โรค canker เกิดจากบักเตรี

(Bacterial cankers)
โรค canker เป็นโรคที่เกิดอาการบนลำต้น ผล ใบ ตา ช่อดอก และกิ่งก้าน โรคของพืชบางชนิด เนื้อเยื่ออาจถูกทำลายอ่อนและมีเมือกบักเตรีเยิ้มออกมา
เชื้อสาเหตุโรค :
Corynebacterium สาเหตุโรค canker และเหี่ยวของมะเขือเทศ V (C. miehiganense)
Pseudomonas สาเหตุโรคของไม้ผลเป็นแข็งต่างๆ (P. syringae)
Xanthomonas สาเหตุโรคของพืชตระกูลส้ม(X. citri)
โรคแคงเกอร์ของส้มเกิดจากเชื้อบักเตรี ขึ้นได้ทั้งที่ใบ ผล และกิ่งก้าน เป็นสะเก็ดนูนสีเหลืองถึงน้ำตาลบนใบ ใหม่ๆ จะฟูคล้ายฟองนํ้า ต่อมาจะเป็นสะเก็ดแข็ง บริเวณรอบแผลจะมีวงสีเหลืองเป็นมันล้อมรอบ
อาการที่ใบ ลักษณะอาการที่เป็นกับใบส้มตามธรรมชาติเริ่มแรกจะเป็นจุดเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (1/16 นิ้ว) มีสีซีดกว่าสีของใบเล็กน้อย ไม่อาจมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้น ลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จะพบที่ด้านใต้ใบก่อน ต่อมาจึงนูนทั้ง 2 ด้าน ถ้าอากาศมีอุณหภูมิสูงและความชื้นมากพอ แผลที่ฟูอยู่แล้วจะเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมาเมื่อแผลมีอายุแก่มากขึ้น แผลจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลถึงน้ำตาลเข้ม ลักษณะที่นูนฟูคล้ายฟองนํ้าจะยุบตัวเป็นสะเก็ดขรุขระและแข็ง ลักษณะของแผลที่เกิดมักจะมีสีเหลืองเป็นมันล้อมแผลโดยรอบ ส่วนมากขนาดของแผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 มม. และมีขนาดไม่เกิน 4 มม. แต่แผลที่เกิดกับใบส้มโออาจมีขนาดใหญ่ถึง 8 มม.
อาการที่กิ่งและก้าน มักจะเกิดกับกิ่งอ่อนของส้มที่มีความอ่อนแอต่อโรค เช่น มะนาว แผลที่เกิดใหม่ๆ อาจจะเห็นเป็นสีเหลืองอ่อนนูนฟูคล้ายกับแผลที่ใบ ต่อมาแผลจะแห้งแข็งเป็นสีนํ้าตาลเข้มขยายออกรอบกิ่ง หรือขยายเป็นทางตามความยาวของกิ่ง รูปร่างของแผลไม่แน่นอน มีขนาดใหญ่กว่าและสีนํ้าตาลเข้มกว่าที่ใบ แต่ไม่มีขอบสีเหลืองโดยรอบแผล
อาการที่ผล มีลักษณะคล้ายกับที่ปรากฏบนใบ หากแผลเกิดเดี่ยวกระจายกันก็มีลักษณะกลม หากเกิดติดต่อกันเป็นจำนวนมากแผลอาจมีรูปร่างไม่แน่นอน บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงในผิวของผล ที่ตัวแผลก็จะนูนและปรุโปร่งคล้ายฟองนํ้า แต่แข็งมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่อแผลแก่ขยายเข้าบริเวณผิวของผลที่ยังดี ส่วนที่ติดกับแผลจะเป็นวงรีเหลืองโดยรอบเช่นเดียวกับบนใบ
อาการที่ราก มีรายงานว่าเกิดได้กับรากที่อยู่เหนือดิน และปกติจะไม่ปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ แต่ถ้านำเชื้อไปทดลองปลูกที่ราก ก็สามารถทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
ลักษณะทางสัณฐานและการเจริญของบักเตรีเป็น rod-shaped ขนาดโดยเฉลี่ย 0.72 X 1.63 ไมครอน เคลื่อนไหวได้ด้วย monotrichous flagellum บักเตรีเป็นแกรมลบ และไม่มีสปอร์ โคโลนีมีสีเหลืองเป็นรูปวงกลม นูน ผิวเรียบ เป็นมันเยิ้ม และขอบเรียบ
ในทางสรีรลักษณะบักเตรีนี้ไม่ทำให้เกิดกรดและก๊าซในนํ้าตาลต่างๆ ไม่เกิดสารอินโดล ไม่เปลี่ยน nitrate เป็น nitrite ทำให้เกิด hydrogen sulfide ได้เล็กน้อย เกิดตะกอนในนม ไม่ทำให้เกิด acetyl methylcarbinol สามารถใช้ citrate ใน Koser’s citrate broth ได้ เชื้อเจริญได้ดีที่สุดในอุณภูมิ 25-30 °ซ.
วงจรของโรค บักเตรีอยู่ข้ามฤดูในพืช ตา ต้น เมล็ด เชื้อแพร่กระจายตามฝน ลมฝน การเก็บเครื่องมือทุ่นแรง และพืชที่เป็นโรค เชื้อเข้าทำลายพืชทางแผล ช่องเปิดตามธรรมชาติ เช่น ปากใบ เป็นต้น
การควบคุมโรค
1. ทำความสะอาดไร่ หรือแปลงปลูก โดยกำจัดเศษซากพืช
2. ใช้กิ่งพันธุ์ และเมล็ดที่ปราศจากโรคปลูก
3. ฉีดพ่นด้วยยาบอร์โดซ์ หรือสารประกอบทองแดงอื่นๆ หรือ
4. ฉีดพ่นด้วยปฏิชีวนะสารให้มี streptomycin เข้มข้นประมาณ 300 ส่วนในล้าน เช่นใช้ DIHYDRO STREPTOMYCIN, แอกกริ-ไมซิน 100 เป็นต้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช