ไก่ฟ้า:ไก่ฟ้าบลัด(1)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไก่ฟ้า

สัตว์ปีกที่เรียกกันว่าไก่ฟ้านั้น ประกอบด้วยไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ ไก่ป่า นกยูง นกหว้า และนกแว่น รวมทั้งหมด 16 ตระกูล 48 ชนิด ไก่ฟ้าทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดอยูในทวีปเอเชียทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงชนิดเดียว คือ นกยูงคองโกเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ไก่ฟ้าเหล่านี้ในธรรมชาติอาศัยอยู่ในป่าที่มีระดับความสูงต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ระดับสูงสุด มีหิมะปกคลุมบนเทือกเขาหิมาลัย เช่น ไก่ฟ้า บลัด ทราโกแพน, โคกลาส และ โมนาล จนถึงระดับนั้าทะเล เช่น พวกไก่ป่า นกแว่น ไก่ฟ้าบอร์เนียว และไก่ฟ้าไร้หงอน เป็นต้น ถึงแม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย แต่ไก่ฟ้าเหล่านี้กลับมีชื่อออกไปทางฝรั่ง ทั้งนี้เป็นเพราะการตั้งชื่อไก่ฟ้านั้น ส่วนใหญ่ดังตามชื่อผู้คนพบ หรือผู้ที่นำเข้าไปเผยแพร่ในยุโรป เช่น ไก่ฟ้าเอดเวิร์ด, สวินโฮว์, รีฟ และ เลดี้ แอมเฮิร์ส เป็นต้น บางทีก็ตั้งตามสถานที่ ๆ พบไก่ฟ้าชนิดนั้น เช่น นกยูงอินเดีย, นกแว่นพาลาวัน,ไก่ฟ้าหิมาลายันโมนาล และไก่ฟ้าเนปาล หรือบางทีก็ตั้งตามลักษณะเด่น หรือตามสีขน เช่น นกยูงเขียว, ไก่ป่าแดง, ไก่ฟ้าหู และไก่ฟ้าหงอนขาว เป็นต้น

ในงานด้านอนุกรมวิธาน นักวิทยาศาสตร์จัดให้พวกไก่ฟ้าอยู่ในวงศ์ฟาเซียนิดี้ ซึ่งในวงศ์นี้นอกจากไก่ฟ้าแล้ว ยังประกอบด้วย ไก่จุก นกกระทา และนกคุ่มบางชนิด จากวงศ์ ซึ่งเป็นการจัด หมวดหมู่อย่างกว้าง ๆ ได้แยกลงไปอีกเป็นตระกูล โดยอาศัยหลักความคล้ายคลึงในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างรูปสันฐาน และพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กัน ตัวอย่างเช่น พวกไก่ฟ้าที่มีหนังบนใบหน้าเป็นสี แดงหรือนํ้าเงิน เพศผู้และเพศเมียต่างกันเห็นได้ชัด มีพฤติกรรมในการเกี้ยวพาราสี และการประกาศการเป็นเจ้าถิ่นเหมือนๆ กันนักวิทยาศาสตร์ก็จะรวมไก่ฟ้าชนิดต่างๆ เหล่านี้ไว้ในตระกูลเดียวกันคือ โลฟูร่า เป็นต้น จากตระกูลยังแยกย่อยลงมาอีกเป็นชนิด อย่างไรก็ดีสัตว์ชนิดเดียวกันถ้าอาศัยอยู่ในถิ่นกำเนิดธรรมชาติที่ห่างไกลออกไปคนละพื้นที่เป็นเวลานาน ๆ ก็มักจะมีความผิดเพี้ยนกันไปบ้างในด้านขนาด สีสัน และลวดลาย ลักษณะเช่นนี้นักวิทยาศาสตร์จึงจัดอันดับให้แคบลงไปอีกเป็นชนิดย่อย

นับเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้วที่บรรดาไก่ฟ้าเหล่านี้ถูกชาวพื้นเมืองล่าไปเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อเป็นอาหาร และเพื่อเอาขนที่สวยงามของมัน ทำให้ไก่ฟ้าหลายชนิดมีจำนวนลดลง ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ที่อยู่อาศัยของมันในธรรมชาติจำกัดขึ้น ไก่ฟ้าบางชนิดจึงเหลือน้อยมาก และบางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์ ในอดีตที่มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างจริงจังก็เป็นชาวยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันในทวีปเอเชียเองก็มีการเพาะเลี้ยงกันแพร่หลายทั่วไป โดยเฉพาะบ้านเราก็มีการเพาะเลี้ยงกันไม่น้อย ทั้งไก่ฟ้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และที่สั่งเข้ามาจากประเทศอื่นรวมแล้วประมาณ 30 ชนิด

ไก่ฟ้าบลัด (1)

ชื่อสามัญ  Blood Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ithaginis cruentus

เป็นไก่ฟ้าที่มีรูปร่างไม่ค่อยเหมือนไก่ฟ้าทั่วไป แต่ไปเหมือนพวกนกกระทามากกว่าทั้งขนาด รูปร่าง และพฤติกรรม เป็นไก่ฟ้าขนาดกลางที่มีถิ่นที่อยู่สูงกว่าไก่ฟ้าทุกชนิด จะพบพวกมันเฉพาะบนภูเขาที่มีระดับความสูง 11,000-15,000 ฟุต และในฤดูหนาวจะย้ายลงตํ่าถึงระดับ 9,000 ฟุต ในบริเวณที่หนาวที่สุดของการกระจายถิ่น จะพบที่ระดับต่ำกว่าปกติ แต่ไม่เคยพบต่ำกว่าระดับ 7,000 ฟุตเลย มันเป็นไก่ฟ้าที่มีการกระจายถิ่นกว้างขวาง จากเนปาลไปทางธิเบตและพม่าตอนเหนือจนถึงด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ไก่ฟ้าในตระกูลนี้มีเพียงชนิดเดียว แต่แบ่งเป็นชนิดย่อยได้ถึง 14 ชนิดย่อย ซึ่งทั้งหมดมีรูปร่างและลักษณะของขนเหมือน ๆ กัน จะต่างกันก็ตรงสีของขนเท่านั้น

โดยธรรมชาติมันเป็นไก่ฟ้าที่เชื่องและไม่ขี้ตื่น ปกติจะอาศัยอยู่ในดงไม้ใกล้ ๆ กับที่ ๆ ที่มีหิมะปกคลุม แต่เวลาหากินจะออกมาในที่โล่ง จะพบเห็นบ่อย ๆ ท่ามกลางหิมะเป็นฝูง 10-20 ตัว หรือบางทีก็มากกว่า เมื่อพบแหล่งอาหารจะส่งเสียงร้องบอกกันตลอดเวลา ทำให้ร็ว่าพวกมันอยู่ที่ไหน อาหารเป็นพวกเมล็ดพืชหัวอ่อน ใบไม้ หญ้ามอสและแมลง มันชอบวิ่ง ไม่ชอบบิน นอกจากจะบินขึ้นไปนอนบนต้นไม้ในเวลากลางคืน เวลาตกใจหรือพบศัตรูใช้วิธีวิ่งหนี ในธรรมชาติมันมีศัตรูมาก ถึงแม้จะไม่ค่อยถูกรบกวนจากมนุษย์เนื่องจากมันอยู่สูงมาก แต่ในที่ ๆ มันอาศัยอยู่ก็มีพวกเสือดาวหิมะ สุนัขจิ้งจอกและโดยเฉพาะนกอินทรี ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด ในกรงเลี้ยงมันเชื่อง และไม่เคยบินชนหลังคากรงเหมือนไก่ฟ้าอื่น มันติดเชื้อง่ายเมื่อถูกนำมาเลี้ยงที่ระดับตํ่า ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงได้ยากมากชนิดหนึ่ง