ไก่:การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

กองส่งเสริมการปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์

เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่  กินไข่กินเนื้อ

บางส่วนที่เหลือ   จุนเจือรายได้

ครอบครัวสุขศรี    มากมีกำไร

ทุกคนสดใส         ต่างไร้โรคา

เกษตรกรแทบทุกครอบครัวมักจะเลี้ยงไก่พื้นเมืองอย่างน้อย ๒-๓ แม่ เนื่องจากไก่พื้นเมืองสามารถคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองได้ เพียงแต่ให้เศษอาหารที่เหลือจากครัวและการดูแลเอาใจใส่อีกเล็กน้อย ไก่เหล่านั้นก็ให้ไข่ให้ลูก และเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ

ปัจจุบันนี้ตลาดมีความต้องการไก่พื้นเมืองมาก ราคาไก่พื้นเมืองจะแพงกว่าไก่ชนิดอื่นๆ และมักจะขาดตลาดจึงเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรจะเพิ่มรายได้และการอยู่ดีกินดีของครอบครัวโดยการ เลี้ยงไก่พื้นเมือง

ข้อดีของการเลี้ยงไก่พื้นเมือง

๑.  ตลาดต้องการมากมีเท่าไรก็ขายได้หมด

๒.  ขายได้ราคาดี

๓.  สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพได้ ถ้าเกษตรกรสามารถขายไก่รุ่นได้เดือนละ ๕ ตัว ในปีหนึ่งจะมีรายได้ถึง ๒,๔๐๐-๓,๐๐๐ บาท

๔.  ลงทุนต่ำ เพราะเกษตรกรสามารถเริ่มเลี้ยงจากแม่ไก่ ๓-๔ ตัว แล้วค่อยๆ ขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

๕.  แม่ไก่สามารถฟักไข่ และเลี้ยงลูกเองได้ ในปีหนึ่งแม่ไก่จะไข่อย่างน้อย ๓-๔ รุ่น รุ่นหนึ่งจะฟักออกประมาณ ๘-๑๐ ตัว ตลอดทั้งปีแม่ไก่จะให้ลูกอยู่ระหว่าง ๓๐-๔๐ ตัว

๖.  หาอาหารกินเองได้ เจ้าของเพียงแต่ให้รำ ปลายข้าวหรือเศษอาหารเพิ่มเติมอีกวันละ ๒ ครั้ง เช้าเย็นก็พอแล้ว

๗.  เกษตรกรมีเวลาว่าง ๆ เช้าและเย็น และในฤดูแล้งสามารถจะใช้เวลานั้นหารายได้พิเศษจากการเลี้ยงไก่ได้

ข้อควรคำนึงเรื่องพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่พื้นเมือง

๑.  เกษตรกรควรเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ๓-๔ แม่ก่อน

๒.  ถ้าต้องซื้อแม่ไก่ ควรหาซื้อแม่ไก่จากเพื่อนบ้านจะดีกว่าซื้อจากตลาด

๓.  ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไก่ที่ซื้อมาแข็งแรงไม่ป่วยเป็นโรค และเป็นตระกูลที่ไข่ดกเลี้ยงลูกเก่ง

๔.  เมื่อซื้อไก่จากที่อื่นมา ต้องแยกขังกรงไว้ต่างหากอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ จนแน่ใจว่าไก่นั้นไม่ป่วยเป็นโรคจึงนำเข้ารวมฝูง

๕.  เมื่อมีแม่ไก่สาวหลายๆ ตัว ควรหาพ่อไก่พันธุ์ไข่ เช่น พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค หรือ โร๊ดไอร์แลนด์แดง มาผสมพันธุ์จะได้ลูกที่ตัวโตและไข่ดก

๖.  พ่อไก่พันธุ์เนื้อ(สีขาว) ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ เพราะไม่แข็งแรง ไม่ทนทานต่อโรค และให้ไข่ไม่ดก

๗.  เกษตรกรต้องเปลี่ยนพ่อพันธุ์ไก่ใหม่ทุกปี

๘.  พ่อไก่ ๑ ตัว จะผสมแม่พันธุ์ได้ ๘-๑๐ ตัว

รายละเอียดของเล้าและกรง

ขนาดของเล้าและกรง

–         เล้ากว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตร สูง ๒ เมตร จะเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ประมาณ ๓๐-๔๐ ตัว

–         กรงกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร สูง ๑ เมตร จะเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ประมาณ ๖-๘ ตัว

–         ควรจะมีกรงไก่ขนาดเล็กอีก ๒ กรง คือ กรงหรือสุ่มสำหรับเลี้ยงแม่ไก่กับลูกอ่อน ๑ กรง กรงหรือสุ่มสำหรับเลี้ยงไก่เล็ก ๑ กรง

พื้นเล้า

–         ปูด้วยแกลบ ขี้เลื่อย ขี้กบ หรือฟางแห้ง หนาอย่างน้อย ๔ ซม.

–         โรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคทุก ๆ ๓ เดือน โรยทั่วๆครั้งละ ๑-๒ กก.

–         เติมวัสดุรองพื้นทุก ๆ ๓ เดือน ให้หนาเท่าเดิมอยู่เสมอ

ส่วนประกอบภายในเล้าไก่

ก.  รางน้ำ ต้องมีน้ำสะอาดให้แม่ไก่กินทุกๆ วัน แม้จะเลี้ยงไก่แบบปล่อยก็ต้องมีรางน้ำตั้งไว้ให้กินตลอดวันและควรมีรางน้ำทั้ง ๓ ขนาด คือ

–  ขนาดเล็กสำหรับลูกไก่

–  ขนาดกลางสำหรับไก่รุ่น

–  ขนาดใหญ่สำหรับพ่อ-แม่ไก่

ข.  รางอาหาร เวลาให้อาหารในตอนเช้าและเย็นไก่ทุกตัวจะกินอาหารพร้อมกัน ผู้เลี้ยงต้องเตรียมรางอาหารไว้ให้พอเพียง โดยคิดขนาดดังนี้

–  ไก่ใหญ่ ๑๐ ตัว ใช้รางยาว ๑ เมตร

–  ไก่รุ่น ๑๐ ตัว ใช้รางยาว ๕๐ ซม.

–  ไก่เล็ก ๑๐ ตัว ใช้รางยาว ๒๐ ซม.

ค.  รางใส่กรวดและเปลือกหอย ไก่ทุกขนาดต้องกินกรวดและเปลือกหอยเพื่อนำไปสร้างกระดูกและเปลือกไข่ ต้องตั้งทิ้งไว้ให้กินตลอดเวลา

ง.  รังไข่ ปกติแม่ไก่พื้นเมืองจะไข่ในรังจนได้ไข่ ๑๐-๑๒ ฟอง จึงจะเริ่มฟัก ดังนั้นจึงต้องมีจำนวนรังไข่ให้เพียงพอเพื่อไม่ให้แย่งกัน ขนาดรังไข่กว้างและยาว ๑ ฟุต สูง ๘ นิ้ว ปูพื้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้งให้ถึงครึ่งของความสูง

จ.  ม่านกันฝน ด้านที่ฝนมักจะสาดหรือแดดส่องมากๆ ควรมีม่านผ้าใบ กระสอบหรือเสื่อเก่าๆ ห้อยทิ้งไว้โดยเฉพาะมุมที่วางรังไข่

การเลี้ยงแม่ไก่และลูกไก่เล็ก

ผู้เลี้ยงไก่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกรงเล็กๆ ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑ เมตร สำหรับเลี้ยงแม่ไก่และลูกไก่ที่เพิ่งจะฟักออกใหม่ๆ ไปจนถึงอายุ ๒ สัปดาห์

กรงเลี้ยงไก่อ่อนอาจจะทำด้วยลวดตาข่าย ไม้ไผ่ไม้ระแนง หรือจะใช้สุ่มไก่ขนาดธรรมดาก็ได้

การแยกแม่ไก่และลูกไก่ออกมา จะทำให้การดูแลให้น้ำ ให้อาหารได้เต็มที่ ลูกไก่จะรอดตายมาก

เมื่อลูกไก่อายุได้ ๒ สัปดาห์ ควรแยกออกจากแม่น้ำมาเลี้ยงในกรงต่างหาก เพื่อให้แม่ไก่ฟักตัว แล้วเตรียมตัวไข่รุ่นต่อไปเร็วขึ้น

การเลี้ยงลูกไก่

ลูกไก่อายุ ๒ สัปดาห์ที่แยกจากแม่ใหม่ๆ ยังหาอาหารไม่เก่ง และยังป้องกันตัวเองไม่ได้ ต้องเลี้ยงในกรง เพื่อให้ลูกไก่แข็งแรงปราดเปรียว จนกระทั่งอายุเดือนครึ่งถึงสองเดือน

อาหารสำหรับลูกไก่ระยะนี้ควรเป็นอาหารละเอียด เช่น ปลายข้าว รำละเอียดผสมกับหัวอาหารชนิดเม็ดในอัตราส่วนเท่าๆกัน

ลูกไก่ระยะนี้เป็นช่วงที่อ่อนแอมาก มักจะมีการตายมากที่สุด เจ้าของต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเรื่องน้ำอาหาร และการป้องกันโรค

อาหารไก่พื้นเมือง

ไก่ต้องการอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น

–         ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หายใจ เดิน วิ่ง และการกินอาหาร

–         ใช้สร้างกระดูก เนื้อ หนัง ขน เล็บ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

–         ใช้สร้างไข่ และผลิตลูกไก่

ดังนั้น การที่ไก่จะเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรงและให้ไข่มาก ไก่จะต้องได้กินอาหารดีและเพียงพอโดยสม่ำเสมอ

ไก่ต้องการอาหารประเภทใดบ้าง

ความต้องการอาหารของไก่คล้ายกับคนมาก ไก่จะต้องการอาหารทั้งหมด ๖ อย่างคือ

๑.  อาหารประเภทแป้ง  เพื่อนำไปสร้างกำลังใช้ในการเดิน วิ่ง อาหารประเภทนี้ได้จาก รำ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวเปลือก กากมันสำปะหลัง

๒.  อาหารประเภทเนื้อ เพื่อนำไปสร้างขน เล็บ เลือด เนื้อ หนัง อาหารประเภทนี้ได้จาก แมลง ไส้เดือน ปลา ปลาป่น กากถั่ว กากมะพร้าว

๓.  อาหารประเภทไขมัน  เพื่อนำไปสร้างความร้อนให้ร่างกายอบอุ่นและหล่อเลี้ยงกระดูก ได้จาก กากถั่ว กากมะพร้าว ไขสัตว์ น้ำมันหมู กากงา

๔.  อาหารประเภทแร่ธาตุ  เพื่อนำไปสร้างกระดูก เลือด และเปลือกไข่ แร่ธาตุต่างๆ ได้จากเปลือกหอยป่น กระดูกป่น เลือดแห้ง

๕.  อาหารประเภทไวตามิน  สร้างความแข็งแรงและกระปรี้กระเปร่าแก่ร่างกาย สร้างความต้านทานโรคและระบบประสาท มีในหญ้าสด ใบกระถิน ข้าวโพด รำข้าว ปลาป่น

๖.  น้ำ  เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อร่างกาย ถ้าขาดน้ำไก่จะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องมีน้ำให้ไก่กินตลอดเวลา

การให้อาหารและน้ำแก่ไก่พื้นเมือง

การปล่อยให้ไก่หาอาหารเองตามธรรมชาติเคยชิน ทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าไก่กินรำและปลายข้าวสองอย่างก็เป็นการเพียงพอ แต่การที่จะเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดีนั้น เกษตรกรจะต้องให้การเอาใจใส่เรื่องอาหาร และน้ำให้มากขึ้น โดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้

๑.  ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกๆ วัน

๒.  มีรางอาหารเพียงพอกับจำนวนไก่ และมี ๓ ขนาด คือรางอาหารไก่เล็ก ไก่รุ่น และไก่ใหญ่

๓.  ให้อาหารไก่ทุกเช้า และเย็น เพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ

๔.  ให้อาหารไก่หลายๆ ชนิดผสมกัน เช่น ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพด ปลาป่น หรือเศษอาหาร ข้าวเปลือก แมลง มด ปลวก กากถั่ว กากมะพร้าว หัวอาหารไก่สำเร็จรูปชนิดเม็ด หรือชนิดผง

๕.  มีเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่น ตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินตลอดเวลา

๖.  ให้หญ้าสด ใบกระถิน หรือผักสดให้ไก่กินทุกวัน

๗.  ในฤดูที่อาหารไก่ในธรรมชาติมีน้อย เช่น ฤดูแล้งเกษตรกรต้องลงทุนบางส่วนซื้ออาหารสำหรับไก่บ้าง

๘.  การใช้หัวอาหารไก่สำเร็จรูป ผสมลงในรำข้าวหรือปลายข้าว เป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด เนื่องจากเกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่าย และผสมได้สะดวกเป็นวิธีที่จะเสริมให้ไก่เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้นอีก

๙.  ลูกไก่ และไก่เล็ก จะต้องได้รับการดูแลเรื่องอาหารมากที่สุด

๑๐.  สังเกตดูว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอหรือไม่ ให้ดูว่า ในระยะแรกที่ให้อาหารไก่จะรีบกินและมีการแย่งกัน ถ้าไก่กินอาหารไปเรื่อยๆ และเลิกแย่งกัน กินอาหารช้าลงมีการคุ้ยเขี่ย แสดงว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอแล้ว

สรุป

เกษตรกรควรหันมาสนใจกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพราะนอกจากจะใช้เป็นอาหารในครอบครัวแล้ว ยังสามารถขายในเทศกาลต่างๆ เป็นการช่วยเสริมรายได้ของครอบครัว คนนิยมรับประทานไก่พื้นเมืองกันมาก เพราะเนื้อแน่น มีมันน้อย รสอร่อย จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันไก่ตัวผู้ราคากิโลกรัมละ ๒๕-๒๘ บาท ไก่ตัวเมียกิโลกรัมละ ๔๐-๔๕ บาท เลี้ยงไว้ได้กินไข่กินเนื้อและจุนเจือรายได้