ไทรกระเป๋า

(Krishnae’s Buttercup)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus gibbosa Blume
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ไทรกฤษณะ
ชื่อพ้อง F.krishnae C.DC.
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 12-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-20 ม.กิ่งก้านแข็งไม่ผลัดใบทรงพุ่มค่อนข้างกลมแผ่กว้าง โปร่งมีกิ่งก้านไม่มาก เปลือกสีนํ้าตาลอ่อนอมแดง เรียบ มีรากคํ้ายัน ลำต้นและรากอากาศรัดพัน


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่กว้างถึงรูปรี กว้าง 10-12 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบมนป้านหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ บริเวณโคนก้านใบด้านหลังพับเข้าหากันเป็นรูปถ้วยหรือกระเป๋าขนาดเล็ก แผ่นใบหนาและเหนียว สีเขียวสด สากมือเล็กน้อย ผิวใบด้านล่าง สีอ่อนกว่ามีขนนุ่ม เส้นแขนงใบนูนเด่น ก้านใบยาว 5-7 ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีฐานรองดอก เจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลายโอบดอกไว้ ดอกมีขนาดเล็ก แยกเพศในกระเปาะ ดอกทั้งสองเพศ มีกลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 1-1.2 ซม. ไม่มีก้านช่อดอก ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.


ผล ผลสดแบบมะเดื่อ ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ไม่มีก้านผล ที่ขั้วผลมีกาบ 3 กาบรองรับ เมื่อสุกสีนํ้าตาลแดงหรือสีส้มแดง ด้านบนมีรอยบุ๋ม เมล็ดกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ติดผลเดือน มี.ค.-เม.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ผล รับประทานได้ และเป็นอาหารของนก
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกต้น แก้ท้องเดิน แก้บิด ยาชงใช้ลดนํ้าตาลในเลือด ยาง แก้บิด แก้ท้องเดิน เมล็ด เป็นยาเย็น และยาบำรุง

ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย