โรคใบด่างลายของแตงที่เกิดจากเชื้อไวรัส

(common mosaic)

โรคใบด่างลายของแตงที่เกิดจากเชื้อไวรัส นับว่าเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายกว้างขวางและสร้างความเสียหายมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะแตงกวา แตงร้าน และแคนทาลูป นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อชนิดเดียวกันนี้ยังสามารถเข้าทำลายพืช และผักอื่นๆ โดยก่อให้เกิดโรคอย่างเดียวกันได้อีกมากมายถึง 34 ตระกูล (Families) ทั้งพืชพวกใบเลี้ยงคู่ (dicot) และใบเลี้ยงเดี่ยว (monocot)

อาการโรค

เชื้อจะเข้าทำลายต้นแตงและก่อให้เกิดอาการโรคได้ ทุกระยะการเจริญเติบโตในระยะกล้าหากเชื้อเข้าทำลาย ตั้งแต่ระยะ cotyledonous stage จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ใบเลี้ยง (cotyledon) ที่แตกออกมาจะเหี่ยวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและตายในที่สุด ส่วนในต้นโตอาการที่เกิดจะเห็นได้ชัดที่ใบ คือ ใบจะมีขนาดเล็กลง ด่างลายหดย่น ขอบใบม้วนลงด้านล่าง ต้นแคระแกร็น ปล้องระหว่างข้อที่ยังอ่อนจะหดสั้นไม่ขยายยาวออก ใบที่ยอดจะ แตกออกเป็นฝอยเล็กๆ (rosette) ใบแก่จะเหลืองและแห้งตาย

ส่วนที่ผลแตงโดยเฉพาะแตงร้าน แตงกวา จะเกิดอาการด่างลายสีเขียวซีดหรือขาวสลับกับจุดสีเขียวเข้ม ผิวหรือเปลือกจะมีลักษณะขรุขระเป็นปุ่มปมคล้ายหูด บางครั้งผิวเรียบไม่เกิดปุ่มปมแต่สีเขียวจะถูกทำลายหมด ทำให้ขาวทำให้ทั้งผลที่เรียกว่า white pickle (แตงดอง) แตงพวกนี้เมื่อนำมารับประทานบางครั้งอาจจะมีรสขม

สาเหตุโรค : Cucumber mosaic virus (CMV)

เชื้อไวรัสที่จัดอยู่ในกลุ่มของ CMV ที่พบในพืชพวกแตง มีคุณสมบัติเป็นผลึกโปรตีน (RNA 18.5% และโปรตีนหุ้มอนุภาค 81.5%) มีรูปทรงกลม หรือเหลี่ยมที่มีด้านแบนหลายด้าน (polyhedral) ขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 28-30 nm มี thermal inactivation point ระหว่าง 60°ซ. – 80°ซ. และdilution end point 1 : 10,000 เท่า

การติดและการระบาดของโรคเกิดขึ้นได้โดยน้ำคั้น จากการนำของแมลงต่างๆ หลายชนิด แต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่ เพลี้ยอ่อน ซึ่งพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 6-7 ชนิด ได้แก่ Aphis gossypii Aulacorthum circumfexum A. solani Myzus persicae Macrosiphum euphorbiae Phorodon humuli และ P. canabis นอกจากแมลงแล้ว การสัมผัสจับต้องตลอดจนเครื่องมือกสิกรรมต่างๆ ก็ทำให้เกิดการติดและการถ่ายทอดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ดีเช่นกัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันดูเหมือนจะยังไม่มีผู้ใดพบและสามารถพิสูจน์ได้ว่า เชื้อ CMV โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค mosaic ในแตงมีการถ่ายทอดหรือระบาดได้โดยผ่านทางเมล็ด

หลังจากเชื้อถูกถ่ายเข้าสู่พืชแล้วจะมีระยะฟักตัวเพื่อสร้าง อาการโรคในส่วนที่ยังอ่อนหรืออวบนํ้า ประมาณ 4-5 วัน แต่อาจใช้เวลานานออกไปเป็น 12-20 วันในต้นหรือใบที่โตเต็มที่แล้ว ทั้งนี้อุณหภูมิจะต้องไม่ต่ำกว่า 28° ซ. (อุณหภูมิยิ่งต่ำ ระยะฟักตัวก็จะยิ่งนานออกไป) สำหรับผลแตงหากโตเกินครึ่งแล้วจะคงทนต่อการเกิดโรคได้ดีกว่าผลอ่อน

การอยู่ข้ามฤดู เชื้อ CMV ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในดิน แตงป่าที่ขึ้นเองหรือต้นที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัด

เนื่องจาก CMV ทำลายพืชต่างๆ ได้กว้างขวางมากมายหลายชนิด และมีการถ่ายทอดโดยแมลงพาหะภายในเวลาสั้นๆเป็นวินาที ด้วยเหตุนี้การป้องกันรักษาโดยวิธีฉีดพ่นด้วยสารเคมีต่างๆ เพื่อกำจัดแมลงจึงไม่ได้ผลในการควบคุมไวรัส

วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้โรคเกิดโดยการกำจัดต้นตอ และการระบาดแพร่กระจายของโรคให้หมดสิ้น เช่น การกำจัดทำลายวัชพืช แตงป่า หรือแตงปลูกให้หมดหลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้ว นอกจากนั้นก็ให้ระวังเรื่องการจับต้องสัมผัสต้นพืช ตลอดจนการใช้เครื่องมือต่างๆ กับพืช ให้แน่ใจว่าไม่ได้ใช้ หรือปฏิบัติกับพืชที่เป็นโรคมาก่อน

ข้อแนะนำสุดท้ายคือการเลือกใช้หรือปลูกแตงที่มีความ ต้านทานต่อโรค