยจุ่มแช่ในนํ้าอุ่น 49 – 50° ซ. นาน 20 – 25 นาที

2. เพาะกล้าในแปลงหรือดินที่สะอาดฆ่าเชื้อแล้วจากการอบด้วยไอน้ำหรือรมด้วยสารเคมี เช่น เมทิลโบรไมด์ หรือคลอโรพิคริน

3. เก็บทำลายเศษซากพืชให้หมดจากแปลงปลูก

4. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี

5. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีที่มีสารประกอบทองแดง เช่นคูปราวิท หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์ 8-8-50 ทุกๆ 5-7 วัน เมื่อมีโรคเกิดขึ้น