ไทรย้อยใบแหลม

(Weeping fig)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benjamina L. var. benjamina
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ไทร ไทรกระเบื้อง ไทรย้อย
ถิ่นกำเนิด อินเดียและมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-12 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-10 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มกลม แผ่กว้าง แตกกิ่งห้อยย้อย เปลือกต้นสีนํ้าตาลอ่อน เรียบ รากเป็นพูพอนและรากอากาศรัดพัน


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 5-11 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว สีเขียวสดเรียบเป็นมัน เส้นกลางใบจม ก้านใบยาว 0.6-1.2ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีฐานรองดอก เจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลายโอบดอกไว้ดอกมีขนาดเล็ก แยกเพศในกระเปาะ ดอกทั้งสองเพศ มีกลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่ ดอกเพศผู้ มีจำนวนน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 0.3-0.5 ซม. ไม่มีก้านช่อดอก


ผล ผลสดแบบมะเดื่อ ทรงกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีเขียวอมเหลือง มีปุ่มปมขนาดเล็กทั่วผล เมื่อสุกเหลืองอมส้มหรือสีแดงเข้ม ด้านบนมีรอยบุ๋ม ไม่มีก้านผล ที่ขั้วผลมีกาบเล็กๆ 3 กาบรองรับ เมล็ดกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ออกดอกติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร รากอากาศ ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอย หรือขุ่นข้น สีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) แก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย)
หมายเหตุ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย