โรคใบด่างมะละกอและวิธีการป้องกัน

โรคใบด่างมะละกอ

นายสันติวัน เชียงสอน นักวิชาการเผยแพร่ 6

งานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเผยแพร่และฝึกอบรม

สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จังหวัดขอนแก่น

(043) 225690-2

ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมบริโภคส้มตำมะละกอมาช้านาน  จนอาจกล่าวได้ว่า มะละกอเป็นอาหารหลักที่สำคัญของชาวชนบทในภาคนี้ก็ว่าได้  แต่ปัจจุบันผลผลิตมะละกอที่ปลูกในภาคนี้ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าการปลูกมะละกอยังประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องโรคใบด่าง  ซึ่งพบว่ามีการระบาดอย่างรุนแรงเกือบทุกจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นักวิชาการของสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า โรคใบด่างมะละกอมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งสามารถทำลายต้นมะละกอได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต  โรคนี้แพร่ระบาดติดต่อถึงกันโดยการนำของเพลี้ยอ่อนหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อนฝ้าย เพลี้ยอ่อนยาสูบ เพลี้ยอ่อนถั่ว เป็นต้น  แต่ไม่สามารถติดต่อโดยทางเมล็ด

มะละกอที่เป็นโรคใบด่างจะมีอาการใบสีเหลืองโปร่งใสในระยะแรก ต่อมาจะมีอาการเขียวด่าง  เมื่อโรคระบาดรุนแรงขึ้น พื้นที่ผิวใบจะแคบลง จนในที่สุดจะเหลือแต่เส้นกลางใบที่มีลักษณะคล้ายด้าย  ที่ก้านดอก ก้านใบและลำต้นส่วนบนจะปรากฎรอยช้ำเป็นขีด ๆ หรือวงกลมเล็ก ๆ ผิวของผลจะมีรอยจุดเป็นรูปวงแหวนอยู่ทั่ว  ถ้าเชื้อไวรัสเข้าทำลายมะละกอในระยะต้นอ่อน ก็จะทำให้ต้นแคระแกรนหรือไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้  แต่ถ้าเป็นต้นที่โตแล้วก็พอจะให้ผลผลิตบ้าง แต่ทรงผลจะบิดเบี้ยว มีขนาดเล็ก  ผิวผลปรากฎเป็นจุดวงแหวนเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่ว  เนื้อภายในผลแข็งกระด้าง เนื้อสุกจะเป็นไตแข็ง รสขม

โรคใบด่างเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดของมะละกอ  มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก  ทั้งในแหล่งปลูกที่อยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่นประเทศอเมริกาเหนือประเทศในกลุ่มคาริเบียนและเอเซีย สำหรับประเทศไทยมีรายงานโรคนี้เป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2518 ขอบเขตและความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน โรคนี้ได้ระบาดเกือบทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งแหล่งปลูกมะละกอเพื่อการค้าที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา  นอกจากนี้ยังพบการระบาดในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย  ภาคกลางที่จังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแหล่งปลูกมะละกอเพื่อการค้าที่จังหวัดราชบุรีก็ปรากฎว่า โรคใบด่างได้ระบาดรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา  และแม้กระทั่งที่จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานีก็ยังประสบกับปัญหาการระบาดของโรคนี้เช่นกัน

ทางด้านการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมะละกอในขณะนี้ก็พอสรุปได้ว่ายังไม่มีวิธีการใดที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดโรคนี้ได้อย่างสิ้นเชิง  แต่จากการศึกษาของนักวิชาการ สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็พบว่า เกษตรกรมีวิธีการที่จะลดความรุนแรงหรือทำให้มะละกอเกิดโรคได้ช้าลงดังต่อไปนี้

§  ตัดทำลายต้นมะละกอเก่าที่มีอายุเกิน 2 ปี หรือต้นที่เป็นโรคอย่างรุนแรงออกทิ้งให้หมด  จากนั้นทิ้งพื้นที่ให้ว่างเปล่าประมาณ 3 เดือน  แล้วจึงปลูกมะละกอชุดใหม่

§  เมื่อปลูกแล้วระยะหนึ่ง หากสังเกตเห็นต้นมะละกอเริ่มแสดงอาการของโรคก็ให้ตัดทำลายทิ้งในทันที

§  ในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานหรือดินมีความชื้นพอที่จะปลูกได้ ควรเลือกปลูกมะละกอในช่วงปลายฤดูฝนหรือช่วงแล้ง ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนมีนาคม การปลูกในช่วงนี้จะพบการระบาดของโรคน้อย  เพราะพืชจะเจริญเติบโตและให้ดอกออกผลในช่วงฤดูร้อนจนถึงต้นฝน  ซึ่งถ้ามีโรคระบาดในเวลานั้น ต้นมะละกอที่โตพอก็จะให้ผลผลิตได้บ้างแล้ว

§  ควรดูแลมะละกอที่ปลูกให้แข็งแรงออกลูกเร็ว  จะช่วยลดการเข้าทำลายของโรคได้  มะละกอเป็นพืชที่ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดีมาก  ดังนั้นการบำรุงมะละกอด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์จึงได้ผลคุ้มค่า  ผลตกและรสชาติดี

§  ไม่ควรปลูกมะละกอไว้นานเกิน 2 ปี  เพราะผลผลิตมะละกอจะสูงสุดในช่วง 2 ปี แรกเท่านั้น  นอกจากนี้มะละกอต้นแก่ยังเป็นแหล่งสะสมของโรค ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นที่ปลูกใหม่ได้

§  และวิธีสุดท้าย  ควรปลูกมะละกอพันธุ์ทนทานโรค เช่น พันธุ์ฟลอริด้าทอเลอแร้นท์  ซึ่งเป็นมะละกอพันธุ์รับประทานผลสุก  ผลมีลักษณะกลม เล็ก น้ำหนักผลประมาณ 400-700 กรัม

เกษตรกรและผู้สนใจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมะละกอ  โปรดติดต่อสอบถามไปได้ที่  กลุ่มปฏิบัติการพิเศษที่ 2 สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น รหัสไปรษณีย์  40260