ไก่ป่าศรีลังกา

ชื่อสามัญ La Fayette’s Junglefowl

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gallus lafayettei

มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น Ceylon Junglefowl และ Cingalese Junglefowl เป็นไก่ป่าที่หงอนมีจักรเล็กกว่าชนิดอื่น และมีจุดเด่นตรงที่มีแถบสีเหลืองตรงกลางหงอน ลักษณะทั่ว ๆ ไปเหมือนไก่ป่าแดง แต่อกจะมีสีแดงในขณะที่ไก่ป่าแดง อกมีสีดำ มีกิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกา อยูในป่าตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงยอดเขาสูงระดับ 6,000 ฟุด นิสัยโดยทั่วไปเหมือนไก่ป่า แดง นอกจากมันชอบอยู่ในป่ามากกว่า ไม่ชอบมาหากินใกล้บ้านคนหรือไร่นา และไม่ชอบอยู่เป็นฝูงใหญ่ อาศัยอยู่ในภูมิประเทศทุกชนิด ทั้งป่าชื้นบนภูเขาและป่าแห้งที่มีพุ่มไม้เตี้ย ๆ ตามชายฝั่ง วางไข่เกือบตลอดปี โดยวางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ใช้เวลาฟัก 20- 21 วัน ตัวผู้จะมีสีเต็มเมื่ออายุ 2 ปี และอายุปีเดียวยังผสมพันธุ์ไม่ได้ ไก่ป่าพันธุ์นี้ไม่มีการผลัดขนเหมือนไก่ป่าแดง เพียงแต่เมื่อถึงฤดูร้อน หงอนจะหดเล็กลงเท่านั้น

ไก่ป่าศรีลังกาถูกนำไปเพาะเลื้ยงในประเทศอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี ค.ค.1874 ในสวนสัตว์กรุงลอนดอน แรกๆ เข้าใจกันว่าเป็นไก่ป่าที่เลี้ยงยาก และถ้าผสมกับไก่ป่าชนิดอื่น ลูกผสมจะเป็นหมัน แต่จากการเพาะเลี้ยงต่อมาพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นไก่ป่าที่เลี้ยงง่าย มีความอดทนและเพาะพันธุ์ง่ายเหมือนไก่ป่าแดง จนมีการเพาะเลี้ยงกันทั่วไปในยุโรปและอเมริกา น่าเสียดายที่แหล่งที่มีการเพาะเลี้ยงไก่ป่าชนิดนี้มากในประเทศฝรั่งเศสถูกทำลายด้วยระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจนไม่มีเหลือ ในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงน้อยมาก ในอังกฤษและอเมริกาก็ไม่ปรากฏว่ามีหนังสือ Pheasants of the world ระบุว่ามีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีการเพาะเลี้ยงไก่ป่าชนิดนี้ในปัจจุบัน