ไก่ป่าเทา

ชื่อสามัญ Sonnerat’s Junglefowl

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gallus sonnerati

เป็นไก่ป่าที่มีหงอนบางและมีส่วนสร้อยคอแปลกกว่าชนิดอื่น มีถิ่นกำเนิดทางตะวันตกและทางใต้ของประเทศอินเดียเรื่อยไปจนถึงภูเขาอาบูทางต้านตะวันออกเฉียงเหนือ และไปทางตะวันออกจนถึงแม่นํ้าโคธาวารี ตลอดจนในอินเดียตอนกลาง แต่ที่พบมากคือทางตะวันตก ไก่ป่าที่พบทางด้านเหนือจะมีสีจางกว่าที่พบทางด้านใต้ ซึ่งจะมีสีเข้มสดใสกว่า อาศัยอยูในป่าและตามดงไผ่ตามเชิงเขาจนถึงระดับความสูง 5,000 ฟุต มีนิสัยเหมือนไก่ป่าทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ชอบอยู่เป็นฝูงเหมือนไก่ป่าแดง จะหากินเพียงตัวเดียวหรือเป็นคู่หรือเป็นครอบครัวเล็ก ๆ จะพบเป็นฝูงจำนวนมากตอนพวกมันมากินลูกไม้ที่สุกพร้อมๆ กัน แต่ก็จะเป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ฤดูผสมพันธุ์ไม่แน่นอนแล้วแต่ถิ่นที่อยู่ เคยพบว่าพวกที่อยู่ทางเหนือจะวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ในการนำมาเพาะเลี้ยงจะวางไข่ประมาณเดือนเมษายน-กรกฎาคม วางไข่ครั้งละ 4-8 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 20-21 วัน ตัวผู้จะมีสีเต็มตั้งแต่ปีแรก แต่ขนจะสั้นและไม่สดใสเท่าปีต่อไป และจะยังผสมพันธุ์ไม่ได้ จนกว่าจะถึงปีที่สอง ในช่วงเข้าพรรษาตัวผู้จะผลัดขนเหมือนไก่ป่าแดงโดยขนหางเส้นยาวและขนสร้อยคอจะหลุดออก มีขนสีดำสั้นๆ ขึ้นแทนที่ หงอนจะหดเล็กลง

ไก่ป่าเทาเป็นไก่ป่าที่เลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ง่าย ถูกนำเข้าไปในประเทศอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1862 และนำ เข้าไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1868 จนมีการเพาะเลี้ยงกันทั่วไปรวมทั้งในอเมริกาด้วย ขนสร้อยคอและขนคลุมหัวปีกของมันนำไปใช้เป็นเหยื่อปลอมสำหรับตกปลาเทร้าส์ได้ดี จนเป็นสาเหตุทำให้มีการเพาะเลี้ยงไก่ป่าชนิดนี้มากขึ้น