สาเหตุของโรคAlternaria cucumerina

โรคต้นและใบไหม้แห้งที่เกิดจากเชื้อ Alternaria (Alternaria blight)

โรคต้นและใบไหม้แห้งจะพบได้ทั่วๆ ไปบนแตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย แคนทาลูป สควอซ โดยเชื้อจะเข้าทำลายส่วนใบ ต้น เถา ทำให้ผลผลิตลดลง โดยเฉพาะแตงโมจะทำให้รสและคุณภาพเลวลง ผลจะสุกก่อนกาหนด

อาการโรค

อาการเริ่มแรกจะปรากฏให้เห็นในตอนกลางๆ ฤดูปลูก โดยจะเกิดเป็นจุดแผลขึ้นบนใบที่อยู่ตอนโคนหรือกลางๆ เถาก่อนจุดแผลเหล่านี้จะเพิ่มทวีจำนวนอย่างรวดเร็วจากใบหนึ่งไปยังอีกใบหนึ่งขึ้นไปทางปลายเถา จุดจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นเป็นแผลแห้งค่อนข้างกลม พร้อมทั้งจะปรากฏ fruiting body เป็นจุดดำๆ เรียงซ้อนกันลักษณะเป็นวงแหวนหลายวง โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกัน (concentric ring) เกิดขึ้นให้เห็นชัดเจนที่ด้านบนขอบใบ ขนาดของแผลอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ จนถึงครึ่งนิ้วหรือโตกว่า บนใบหนึ่งๆ อาจเกิดแผลเป็นจำนวนมากจนเต็มใบหรือเพียง 2-3 แผลก็แล้วแต่ความรุนแรงของโรค แคนทาลูป แตงกวา และแตงไทย ปรากฏว่าง่ายต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าแตงชนิดอื่น เมื่อเกิดอาการอาจมีผลทำให้ใบม้วนห่อลงด้านล่าง บางครั้งใบเหล่านั้นจะหลุดร่วงออกจากต้นหมดทำให้เหลือแต่เถา สำหรับบนผลแผลที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะชํ้าเป็นสีคลํ้าหรือนํ้าตาลค่อนข้างกลมและเป็นแอ่งยุบตัวลงจากผิวปกติ ส่วนขนาดของแผลบนผลจะโตกว่าบนใบ

สาเหตุโรค : Alternaria cucumerina

เป็นราพวก imperfect fungi ขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนีเดีย ลักษณะคล้ายลูกโบว์ลิ่ง สีเข้มหรือดำภายในมีผนังแบ่งกั้นทั้งตามยาวและตามขวาง แบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยๆ หลายเซลล์ การเกิดของโคนีเดียอาจเกิดเดี่ยวๆ เพียงอันเดียวหรือหลายอัน โดยเกาะติดกันเป็นเส้นบนก้าน conidiophore ที่งอกออกมาจากเส้นใยอีกทีหนึ่ง โคนีเดียเหล่านี้เมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวไปกับลม หรือติดไปกับน้ำ แมลงและสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด ก่อให้เกิดการระบาด หรือเเพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นหรือต้นข้างเคียงได้ เมื่อตกลงบนพืชแต่ละเซลล์ที่มีอยู่ในแต่ละโคนีเดียก็จะงอก germ tube ออกมาได้อันหนึ่ง ซึ่ง germ tube เหล่านี้ต่อมา จะเจริญเติบโตเป็นเส้นใยแล้วเข้าทำลายพืชก่อให้เกิดการ infection ขึ้นในที่สุด การเข้าทำลายพืชมักจะพบในต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วมากกว่าในต้นอ่อน โดยเฉพาะถ้าพืชอ่อนแอไม่ว่าจะเนื่องมาจากสาเหตุใดก็ตามจะเป็นรุนแรงและ

เสียหายมาก

เชื้อ A. cucumerina เมื่อนำมาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อจะเจริญเติบโตได้ในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 2 – 43° ซ.แต่จะดีที่สุดที่26.6° ซ. ส่วนในการเข้าทำลายพืชนั้นปรากฏว่าอยู่ระหว่าง 16 – 32° ซ.

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยเกาะกินอยู่กับเศษซากต้นหรือใบ พืชที่ตายแล้วหรือไม่ก็อาศัยอยู่กับวัชพืชตระกูลแตงต่างๆ ที่มีอยู่ตามบริเวณแปลงปลูก สำหรับในรายที่เป็นกับผลเชื้ออาจไปอาศัยปะปนอยู่กับเมล็ด เกิดเป็น seed-borne ได้

การป้องกันกำจัด

1. พยายามเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค

2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชพวกแตงซํ้าลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 3-4 ปี

3. กำจัดทำลายเศษซากต้นแตงที่เคยเป็นโรคและวัชพืชตระกูลแตงต่างๆ ให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก

4. เนื่องจากโรคนี้มักจะเกิดเป็นกับต้นแตงที่อ่อนแอเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การป้องกันหลีกเลี่ยงการเกิดโรคที่ดีที่สุด คือ การเอาใจใส่ดูแลพืชให้เจริญเติบโตแข็งแรง โดยการให้นํ้า ให้ปุ๋ยอย่างพอเพียง ตลอดจนปรับความเป็นกรด-ด่างของดินให้เป็นไปตามที่พืชต้องการ (แตงชอบดินที่เป็นด่างเล็กน้อย) ก็จะช่วยลดอันตรายจากโรคลงได้

5. ในกรณีที่เมื่อปลูกแล้วเกิดโรคขึ้นให้ใช้สารเคมี พวกสารเคมีต่างๆ เช่น คูปราวิท แมนเซทดี แมนโคเซ็บ ไอโปรไดโอน อย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับต้นที่โตแล้ว และไธแรม สำหรับต้นอ่อนฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน อาจช่วยป้องกัน และลดความเสียหายจากโรคลงได้บ้าง

6. วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกปลูกแตงชนิดหรือพันธุ์ ที่มีความต้านทานต่อโรค