ไก่ฟ้าเชียร์

ชื่อสามัญ  Cheer Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Catreus wallichi

เป็นไก่ฟ้าเพียงหนึ่งเดียวในตระกูลนี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางด้านตะวันตกและตอนกลางของภูเขาหิมาลัย เป็นไก่ฟ้าที่มีการกระจายถิ่นจำกัดมาก จะพบเฉพาะที่ระดับความสูง 4,000-10,000 ฟุต เมื่อถึงฤดูหนาวพวกที่อยู่สูง ๆ จะลงมาที่ต่ำ เป็นไก่ฟ้าที่ชอบอยู่บนพื้นดิน ปกติจะนอนบนพื้นดิน ไม่ชอบอยู่บนต้นไม้ มันมีปากแข็งแรงที่ใช้ประโยชน์ในการขุดคุ้ยหาอาหารจากพื้นดิน พวกหัวและรากอ่อนของพืช อาศัยอยู่ทั่วไปไนสภาพที่เป็นป่า หากินเป็นฝูงเล็กๆ 6-15 ตัว โดยธรรมชาติเป็นไก่ฟ้าที่เชื่องมาก ขาสั้น ทำให้มันค่อนข้างเชื่องช้า ไม่ปราดเปรียวเหมือนไก่อื่น ๆ ฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน ทำรังตามพื้นดินใต้พุ่มไม้ วางไข่ 9-14 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 26 วัน

ไก่ฟ้าชนิดนี้ตัวผู้กับตัวเมียเหมือนกันมาก เป็นพวก Monogamous มีรายงานว่าตัวผู้จะช่วยตัวเมียดูแลลูกด้วย ในการเพาะเลี้ยงมันจะวางไข่ 15-25 ฟองต่อปี จัดว่าเป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงง่าย ชอบอยู่ในกรงที่แห้ง ไม่ชอบชื้น ตัวผู้บางตัวชอบตีตัวเมีย หรือบางทีตัวเมียก็ตีตัวผู้ตอนจับคู่กันในกรงใหม่ ๆ

ถูกนำไปยุโรปครั้งแรกพร้อม ๆ กับไก่ฟ้าอีกหลายชนิดในปี ค.ศ.1857 โดยถูกนำใปที่อังกฤษและขยายพันธุ์ได้ ในปีต่อมาแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีไก่ฟ้านี้ในกรงเลี้ยงเลย จนถึงปี ค.ศ.1933 จึงมีการสั่งไก่ป่าจากอินเดียเข้าไปเลี้ยงอีก และมีการเพาะเลี้ยงกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เคยถูกปล่อยในแหล่งที่ใช้ล่านก แต่ไม่เป็นผลเพราะมันเที่ยวออกนอกพื้นที่ไปไกลแล้วหายไปเลย