ไก่ฟ้าหลังเทาหงอนขาว

ชื่อสามัญ  White-Crested Kalij

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lophura leucomelana hamiltoni

มีถิ่นกำเนิดทางด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย จากแม่น้ำสินธุถึงประเทศเนปาล บางครั้งพบไกลไปทางตะวันออกจนถึงแม่นํ้า Cogra ซึ่งทางด้านนี้ยังไม่ทราบขอบเขตของการกระจายถิ่นที่แน่นอน มีการพบทั่วไปในป่าและดงไม้ที่ระดับความสูง 1,200-11,000 ฟุต และก็เหมือนกับไก่ฟ้าหลังเทาทั่วไป มันเป็นพวกที่หากินประจำถิ่น ไม่ชอบย้ายที่หากิน นอกจากจะขึ้นสูง หรือลงตํ่าตามฤดูกาลเท่านั้น มักจะพบหากินเป็นคู่หรือเป็นครอบครัวเล็ก ๆ และจะหากินตอนเช้าตรู่และตอนพลบค่ำ บางครั้งจะพบตามชายป่าหรือบนถนน มันหากินโดยใช้จงอยปากขุดคุ้ยหาอาหารตามพื้นดิน ฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่มันอาศัยอยู่ ทำรังตามพงหญ้าหรือใต้พุ่มไม้ที่มีใบดกหนาใกล้ ๆ กับแหล่งนํ้า วางไข่ 9-15 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 24-25 วัน

ไก่ฟ้าชนิดนี้ถูกนำไปเลี้ยงในสวนสัตว์กรุงลอนดอนเป็นครั้งแรกในปี ค.ค.1857 พร้อม ๆ กับไก่ฟ้าอีกหลายชนิด และขยายพันธุ์ได้มากจนมีการเพาะเลี้ยงกันแพร่หลายทั่วไป แต่กลับไม่มีให้เห็นเลยในช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว จนถึงปี ค.ศ.1912 จึงมีการสั่งไก่ฟ้าชนิดนี้เข้าไปใหม่และเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้อีกในปีต่อมา มันเป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงง่าย อดทน ไม่ต้องการความดูแลมากและขยายพันธุ์ได้ง่าย ไก่ป่าที่นำมาเลี้ยงมักจะตื่น แต่ลูกที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะเชื่อง ตัวผู้ของไก่ฟ้าชนิดนี้มีทั้งชนิดที่หงอนขาวล้วน และชนิดที่หงอนสีเทาปนนํ้าตาล ชนิดที่หงอนมีสีขาวล้วนจะสวยกว่าและหาได้ยากกว่า