โรคใบเหลืองของพืชผักจากเชื้อรา

โรคเหี่ยวหรือโรคใบเหลืองที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium wilt)

Fusarium oxysporum จัดเป็นเชื้อราสำคัญที่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับพืชต่างๆ มากมายหลายชนิด โดยมี races หรือ form species แตกต่างกันออกไปตามชนิดชองพืชที่มันเข้าทำลาย แม้แต่ในผักพวก crucifers ด้วยกันเอง จัดเป็นเชื้อที่สร้างปัญหาและยากต่อการป้องกันกำจัดมากที่สุดตัวหนึ่ง

อาการโรค

ผักที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะแสดงอาการได้หลายชนิด เช่น ใบเหี่ยวตก กิ่งก้านหรือลำต้นบิดเบี้ยว มีการแตกตาออกมามากกว่าปกติ ขอบใบแห้ง แกนใบจะโค้งงอไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้การเจริญเติบโตของเนื้อใบทางด้านที่โค้งเสียไป สัของใบด้านที่ผิดปกตินี้นอกจากจะเหลืองหรือแห้งแล้วบางครั้งอาจจะมีสีออกเป็นสีแดงเรื่อหรือชมพูหรือม่วง หากใช้มีดผ่าก้านใบเหล่านี้ออกทั้งตามยาวและตามขวางจะพบว่าส่วนของท่อนํ้าท่ออาหาร (vascular bundle) เน่าเสียเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ต้นพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลายนี้ต่อมาจะค่อยๆ เหลือง และแห้งตายในที่สุด หลังจากนั้นหากถอนต้นขึ้นมาจากดินจะพบว่าบริเวณโคนต้นหรือรากจะปรากฎแผลมีสีนํ้าตาลเปลือกหลุดร่อน บางครั้งจะพบเส้นใยหรือกลุ่มของสปอร์หรือโคนิเดียของ Fusarium เป็นสีชมพู เป็นผงเกาะติดอยู่ทั่วไป

สาเหตุโรค : Fusarium oxysporum f.sp. conglutinans

เป็นราที่อาศัยอยู่ในดิน (soil-borne fungus) โดยธรรมชาติ เมื่อนำมาเลี้ยงจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบหลายชนิด โดยการสร้างเส้นใยที่มีผนังกั้น ซึ่งในระยะแรกของการเจริญจะไม่มีสี ต่อเมื่ออายุมากขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีครีมและชมพูเรื่อๆ ในที่สุดการขยายพันธุ์โดยปกติจะมีการสร้างโคนิเดีย 2 ชนิดคือ ไมโครโคนิเดีย (microconidia) ลักษณะรูปไข่เซลล์เดียวไม่มีสีขนาดราว 2.5-4 X 4-6 ไมครอน และมาโครโคนีเดีย (marcroconidia) มีผนังกั้นแบ่งออกเป็น 3-4 เซลล์ ลักษณะเป็นรูปจันทร์เสี้ยวใหญ่กว่าไมโครโคนิเดีย คือ ราว 3.5-5.5X 25-33 ไมครอน นอกจากนี้ยังอาจมีการสร้างคลามายโดสปอร์ (chlamydospore) ซึ่งเป็นสปอร์อีกชนิดหนึ่งขึ้นที่ปลายของเส้นใยได้อีกด้วย

ปกติ Fusarium sp.เป็นราที่ไม่ชอบอุณหภูมิต่ำ จะขึ้นเจริญเติบโตและเข้าทำลายพืชได้ดีระหว่าง 27 – 33° ซ. ถ้าต่ำกว่า 16° ซ. ก็จะไม่ก่อให้เกิดโรคกับพืช สำหรับความชื้นในดินพวกนี้ไม่ต้องการมากนัก

การเข้าทำลายพืชส่วนใหญ่จะเข้าโดยผ่านทางปลายราก ขนอ่อนหรือแผลซึ่งเกิดจากการถอนย้ายกล้าไปปลูก จากนั้นก็จะเข้าไปอยู่และก่อให้เกิดการทำลายขึ้นกับท่อ xylem ใน vascular bundle ทำให้พืชไม่สามารถดูดนํ้าอาหารไปเลี้ยงต้น ก่อให้เกิดอาการโรคและตายในที่สุด

การระบาดก็โดยการติดไปกับดิน นํ้าที่ไหลผ่านต้นที่มีเชื้อ หรือติดไปกับเศษซากพืชที่เคยเป็นโรค เชื้อนี้เมื่อเกิดเป็นกับพืชครั้งหนึ่งแล้วก็จะคงอยู่ในดินได้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงหรืองดการปลูกผักชนิดเดียวกันลงในดินที่เคยมีโรคเกิดขึ้นมาก่อน

2. เก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมด

3. ปลูกพืชโดยเลือกใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรค

4. หากทำได้ให้ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงปลูกที่ปรากฎว่าเคยมีโรคเกิดขึ้น แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 2-3 เดือนกว่าที่จะทำให้เชื้อที่มีอยู่ถูกทำลายให้ตายหมดไปจากดินดังกล่าว