ไก่ฟ้าหิมาลายันโมนาล

ชื่อสามัญ Himalayan Monal

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophophorus impeyanus

เป็นไก่ฟ้าโมนาลชนิดเดียวที่มีขนหงอนบนหัวเหมือนกับขนหงอนของนกยูงอินเดีย และเป็นชนิดเดียวที่มีการเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน มีถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาหิมาลัย และมีการกระจายถิ่นกว้างขวางมากจากอัฟกานิสถานตะวันออกไปจนถึงปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ เนปาล และภูฐานจนถึงธิเบตตอนใต้ชอบอยู่ป่าโปร่งที่ระดับความสูง 8,000-15,000 ฟุตในฤดูร้อนจะอยู่สูงกว่าไก่ฟ้าทุกชนิด หากินโดยใช้ปากขุดคุ้ยหาอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกพืช เช่น ราก, หัว และหน่ออ่อน รวมทั้งเมล็ดพืชและแมลง และจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการขุดคุยหาอาหาร ไก่ฟ้าตระกูลนี้จะไม่ใช้ขาในการคุ้ยเขี่ยหาอาหารเลย ตัวเมียทำรังบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ตามซอกหินหรือบริเวณตอไม้ วางไข่ 4-8 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 28 วัน ตัวผู้จะมีสีเต็มเมื่อมีอายุ 2 ปี ปีแรกจะดูเหมือนตัวเมีย สังเกตได้โดยจะมีจุดสีดำที่คอและด้านบนจะเริ่มมีสีเป็นมันวาวบ้างเล็กน้อย

เป็นที่รู้จักกันเป็นครั้งแรกในอินเดียโดย Lady Impey เป็นผู้เลี้ยงไว้ และเป็นไก่ฟ้าโมนาลชนิดเดียวที่มีการสั่งเข้าไปเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอและมีการเลี้ยงกันมาก มีรายงานระหว่างปี ค.ศ.1864-1882 มีการสั่งไก่ฟ้าชนิดนี้จากอินเดียไปในยุโรปถึงสองพันกว่าตัว และระหว่างปี ค.ค.1922-1940 มีการสั่งจากกัลกัตตาไปในยุโรป 50 ถึง 100 กว่าตัวทุกปี ส่วนมากเป็นไก่ฟ้าที่ได้มาจากเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตก ปัจจุบันมีการเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนไม่น้อยในยุโรปและอเมริกา เลี้ยงตัวผู้ตัวเดียว ต่อตัวเมียหลายตัวได้