ไก่ฟ้าพญาลอ

ชื่อสามัญ Siamese Fireback Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura diardi

เป็นไก่ฟ้าชนิดเดียวของไทยที่ทั่วโลก เรียกว่า ไชมีส ไฟร์แบ๊ค ทั้งนี้เพราะถูกนำเข้าไปในยุโรปครั้งแรกโดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่งไปให้พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงปารีส เมื่อปี ค.ศ.1862 จำนวน 1 คู่ และได้ถูกตั้งชื่อตั้งแต่ตอนนั้น และไก่ฟ้าคู่นี้ได้ออกไข่ออกลูกในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ.1866 เนื่องจากเป็นไก่ฟ้าที่สวยงาม มีความอดทนเลี้ยงให้ รอดได้ง่าย จึงมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของโลก แต่รูปร่างทรวดทรงได้เปลี่ยนไป คือ ตัวจะอ้วนป้อมและต่ำเตี้ยลง อันเป็นลักษณะของสัตว์ป่าที่ถูกนำมากักขังเลี้ยงดู เป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงให้เชื่องได้ง่ายกว่าชนิดอื่นๆ ผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3 ปี ทั้งที่ตัวผู้เริ่มมีสีสวยงามตั้งแต่ปีแรก

ไก่ฟ้าพญาลอมีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของอัสสัม เวียดนามตอนกลาง เขมรตอนกลาง ภาคใต้ของลาว และในประเทศไทย ซึ่งพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไก่ฟ้าที่มีนิสัยหากินอยู่ในป่า ระดับต่ำ ตั้งแต่ป่าชายทะเลไปจนถึงความสูงประมาณ 2,000 ฟุต ซึ่งต่างจากไก่ฟ้าหลังเงินที่อยู่สูงกว่าระดับ 2,000 ฟุตขึ้นไป ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่รกทึบมีป่าไผ่ผสม ไม่ชอบออกมาหากินในที่โล่ง ชอบกินแมลง เมล็ดพืช เมล็ดผลไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้นดินเป็นอาหาร ผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยจะจับคู่เป็นคู่ ๆ ไม่คุมฝูงเหมือนไก่ฟ้าชนิดอื่นๆ ทำรังบนพื้นดินใต้พุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือตามโพรงไม้ ปูรังด้วยใบไม้ใบหญ้า ปกติวางไข่ 4-6 ฟอง ใช้เวลาฟัก 24 วัน ไข่มีสีขาวนวล รูปร่าง ป้านคล้ายลูกข่าง มีขนาดโตกว่าไข่ไก่แจ้เล็กน้อย