โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อAlternaria

โรคใบจุดและต้นแห้งไหม้ที่เกิดจากเชื้อ Alternaria (Alternaria leaf spot)

Alternaria sp. จัดเป็นเชื้อราที่ระบาดแพร่หลายมากที่สุดชนิดหนึ่ง ก่อให้เกิดโรคกับพืชต่างๆ มากมายหลายชนิดโดยเฉพาะผักต่างๆ สำหรับผักกาดพวก crucifers แล้วเชื้อนี้สามารถเข้าทำลายก่อให้เกิดโรคได้เกือบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม กะหล่ำดาว บร็อคโคลีผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ผักกาดหัว รวมไปถึงพวกแรดิช เทอร์นิบ และรูทาบาก้า

อาการโรค

อาการของโรคจะเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นผัก และทุกระยะการเจริญเติบโตตั้งแต่ต้นอ่อนที่เริ่มงอกจากเมล็ดจนโตเป็นต้นแก่ บนต้นกล้าอาการขั้นแรกจะปรากฏให้เห็นโดยเกิดเป็นแผลเล็กๆ ลีดำ คล้าย damping-off ขึ้นที่ลำต้น ต้นผักที่ถูกเชื้อเข้าทำลายตั้งแต่ระยะกล้านี้จะหยุดการเจริญเติบโตหรือชะงักงัน พวกนี้หากย้ายไปปลูกก็จะกลายเป็นพืซที่ไม่สมบูรณ์เจริญเติบโตช้า ให้ผลไม่เต็มที่

ในต้นแก่จะเกิดแผลจุดขึ้นบนใบ โดยเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ สีเหลืองขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยขยายโตขึ้นเป็นสีนํ้าตาล เมื่อแผลแห้งจะเกิดจุดเล็กๆ สีนํ้าตาลเข้มหรือดำ ขึ้นเป็นวงค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ (concentric circle) จุดสีดำดังกล่าว คือกลุ่มของสปอร์หรือโคนิเดียของเชื้อราที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแพร่กระจายหรือขยายพันธุ์ ขนาดของแผลก็มีต่างๆ กัน ตั้งแต่เป็นจุดเล็กๆ จนโต มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ถึง 2-3 นิ้วฟุต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และส่วนหรือชนิดของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย

พืชผักพวกที่ให้หัว เช่น แรดิช เทอร์นิบ และกะหล่ำปม เมื่อเกิดโรคขึ้นที่ใบอาจจะมีผลต่อเนื่องไปถึงหัวที่อยู่ในดินซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นด้วย ซึ่งจะแสดงอาการให้เห็นหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะเกิดอาการแผลมีแถบเซลล์ตายเป็นวงล้อมรอบอยู่ จุดแผลนี้จะมีสีน้ำตาลหรือดำคลํ้า และถ้าหัวของพืชเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง บริเวณแผลจะมีเส้นใยสีขาวและสปอร์สีเข้มของเชื้อ A.brassicaew เป็นสาเหตุ โรคขึ้นอยู่ทั่วไป

สำหรับกะหล่ำปลีหากเกิดโรคขึ้นหลังจากที่ห่อหัวแล้ว และสิ่งแวดล้อมเหมาะสมมากๆ อาจก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นอย่างรุนแรงจนเสียหมดทั้งหัว พวกกะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ หากเกิดอาการขึ้นที่ดอกจะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาล โดยจะเริ่มจากช่อดอกที่อยู่ริมนอกเข้ามา หากเป็นรุนแรงดอกทั้งดอกจะถูกทำลายหมด

ในต้นแก่ที่ให้ดอกหรือติดฝักแล้วเชื้อจะเข้าทำลายที่ก้านดอกและฝักเกิดเป็นแผลสีนํ้าตาลเข้มหรือดำ อาจกลม หรือยาวรีไปตามลักษณะของก้านมองเห็นได้ชัดเจน แผลเหล่านี้หากเกิดขึ้นมากๆ จะมีผลทำให้ช่อดอกแห้งทั้งช่อ ซึ่งจะทำให้ฝักที่มีอยู่แห้งฝ่อไม่มีการสร้างเมล็ด แต่ถ้าโรคเกิดขึ้นหลังจากติดเมล็ดหรือฝักแก่แล้ว เมล็ดอาจถูกเชื้อเข้าทำลายด้วย ทำให้เมล็ดเหล่านั้นเสียหมดคุณสมบัติที่จะงอกต่อไป หรือหากไม่ถูกทำลายเชื้อก็อาจไปอาศัยเกาะติดอยู่ ทำให้เกิดเป็น seed-borne ระบาดหรือไปเกิดโรคขึ้นกับต้นใหม่ที่งอกจากเมล็ดนั้นได้ โรคนี้จึงนับว่าเป็นอันตราย สำหรับผักที่ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดโดยเฉพาะ

สาเหตุโรค : Alternaria brassicae

เป็นเชื้อราใน Class Deuteromycetes ขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศโดยการเกิดสปอร์ หรือโคนีเดียลักษณะ muriform ซึ่งมีท้ายป้านปลายเรียวมนคล้ายพินโบว์ลิ่ง มีผนังกั้นทั้งตามยาวและตามขวางแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยๆ หลายเซลล์ ส่วนปลายของสปอร์หรือส่วนคอซึ่งเป็นเซลล์อันปลายสุดนี้ใช้เป็นสิ่งบอกหรือจำแนก species ของ Alternariaได้อย่างหนึ่ง สำหรับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคบนผัก crucifers นี้ จะมีส่วนคอค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับตัวอื่น สปอร์พวกนี้เมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวไปตามลม นํ้า หรือติดไปกับเครื่องมือ เครื่องใช้ แมลง สัตว์ และมนุษย์ ทำให้ระบาดแพร่กระจายไปได้เป็นระยะทางไกล เมื่อตกลงบนพืชมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ทุกเซลล์ที่มีอยู่ในแต่ละสปอร์ก็จะงอก germ tube ออกมาได้หนึ่งอันเมื่อเข้าไปในพืชแล้วก็จะก่อให้เกิดอาการโรค ขึ้นได้ ภายใน 2-14 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของผักที่มันเข้าทำลาย

การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ

โดยติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะของ seed-borne หรือไม่ก็โดยเส้นใยที่อาศัยเกาะกินอยู่บนวัชพืชที่เป็นพวกเดียวกัน หรือไม่ก็ฝักที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวและงอกขึ้นมาเองภายหลัง

สิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค

A. brassicae เป็นราที่ต้องการอุณหภูมิในการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างสูงตั้งแต่ 27 – 40° ซ. และต้องได้รับความชื้นจากฝนหรือน้ำค้างคงอยู่ไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมง สำหรับการเข้าทำลายพืช

การป้องกันจำกัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค หากไม่แน่ใจให้ฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดเสียก่อน โดยแช่ในนํ้าอุ่น 49 – 50° ซ. นาน 20 – 25 นาที

2. งดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกผักกาดหรือกะหล่ำชนิดต่างๆ ลงในดินที่เคยปลูกและมีโรคเกิดมาก่อนอย่างน้อย 3-4 ปี

3. กำจัดทำลายวัชพืชพวกผักต่างๆ อย่าให้มีอยู่บริเวณไร่หรือแปลงปลูกรวมทั้งพวกที่จะงอกขึ้นมาเองจากเมล็ดที่ร่วงหล่นอยู่ตามดิน

4. หากมีโรคเกิดขึ้นกับพืชในแปลงปลูกให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น แมนโคเซ็บ (mancozeb) หรือไดเทนเอ็ม 45 (dithane M-45) ในอัตราส่วน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร มาเน็บ (maneb) ซีเน็บ (zineb) และเฟอร์แบม (ferbam) ในอัตราส่วน 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วัน ก็จะป้องกันต้นที่ยังไม่เป็นหรือลดความรุนแรงในต้นที่เป็นอยู่แล้วได้