ใบหนาด…สมุนไพรป้องกันผี ป้องกันตัว

พญ. เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ

สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านย้อนหลังไปในเหตุกาณ์เมื่อประมาณปลายปีที่แล้วที่มีข่าวเรื่องผีปอบ ออกอาละวาด จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับในขณะนั้น ก็เลยอยากนำเอาเรื่องสมุนไพรป้องกันผีตามภูมิปัญญาความเชื่อของโบราณมาเล่าให้ฟังกัน สมุนไพรที่ว่านี้ คือ ใบหนาด ทำไมต้องเป็นใบหนาด ผู้เขียนคิดว่าอาจเป็นเรื่องของความเชื่อบวกกับวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของชุมชนตามชนบทไทยในอดีต

สมัยเด็ก ๆ เวลาพูดถึงเรื่องผีกระสือ ผีปอบ ผู้เขียนไม่อยากนั่งตรงร่องไม้เลย เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าเรื่องผีนั้น มักจะบอกว่าผีจะยื่นมือมาล้วงตับไตไส้พุง ท่านผู้อ่านที่อายุมาก ๆ หรือเป็นคนพื้นเพชนบทคงนึกออก ว่าบ้านไทยเมื่อก่อนนั้นจะเป็นบ้านไม้และพื้นก็เป็นพื้นไม้ซึ่งจะมีร่องเป็นระยะ ๆ แล้วเวลามีลม ลมก็จะโชยขึ้นมาตามร่อง เป็นการช่วยเพิ่มบรรยากาศความน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก จริง ๆ แล้วที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบเล่าเรื่องผีให้เด็กฟังในช่วงกลางคืน ก็เป็นกุศโลบายที่กำกับควบคุมความประพฤติของเด็กไม่ให้หนีเที่ยวนอกบ้าน เพราะความมืดที่โรยปกคลุมนั้นอาจจะทำให้ตะขาบ แมงป่อง งู หรือสัตว์มีพิษอื่น ๆ กัดเอาได้จึงได้อ้างเรื่องผีหลอกให้กลัวกัน

ใบหนาดจัดเป็นยาสมุนไพรประจำบ้านอีกชนิดหนึ่ง ที่น่าจะมีไว้ เพราะใบหนาดมีสรรพคุณ ช่วยขับลม แก้ปวดท้อง จุกเสียด ใบหนาดจะมีกลิ่นหอมเหมือนกับพิมเสน เมื่อขยี้ใบดู จะได้กลิ่นหอมเหมือนพิมเสนเลย จึงนิยมนำมาสูดดมแก้วิงเวียนศีรษะ คนสมัยโบราณเมื่อเข้าป่าจะต้องไม่ขาดใบหนาดในกระเป๋าอย่างแน่นอน สรรพคุณของใบหนาดช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ช่วยขับลมแก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ห้ามเลือด ขับน้ำคาวปลา จึงนิยมนำมาใช้ต้มให้สตรีหลังคลอดอาบหรืออบไอน้ำ และต้มผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ ดื่ม ดังนั้นสมัยก่อนจึงมีใบหนาดปลูกตามบ้านกันมาก เพราะบ้านไหนมีหญิงคลอดลูกก็จะต้องใช้ใบหนาดกันเป็นจำนวนมาก ถ้าบ้านไหนขาดความรู้ความเอาใจใส่ ไม่ใช้ใบหนาดช่วยในการดูแลแม่หลังคลอดก็อาจเกิดการตกเลือดหรือไม่สบายจนตายก็มี ผู้หญิงสมัยก่อนเมื่อตกเลือดแล้วโอกาศเสียชีวิตสูง ดูแต่แม่นาคพระโขนงสิ ก็เกิดจากโศกนาฎกรรมการตกเลือด หมอตำแยไม่ชำนาญกลับตัวเด็กไม่ได้ ก็ตายทั้งกลม ยิ่งหนักเข้าไปอีกถ้ามีคนตายท้องกลมในระแวกบ้านใครแล้วยิ่งเป็นที่น่ากลัวมาก ๆ เพราะเชื่อว่าผีตายท้องกลมเฮี้ยนกันจริง ๆ ดูอย่างแม่นาคสิเฮี้ยนจนขึ้นชื่อกลายเป็นตำนานแม่นาคพระโขนงจนถึงปัจจุบัน

พูดถึงผีกันแล้ว ตำนานผีไทยก็ใช้ใบหนาดป้องกันผี ส่วนผีฝรั่งก็มีกล่าวถึงการใช้กระเทียมป้องกันผี ลองพินิจดูแล้วว่าที่ผีฝรั่งกลัวกระเทียมเพราะกระเทียมมีกลิ่นเหม็นฉุน ซึ่งพวกฝรั่งเขาไม่ชอบอะไรที่กลิ่นแรงหรือเผ็ดหรือเหม็นกันอยู่แล้ว ก็กลายเป็นว่าสมุนไพรกระเทียมใช้ป้องกันผีฝรั่งไป ส่วนใบหนาดของไทยเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ก็อาจเป็นไปได้ว่าผีไทยกลัวกลิ่นหอมเย็น เพราะคนแถบเอเซียหรือบ้านเรานิยมนำของหอมใช้ในการบูชาของลูกและใช้รักษาโรคได้ แต่ก็น่าคิดต่อเหมือนกันนะว่าสมุนไพรไทยมีหลายอย่างที่มีกลิ่นหอมทำไมไม่นำมาใช้ป้องกันผี ทำไมต้องเป็นใบหนาดอย่างเดียว ใครที่มีข้อมูลเรื่องสมุนไพรป้องกันผีก็ช่วยเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็แล้วกัน

ที่จริงแล้วความเชื่อทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรามากกว่า จิตที่เรานำไปผูกยึดติดเอาไว้ ก็สร้างภาพสร้างจินตนาการหลอกเราเอง ก็ทำให้เรากลัว ส่วนพวกผีที่เร่ร่อนหรือเที่ยวหลอกหลอนคนไปทั่ว ดังตัวอย่างในหนังแม่นาคพระโขนง หรือเปรตวัดสุทัศน์ นั้น แม้ว่าใช้ใบหนาดอย่างไร ก็ไม่น่าจะป้องกันผีได้ทางพระท่านบอกว่ามีวิธีเดียวที่เราจะช่วยปลดปล่อยคือ ต้องนั่งสมาธิ วิปัสสนา แผ่เมตตา ทำจิตให้นิ่งสงบ อุทิศส่วนกุศลให้กับเขาไป ซึ่งการแผ่เมตตานั้น นอกจากจะช่วยเหลือดวงวิญญาณที่มองไม่เห็นแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างบุญกุศลผู้แผ่เมตตาอีกด้วย มันก็ทำให้คนหลุดจากความกลัว หลุดจากการสร้างมโนภาพขึ้นในจิตหลอกตนเอง เมื่อนั้นความกลัวก็หายไป จึงจะเป็นการแก้ที่ถูกวิธี

พูดถึงเรื่องผี คนที่มักชอบฟังเรื่องผีเขาว่ามักจะเป็นคนที่กลัวผี แต่ยิ่งกลัวก็ยิ่งชอบฟังชอบพิสูจน์ ผู้เขียนว่าอย่างนี้ผีไม่ไปไหนหรอกมันก็อยู่ในจิตใจของเรานั่นเองแหละ ใครรู้ก็จงไปให้ถูกวิธีซะ

หนาด

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Blumea balsamifer DC.

ชื่อวงศ์ :COMPOSITAE

ชื่อสามัญ :Ngai Camphor Trce.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น

เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นความสูงประมาณ 5-6 ฟุต ทั่วลำต้นมีขนสีขาวนุ่ม ลำต้นเป็นแก่นแข็ง

ใบ

ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมเล็กน้อย ริมขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ไม่เท่ากัน ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.2-4.5 ซม. ยาวประมาณ 10-17 ซม. หลังใบและใต้ท้องใบมีขนทั้ง 2 ด้าน

ดอก

ดอกออกเป็นช่อ ตามบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนจะเป็นสีเหลือง แต่พวกแก่กลีบดอกก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีขาว

ผล

ผลมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ มีเหลี่ยมอยู่ 10 เหลี่ยม ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ

การขยายพันธุ์

เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักขึ้นตามที่กว้าง ทุ่งนา หรือหุบเขาทั่วไป ขยายพันธุ์ ด้วยการใช้เมล็ด หรือผล

ส่วนที่ใช้

พิมเสน(กลั่นได้จากใบและยอดอ่อน) ใบและยอดอ่อน ราก

สรรพคุณของหนาด

สามารถแยกออกเป็นส่วนได้ คือ

ราก ขับลม ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ขับถ่ายของเสีย ท้องร่วง แก้บวม ปวดข้อ รักษาแผลฟกช้ำ แก้ปวกเมื่อยหลังคลอด

ใบ บำรุงกำลัง ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี แก้บวม แผลฟกช้ำ แก้ปวดข้อ และกระดูก แก้กลาก แก้บิด ขับลม แก้ปวดท้อง ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หืด ห้ามเลือด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก

ต้น ขับเสมหะ

ทั้งต้น ขับปัสสาวะ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้ปวดท้อง แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้โรคหลอดลมอักเสบ และหืด