โรคใบด่างของผักกาด

(Turnip mosaic disease)

ผักกาด (Brassica sp.) เป็นพืชพื้นเมืองของจีนและเอเชียตะวันออก ผักกาดเป็นพืชในวงศ์ Cruciferae หรือ Mustard family ชนิดของผักกาดที่นิยมปลูกในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ ผักกาดเขียวปลี ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดเขียวใหญ่ ผักกาดขาว และผักกาดขาวปลี โรคไวรัสที่เข้าทำลายผักกาดมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ลักษณะอาการที่ปรากฏทั่วไป คือ ลักษณะอาการใบด่าง ซึ่งพบได้ทุกแห่งที่มีการปลูกผักกาด

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับผักกาดมีหลายชนิด เช่น Cauliflower mosaic virus (CaMV), Turnip yellow mosaic virus (TyMV), Turnip crinkle virus (TC V) และ Turnip mosaic virus (TuMV) ในประเทศไทย มีรายงานไว้เพียงชนิดเดียว คือ Turnip mosaic virus ดังนั้นจึงจะได้กล่าวในรายละเอียดเฉพาะไวรัสที่พบในประเทศไทยเท่านั้น

Turnip mosaic virus (TuMV) พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2472 ต่อมามีรายงานพบในประเทศอื่นอีก เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปลักษณะอาการโดยทั่วไปในผักกาดที่เป็นโรคจะมีลักษณะใบด่างแถบสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม บริเวณสีเขียวอ่อนมักจะเกิดบริเวณเส้นใบอ่อนและขยายตัวออกไประหว่างเส้นใบ ผิวใบขรุขระ โดยใบบริเวณสีเขียวเข้มนูนขึ้นเป็นหย่อม ขอบใบไม่เรียบ ทำให้ใบมีรูปร่างผิดปกติ

สมบัติของ Turnip mosaic virus

1. พืชอาศัยและอาการที่เกิดขึ้น

TuMVที่พบในประเทศไทยมีพืชอาศัยค่อนข้างกว้าง จากการทดสอบพืช 54 ชนิด ใน 13 วงศ์พบว่ามีถึง 26 ชนิดใน 9 วงศ์ ได้แก่ วงศ์ Amaranthaceae, Balsaminaceae, Chenopodiaceae, Compositae, Cruciferae, Cucurbitaceae, Ficoidaceae, Leguminosae และ Solanaceae ลักษณะอาการของโรคมีทั้งแบบรอยแผลเฉพาะแห่ง (local lesions) และแบบอาการแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของพืช (systemic symptoms) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกัน นอกจากนี้ยังมีพืชอาศัยบางชนิดที่ไวรัสเข้าทำลายและแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ แต่ไม่แสดงอาการของโรคให้เห็น (latent และ symptomless systemic infection)

ลักษณะอาการบนพืชอาศัยชนิดต่างๆ มีดังนี้

Family Cruciferae

คะน้า (Brassica alboglaba Bailey)

เกิดอาการใบด่างสีเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวเข้ม หลังจากปลูกเชื้อ 28 วัน

ผักกวางตุ้ง (B. chinensis Jusl. var. parachinensis (Bailey) Tsen and Lee)

ใบยอดที่แตกใหม่เกิดอาการเส้นใบใสหลังจากปลูกเชื้อ 4-7 วัน ต่อมาเนื้อใบเกิดอาการด่างสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม ผิวใบขรุขระ ใบบิดเบี้ยว โค้งงอ ลดขนาด ต้นแคระแกร็น การติดฝักลดลงกว่าปกติ และเมล็ดมักจะลีบ

ผักกาดเขียวปลี (B.juncea (L.) Coss.)

ใบยอดที่แตกใหม่เกิดอาการเส้นใบใส หลังจากปลูกเชื้อ 4-7 วัน ต่อมาอาการเปลี่ยนเป็นใบด่างสีเหลืองสลับกับสีเขียว บางครั้งใบบิดเบี้ยวและต้นแคระแกร็น

ผักกาดขาวปลี (B.pekinensis Rupr.)

ใบยอดที่แตกใหม่เกิดอาการเส้นใบใส หลังจากปลูกเชื้อ 4-7 วัน ต่อมาอาการเปลี่ยนเป็นใบด่าง ใบลดขนาด และต้นแคระแกร็น บางครั้งใบจะเรียวยาวม้วนงอ และเนื้อใบมีน้อยกว่าปกติ

เทอนิบ (B. rapa L.)

ใบยอดที่แตกใหม่เกิดอาการเส้นใบใส หลังจากปลูกเชื้อ 5 วัน ต่อมาอาการเปลี่ยนเป็นใบด่าง ใบลดขนาด บางครั้งใบบิดเบี้ยวต้นแคระแกร็นและหัวมีขนาดเล็กกว่าปกติ

ผักกาดหัว [ Raphanus sativus (L.) var. longipinnatus (Bailey)]

เกิดอาการเส้นใบใส หรือเกิดจุดสีเหลืองบนใบหลังจากปลูกเชื้อ 5 วัน ต่อมาพืชแสดงอาการใบด่าง ต้นแคระแกร็นเล็กน้อย หัวมีขนาดเล็กกว่าปกติ

2. การถ่ายทอดโรค

TuMV เป็นไวรัสที่ถ่ายทอดได้ง่ายโดยวิธีสัมผัสแต่ไม่ถ่ายทอดโดยทางเมล็ด และถ่ายทอดได้โดยแมลงพวกเพลี้ยอ่อนหลายชนิด เพลี้ยอ่อนที่พบแพร่ระบาดกว้างขวาง ในสวนผักกาดในประเทศไทย ได้แก่ เพลี้ยอ่อนผักกาด (Lipaphis erysimi Kalt.) และ green peach aphid (Myzus persicae Sulz.) นอกจากนี้เพลี้ยอ่อนถั่ว (Aphis craccivora Koch.) เพลี้ยอ่อนถั่วเหลือง (A. glycines Mats.) และ เพลี้ยอ่อนฝ้าย ( A. gossypii Glov.) ยังสามารถถ่ายทอดไวรัสได้ จากรายงานในต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2517 Edwardson ได้รายงาน ว่ามีเพลี้ยอ่อนถึง 64 ชนิด ที่ถ่ายทอดไวรัสชนิดนี้ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสกับแมลงเป็นลักษณะ non-persistent

3. ความคงทนในนํ้าคั้น

ความคงทนต่อความร้อน (Thermal inactivation point, TIP) 55-60 องศาเซลเซียส

ความคงทนเมื่อทำให้เจือจาง (Dilution end point, DEP) 1:1,000-1:2,000 เท่า

ความคงทนในสภาพอุณหภูมิห้อง (Longevity in vitro, LIV) 3-4 วัน

4. สมบัติทางสัณฐาน

อนุภาคท่อนยาวคดงอ (flexuous rod) ยาวประมาณ 750 นาโนเมตร จัดเป็นไวรัสในกลุ่ม Potyviruses

5. การควบคุมโรค

เนื่องจาก TuMV เป็นไวรัสที่มีพืชอาศัยกว้างมาก และมีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะกว่า 50 ชนิด ซึ่งมีความสัมพันธ์ในลักษณะ nonpersistent ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากมาก วิธีการที่อาจลดความเสียหายได้บ้าง ได้แก่

1. กำจัดพืชที่เป็นโรคเพื่อลดแหล่งแพร่เชื้อ ซึ่งจะทำให้การระบาดในแปลงปลูกน้อยลง

2. กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของไวรัส

3. ทดลองใช้พันธุ์ต้านทาน ในต่างประเทศพบผักกาดหอมหลายพันธุ์ต้านทานต่อไวรัส เช่น Great Lake, Cos Zink เป็นต้น ส่วนผักกาดอื่นๆ ในประเทศไทยยังไม่มีการทดสอบ

6. ข้อแนะนำสำหรับดำเนินการต่อไป

1. ทดสอบหาพันธุ์ต้านทานสำหรับผักกาดที่เกิดความเสียหายจากไวรัสชนิดนี้

2. ศึกษานิเวศน์วิทยาของเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะของโรค

3. ทดสอบการใช้สารเคมีประเภทนํ้ามันในการฉีดควบคุมการระบาดของโรค