สารสังเคราะห์ในกลุ่มไซโตไคนิน

ไซโตไคนิน (Cytokinins)
ไซโตไคนินเป็น PGRC กลุ่มหนึ่งซึ่งใช้ประโยชน์ทางการเกษตรค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ พืชสามารถสร้างไซโตไคนินขึ้นมาเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตได้คือสาร ซีอาติน (zeatin) ส่วนสารสังเคราะห์ในกลุ่มไซโตไคนิน ได้แก่ ไคเนติน (kinetin) BAP (6-benzylaminopurine) สารในกลุ่มนี้มีผลต่อการแบ่งเซลล์ และกระตุ้นการเจริญทางด้านลำต้นของพืช กระตุ้นการเจริญของตาข้าง และยังมีผลเล็กน้อยต่อการพัฒนาของผล ใช้กันมากในงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อกระตุ้นการเจริญของก้อนแคลลัส (callus) ให้เติบโตขึ้นมาเป็นลำต้น สารในกลุ่มนี้มีราคาสูงมาก การใช้ประโยชน์จึงค่อนข้างจำกัดและในประเทศไทยยังไม่มีการสั่งสารนี้เข้ามาใช้ประโยชน์ในรูปสารเคมีการเกษตร แต่อาจหาซื้อได้ในรูปสารเคมีบริสุทธิ์จากร้านเคมีภัณฑ์บางแห่งในราคาค่อนข้างสูง ประโยชน์จากสารในกลุ่มไซโตไคนินทางการเกษตรนอกเหนือจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีดังนี้

1. ใช้กระตุ้นการเจริญของกิ่งแขนง สารไซโตไคนินสามารถกระตุ้นให้ตาข้างของพืชเจริญออกมาเป็นกิ่งได้ จึงมีประโยชน์ในการควบคุมทรงพุ่ม ส่วนใหญ่ใช้กับไม้กระถางประดับ นอกจากนี้ยังใช้กระตุ้นตาที่นำไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตา (budding) ให้เจริญออกมาเป็นกิ่งใหม่ได้เร็วขึ้น โดยการทาสารที่ตาซึ่งติดสนิทดีแล้ว จะทำให้ตานั้นเจริญออกมาภายใน 7-14 วัน ภายหลังการให้สารไซโตไคนินที่นิยมใช้ในกรณีนี้คือสาร BAP โดยนำมาผสมกับลาโนลิน (lanolin) เพื่อให้อยู่ในรูปครีมซึ่งสะดวกแก่การใช้

2. ชะลอการแก่ ไซโตไคนินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง BAP สามารถชะลอการแก่ของพืชได้หลายชนิดเช่น ผักกาดหอมห่อ หอมต้น หน่อไม้ฝรั่ง บร็อกโคลี่ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง (celery) โดยการพ่นสาร BAP ความเข้มข้นตํ่าๆ บนใบพืชเหล่านี้ภายหลังเก็บเกี่ยว หรือจุ่มต้นลงในสารละลาย BAP โดยตรง จะมีผลทำให้ใบผักเหล่านี้คงความเขียวสดอยู่ได้นาน เป็นการยืดอายุการเก็บรักษาผักเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ผสมลงในสารละลายที่ใช้ปักแจกันเพื่อยืดอายุการปักแจกันของดอกคาร์เนชั่นได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ BAP เพื่อยืดอายุผักดังกล่าวยังไม่เริ่มทำอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นเพราะว่าสารดังกล่าวมีราคาสูงเกินกว่าที่จะใช้ได้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ